ทองแถม นาถจำนง ตำนานพระธาตุลำปางหลวงนั้นมีสองยุค ยุคแรกอ้างอิงไปถึงสมัยพุทธกาลโน่นเลย ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ก็รู้ ๆ กันแล้วว่า เป็นเรื่องที่แต่งลากโยงให้พัวพันกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ยุคหลัง ๆ ตำนานนี้ข้าพเจ้าจะไม่เล่าเพราะพื้นที่ไม่พอ ขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับนางจามเทวีเท่านั้น ราว ๆ ปี พ.ศ. 1200 พระนางจามเทวี คราวหนึ่งเสด็จไปทัพยังแม่สลิต จนการทั้งปวงสำเร็จเรียบร้อย ระหว่างเส้นทางกลับ ได้แวะพักตั้งค่ายบริเวณที่เรียกว่า สบยาว (ปัจจุบันคือ ตำแหน่งที่ปากห้วยแม่ยาวไหลมาบรรจบแม่น้ำวัง ทางทิศใต้ห่างจากวัดพระธาตุลำปางหลวงประมาณ 2 กิโลเมตร) ตกดึกพระนางเห็นดวงไฟดวงใหญ่ลอยพุ่งลงมาตกกลางค่ายพัก จึงได้ไต่ถามเสนาบดีที่อยู่ในค่ายพัก ปรากฎว่าไม่มีใครเห็นดวงไฟนั้นเลย มีชายคนหนึ่งชื่อ “ล่ามพันทอง” กราบทูลว่าจริงๆแล้วดวงไฟใหญ่นั้นคือพระบรมสารีริกธาตุที่ลัมภะกัปปะนครที่มาแสดงอภินิหารปรากฎให้พระนางเห็น พระนางจึงเสด็จไปกราบสักการะ แล้วยังได้ทราบด้วยว่าชาวบ้านแถวนั้นเดือดร้อนด้วยความแห้งแล้ง บริเวณเขตย่านกลางเมือง ขุดบ่อหาน้ำมิได้เลย แหล่งน้ำก็อยู่ไกล ต้องนำเกวียนไปบรรทุกจากแม่น้ำวังและห้วยแม่ยาว พระนางจามเทวีจึงทรงกราบไหว้พระธาตุ กล่าวสัจจะอธิษฐานว่า แม้นที่นี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าจริงแล้วไซร้ ขอให้สายน้ำจงแตกออกตรงใจกลางเมืองนี้ เพื่อให้เป็นที่อาศัยแก่หมู่คนทั้งหลายอันได้รับความเดือดร้อนนั้น แล้วพระองค์ทรงเคลื่อนทัพจะกลับไปหริภุญชัย ระหว่างทางทรงแวะพักที่เวียงตาลเวียงรมณีย์ เวียงตาลและเวียงรมณีย์ เป็นเมืองร้างตั้งอยู่ระหว่างดอยขุนตาลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอห้างฉัตร) แหล่งโบราณคดีนี้ยังไม่เป็นที่รับรู้กันนัก จากข้อมูลของ อบต.เวียงตาล อำเถอห้างฉัตร ( http://www.viangtan-sao.go.th/index.php/grneralbg.html?start=2) อธิบายไว้วดังนี้ “เวียงต้านและเวียงรมณีย์ เป็นเวียงคู่แฝด ที่กำเนิดมาคนละช่วงยุคสมัย เวียงรมณีย์ ถ้าดูตามหลักฐานของรอบภูมิประเทศที่เหลืออยู่เชื่อได้เลยว่า เวียงรมณีย์เป็นเวียงที่กำเนิดก่อนและเป็นเวียงเล็ก ที่อยู่คนละฝั่งลำน้ำแม่ตาล เป็นเวียงที่มีกำแพงเมืองและคูเมืองที่ไม่เป็นรูปเรขาคณิต ปัจจุบันแทบไม่เหลือร่องรอยความเป็นเวียง พื้นที่เวียงถูกบุกรุกครอบครอง เป็นที่ทำกินของชาวบ้านโดยรอบกันหมด เวียงต้านเป็นเวียงที่เหลือร่องรอยคูเมือง (คือเมือง) และกำแพงเมืองจากการสังเกตดูการขุดคือเมืองและการสร้างกำแพงเมืองพบว่า เวียงต้านคงมีการอยู่อาศัย และก่อสร้างเมือง / เวียง 2-3 ยุค จะเห็นได้จากการขุดเมือง และสร้างกำแพงเมืองออกเป็น 3 ส่วน คล้ายรูปตัว L) ดังแผนผัง 1. ยางคะตึก เป็นสถานที่สำหรับชาวเมืองบูชาเทพยดา ทุกขี ด้วยกวางคำ (โดยใช้สุนัขขนคำแทน) ยางคะตึกที่มี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงโบราณ , 2. ทุ่งตะคอก เป็นสถานที่คุมขังนักโทษ / เชลย ,3. หนองอาบช้าง เป็นสระ / หนองน้ำใช้อาบน้ำชำระร่างกายของช้าง เจ้าเมือง , 4. บ่อน้ำโบราณที่มีขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก อยู่กลางเวียงเป็นรูปวงกลมก่อสร้างด้วยอิฐดินเผา” ชื่อ “เวียงตาล” นี้น่าจะเกี่ยวพันกับชื่อ “ขุนตาน - ขุนตาล -ขุนตาล” วันหลังข้าพเจ้าจะค้นหาตำนานมาเล่าสู่กันฟัง ทางฝ่ายลัมภะกัปปะนคร (บริเวณที่เป็นพระธาตุลำปางหลวงปัจจุบัน) เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จไปแล้ว ก็ได้พบตาน้ำใหญ่ น้ำใสเย็นรสอร่อย จึงนำน้ำจากบ่อนั้นไปถวายพระนางจามเทวีที่เวียงตาล น้ำจากบ่อนั้นรสดีกว่าน้ำเจ็ดรินในเมืองหริภุญชัย พระนางจามเทวีจึงเสด็จจากเมืองตาล กลับไปลัมปะกัปปะนคร ทรงชำระสระสรงพระวรกายโดยใช้น้ำจากบ่อที่ได้อธิษฐานไว้จนหมดจด แล้วเสด็จไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ แล้วก็ให้มีการฉลองสมโภชพระบรมสารีริกธาตุตลอด 7 วัน 7 คืน ถวายนาราคาล้านเบี้ยให้เป็นนาประจำพระบรมสารีริกธาตุ ถวายล่ามพันทองและนางดอกไม้ พร้อมด้วยเหล่าบริวารอีก 8 ครัว ให้อยู่เฝ้าปฏิบัติรักษาพระธาตุ อีก 2 ครัวให้เฝ้ารักษาบ่อน้ำ บ่อน้ำนั้นยังปรากฏอยู่ ทุกวันนี้เรียกกันว่า “บ่อน้ำเลี้ยงพระนางจามเทวี” นอกจากตำนานข้างต้นแล้ว ยังมีเอง “คำสาปพระนางจามเทวี” ที่พระธาตุลำปางหลวงด้วย เรื่อง “คำสาปพระนางจามเทวี” นั้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าไว้ในหนังสือ “โลกส่วนตัวของข้าพเจ้า” ดังนี้ “...ตามตำนานเมืองลำปางหลวงก็ดูออกจะมีเรื่องราวเกี่ยวกับนางจามเทวีอยู่มาก และเห็นจะไม่เห็นเป็นที่สงสัยได้ว่าพระนางจามเทวี บางทีก็จะอยู่ในวัดลำปางหลวงนั่นเอง เพราะในวัดลำปางหลวงจนถึงทุกวันนี้มีสิ่งที่พระนางจามเทวีสาปไว้สองอย่าง ตำนานบอกไว้ว่า เมื่อพระนางจามเทวีมาประทับอยู่ที่ลำปางหลวงนั้น ใครก็ไม่ทราบกินขนุนแล้วเอาเปลือกขนุนไปทิ้งไว้ตามถนนหนทาง เป็นเหตุให้พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระนางจามเทวีไปเหยียบลื่นหกล้มลง พระนางจามเทวีก็เลยสาปไว้ว่า อย่าให้ขนุนเมืองลำปางหลวงออกลูกต่อไปอีกเลย นอกจากต้นที่มีอยู่ในวัดลำปางหลวง ทุกวันนี้ก็ยังจริงอยู่อย่างนั้น ไม่เชื่อใครจะไปดูก็ได้ ส่วนเรื่องต้นกล้วยนั้น ตำนานบอกว่าพระนางจามเทวีไปอยู่ที่เมืองลำปางหลวงแล้วมีพระประสงค์จะได้ใบตองมาห่อของทำบุญตามธรรมเนียมคนเมืองใต้ แต่ก็หาไม่ได้ เพราะคนทางเหนือเขาคงใช้ใบตองตึงห่อของมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว พระนางจามเทวีจึงให้ไปหาต้นกล้วยมาปลูกไว้ในวัดลำปางหลวง แล้วก็สาปไว้อีกตามเคยว่า ต้นกล้วยที่ปลูกไว้นั้นให้มีแต่ใบตองเพื่อคนจะได้ใช้ห่อของทำบุญ อย่าให้มีลูกเลยเป็นอันขาด ต้นกล้วยที่ขึ้นในวัดลำปางหลวงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีลูก ใครไม่เชื่อก็ไปดูเอาเองได้อีกเหมือนกัน ฟังตำนานเหล่านี้แล้วก็อดนึกไปไม่ได้ว่า พระนางจามเทวีจะต้องเป็นคนที่เต็มไปด้วยอารมณ์วูบเดียวอย่างผู้หญิงทุกวันนี้เพราะอะไรไม่ต้องพระทัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สาปได้สาปเอา แต่ตำนานที่ว่ามานี้ก็แสดงให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งพระนางจามเทวีเคยอยู่ที่วัดลำปางหลวง และวัดลำปางหลวงนั้นอาจเคยเป็นราชคฤห์ หรือ คาสเซิล ของพระนางจามเทวีมาแต่ก่อนก็ได้ ใครจะไปรู้”