แสงไทย เค้าภูไทย คนไทยในสังคมเกษตรกรรมปลูกบ้านมีใต้ถุน ปรับตัวเข้ากับน้ำหลากและท่วมนิ่งตามฤดูกาล และใช้ประโยชน์จากใต้ถุนบ้าน แต่วันนี้ นายกฯบอกให้สร้างบ้านสองชั้นหนีน้ำท่วม จะช่วยได้แค่ไหน ? ภัยอันเกิดจากธรรมชาติวิบัติ ที่เกิดในจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ บางพื้นที่ในยุโรป ระยะนี้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล เป็นปรากฏการณ์ที่พิสูจน์ว่า มนุษย์ยังเอาชนะธรรมชาติไม่ได้ แม้จะมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ถึงขั้นส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ ดาวอังคารได้ก็ตาม ธรรมชาติมิได้รุกล้ำก้ำแดนมนุษย์ ยังทำหน้าที่เหมือนเดิมมาแต่ดึกดำบรรพ์ หากแต่มนุษย์ไปรุกพื้นที่ธรรมชาติเอง สร้างมลภาวะ ลดพื้นที่ป่า จนอุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจึงผิดเพี้ยน ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ไม่เป็นไปตามปกติ โดยเฉพาะขณะนี้ ลานีญาจะอยู่นานและเคลื่อนวัฏจักรช้าลง กระแสน้ำอุ่นที่ไหลเวียนอยู่ส่วนซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตร เคลื่อนที่ช้าลง ฤดูหนาวจะยาวนานและหนาวจัดกว่าปกติ ฤดูฝนจะนานกว่าปกติและฝนตกหนัก ตกนาน น้ำท่วม พายุทั้งทอร์นาโดและไต้ฝุ่นรุนแรงกว่าปกติ ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะกลายเป็นปรากฏการณ์ประจำฤดูตลอดไปหรือไม่ ? บ้านเรายามนี้เข้าฤดูมรสุมเต็มตัว จึงเผชิญอุทกภัยรุนแรงจากปรากฏการณ์เหล่านั้น ความรุนแรงจากน้ำป่าไหลหลาก ทำความเสียหายหนักหลายพื้นที่ น้ำท่วมเกือบมิดหลังคาบ้าน จึงเป็นภาพที่ปรากฏตามสื่อมวลชนทั้งหลาย เพราะส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว นายกรัฐมนตรีท่านแนะวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรว่า ให้ปลูกบ้านสองชั้นแก้ปัญหา ฟังแล้ว รู้สึกสมองตื้อ ท่านคงไม่รู้หรอกว่า บ้านสองชั้นนั้น ค่าก่อสร้างแพงกว่าบ้านชั้นเดียวขนาดไหน ชาวบ้านที่มีปัญญาสร้างบ้านสองชั้นในแต่ละหมู่บ้านจะมีสักกี่คน ยิ่งกว่านั้น บ้านสองชั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเกิดน้ำหลาก น้ำท่วม บ้านจะไม่โดนน้ำท่วม ชั้นล่างนั้นโดนแน่ ถ้าน้ำมาตอนกลางวัน รู้ตัว ก็พอจะขนของหนีน้ำทัน แต่ถ้ามันหลากมาตอนกลางคืน นอนหลับไม่ทันรู้ตัว เช้าขึ้นมาท่วมครึ่งบ้าน ข้าวของที่อยู่ชั้นล่างเสียหายยับเยิน นายกฯท่านเกิดและโตหรือจนถึงวันนี้ แก่อยู่ในค่ายทหาร ท่านจึงรู้แต่โลกในค่ายทหาร ไม่ได้รู้ว่าชาวบ้านข้างนอกเขาอยู่กันอย่างไร แทนที่จะแนะนำประชาชนให้ปลูกบ้านแบบวิถีชีวิตชนบทและสังคมเกษตรดั้งเดิม คือบ้านมีใต้ถุนสูง ที่คนไทยสองสามช่วงอายุคนก่อนหน้าเคยปลูกและใช้ชีวิตอยู่กับน้ำโดยปลอดภัย ธรรมชาติของเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับน้ำนั้น แบ่งเป็นสอง “หน้า” หน้าแล้ง คือช่วงเวลาทีไม่มีฝนตก ไม่มีน้ำท่วม กับหน้าน้ำ คือช่วงที่มีน้ำท่วม น้ำหลาก แม้จะมี 3 ฤดู คือ ร้อน ฝน หนาว แต่ฤดูร้อนกับฤดูหนาวเชื่อมต่อกัน อันเป็นช่วงไม่มีฝน จึงเรียกรวมกันว่าหน้าแล้ง สมัยก่อนน้ำท่วม น้ำหลากเป็นปกติธรรมชาติ คนไทยปรับตัวตามธรรมชาติ ทั้งด้านการทำมากินและด้านการดำรงชีวิต ปลูกบ้านใต้ถุนสูง เวลาน้ำท่วมหรือน้ำหลากมา ซึ่งปกติธรรมดาสมัยก่อนนั้น จะกินเวลาราว 3 เดือน ช่วงนี้ พื้นที่เกษตรกรรมในที่ลุ่มจะถูกน้ำท่วม ชาวบ้านก็ออกเรือหาปลา เก็บผักน้ำยังชีพ ช่วงนี้ ถือเป็นช่วงพักงานอาชีพหลัก ชาวบ้านก็จะใช้เป็นเวลาทำกิจกรรมด้านสันทนาการ ทำบุญทอดผ้าป่า ทอดกฐิน นพพระเล่นไฟ ลอยกระทง ฯลฯ พอน้ำลด ดินแห้ง ก็ลงมือเพาะปลูกกันใหม่ พื้นดินที่ถูกน้ำท่วม จะมีปุ๋ยที่น้ำหลากพัดพามา กับซากวัชพืชน้ำเน่าเปื่อยติดดินยามน้ำแห้ง จนเมื่อมีความพยายามเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรกรรมด้วยการสร้างเขื่อน เพื่อกักน้ำไว้ใช้ยามแล้ง ป้องกันน้ำท่วมยามหน้าฝนและน้ำหลาก ถนนมาแทนที่คลอง รถแทนเรือ จากที่เคยปลูกบ้านริมคลองเพื่ออาศัยน้ำ ทั้งในการทำการเกษตร ใช้ดื่มกิน และเป็นเส้นทางสัญจร ก็กลับมาอยู่ใกล้ถนน ฝนก็ยังตกเหมือนมันเคยตกในรุ่นปู่ย่าตาทวด แต่เมื่อมีถนน มีสิ่งปลูกสร้าง มีบ้านเรือนหนาแน่น ตามความเจริญเติบโตของชุมชน อุปสรรคและสิ่งปิดกั้นเส้นทางน้ำไหลก็มีมากขึ้น เส้นทางน้ำไหลหลากถูกเบี่ยง น้ำต้องไหลไปตามทางแคบ ทางบังคับ ความแรงของน้ำจึงสูงขึ้น จนสามารถทำลายสิ่งกีดขวางด้วยแรงดันอันมหาศาล ดังที่ปรากฏในภาพข่าวตามสื่อต่างๆ หายนภัยเหล่านี้ ขณะนี้เพิ่งเริ่มต้น แต่หลายๆพื้นที่บอกว่า รุนแรงกว่าครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพียงแค่เริ่มต้นก็รุนแรงขนาดนี้ แล้วถ้าเข้าสู่ช่วงสำแดงฤทธิ์เต็มที่ล่ะ จะรุนแรง สาหัสขนาดไหน ?