สถาพร ศรีสัจจัง คนที่เคยอ่านเคยศึกษาปรัชญากรีกอยู่บ้างย่อมรู้ดีว่า วาทกรรมสำคัญสุดของ “บิดาแห่งปรัชญาตะวันตก” หรือ “ปรัชญากรีก” ที่ชื่อ ธาเลสแห่งมิเลตุส (Thales of Miletus) คือการนิยามว่า “น้ำคือปฐมธาตุของโลก” (Water is The first Element of the world) ซึ่งนำไปสู่ข้ออธิบายสรุปเกี่ยวกับปรากฏการณ์เชิงจักรวาลวิทยาที่ยิ่งใหญ่ของเขาที่ว่า “Every thing is water-all come from water and to on return”( “ทุกสิ่งทุกอย่างคือน้ำ มาจากน้ำ และย่อมหวนคืนสู่น้ำในที่สุด”) ธาเลส ผู้เป็นปฐมฐานทางความคิดที่สำคัญของกระบวนทัศน์แบบตะวันตกผู้นี้ เป็นเจ้าสำนัก “โมเล ตุส” เป็น “นักคิด” ที่มีชื่อเสียงมากในยุคของเขา กล่าวกันว่า มีความเป็นเลิศทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ เป็นผู้ทำนายปรากฏการณ์สุริยคราสได้อย่างถูกต้องในปี ค.ศ.568 ก่อนคริสตกาล ในหนังสือประวัติศาสตร์สงครามกรีก-เปอร์เซีย ของ เฮโรโดตุส(Herodotus ประมาณ 450 ปีก่อนคริสตกาล) บันทึกไว้ว่า เขาเป็นวิศวกรคนสำคัญที่สามารถเปลี่ยนทางไหลของแม่น้ำเฮลีส (Helys) เพื่อให้จักรพรรดิโครซุสแห่งลีเดีย(Croesus of Lydia))สามารถนำกองทัพเข้าโจมตีเปอร์เซียได้สำเร็จ ธาเลสกล่าวว่า “...เมื่อน้ำระเหยไปในอากาศ ความเย็นของน้ำจะค่อยๆแปรสภาพเป็นความร้อน น้ำได้แปรรูปเป็นไฟ แต่ตกลงมาในรูปของฝน...ก็แสดงว่า น้ำกำลังแปรรูปเป็นดิน..ดังนั้น น้ำจึงเป็นปฐมธาตุของโลก...” อริสโตเติลปราชญ์กรีกคนสำคัญในยุคหลังต่อมา ก็กล่าวสนับสนุนความคิดเรื่องความสำคัญเกี่ยวกับ “น้ำ” ตามทรรศนะของธาเลสไว้ไม่น้อย แม้ความคิดเห็นในเรื่อง “น้ำ” ของธาเลสจะถูกนักฟิสิกส์สมัยใหม่เห็นว่าเป็นความคิดที่ “ยังหยาบและล้าหลังอยู่มาก” แต่นี่ก็คือก้าวสำคัญก้าวแรกๆของมนุษย์แห่งซีกโลกตะวันตกในการปูพื้นฐานเพื่ออธิบายเกี่ยวกับโลกในแง่ของจักรวาลวิทยา! วิถีและ “วิธีวิทยา” ทางตะวันออกของเราเล่า มีความคิดความอ่านเกี่ยวกับเรื่อง “น้ำ” กันมาอย่างไรบ้าง? เริ่มต้นที่ปรัชญาเมธีจีนโบราณ ที่นักวิชาการหลายคนจัดให้เป็นเจ้าสำนักลัทธิเต๋าสาขาหนึ่ง(ลางคนว่าแนวคิดของเขาเป็น “ปฏิปักษ์” กับความคิดพื้นฐานแท้ๆของ “ลัทธิเต๋า” ทีเดียว) ผู้มีชื่อก้องโลก นาม “เล่าจื๊อ” คนนั้นนั่นแหละ เอาแค่ “วาทกรรม” สั้นๆเกี่ยวกับ “น้ำ” ของเขาก็แล้วกันนะ! เล่าจื๊อ เห็นว่า น้ำเป็น “ปฐมธาตุ” ที่สำคัญยิ่ง เป็นสิ่งที่ไม่มีสิ่งใดสามารถทำลายได้ แม้จะดูเป็นสิ่ง “อ่อน” แต่ก็ไม่มีสิ่ง “แข็ง” อื่นใดสามารถทำลาย ดังที่ปรากฏเป็นวาทกรรมในคัมภีร์ “เต๋า เต๋อ จิง” อันโด่งดังของเขาตอนหนึ่งว่า : “...ไม่มีอะไรอ่อนกว่าน้ำ แต่ยังไม่มีอะไรที่เข้มแข็ง มาทำลายน้ำได้” นัยที่ปรากฏในแนวคิดเรื่อง “น้ำ” ของลัทธิเตาโบราณบอกเราว่า “น้ำ” จึงนับเป็น “ธาตุ” ที่อารยธรรมจีนโบราณให้ความสำคัญยิ่ง! ทีนี้ ลองหันมาทางอินเดียโบราณกันบ้าง เราพบว่า ในคัมภีร์ “พระเวท” อันเป็นพระมหาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อันทรงอิทธิพลมายาวนานในซีกโลกตะวันออก มีอิทธิพลอย่างเข้มข้น แผ่มาถึงเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะในดินแดนแถบ “สุวรรณทวีป” (เวียดนาม-พม่า-กัมพูชา-สปป.ลาว-มาเลเซีย และไทย ปัจจุบัน) แผ่ขยายไปจนถึงดินแดนหมู่เกาะในทะเลทางตอนใต้ทั้งหลาย คือนับจากชวาจนถึงอินโดนีเซียและเกาะบาหลี กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “น้ำ” ถือเป็น “ปฐมธาตุ” เช่นเดียวกับความคิดของชาวกรีกโบราณ ที่ปรากฏผ่านทรรศนะของ “บิดาแห่งปรัชญาตะวันตก” อย่าง “ธาเลสแห่งมิเลตุส” ดังได้กล่าวมาแล้ว นักวิชาการบางส่วนถึงกับยืนยันว่า แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องน้ำของชาวตะวันตกดังกล่าว แท้ที่จริงแล้ว มีรากฐานมาจากพระคัมภีร์พระเวทของอินเดียโบราณนี่เอง ภาพปรากฏเรื่องการลงอาบน้ำเพื่อชำระบาปทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณในแม่น้ำคงคาของชาวอินเดีย โดยไม่กลัวต่อโรคระบาด้แรงอย่าง “โควิด-19” ที่เป็นข่าวไปทั่วโลกในยุคนี้ เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า “น้ำจากสวรรค์” ใน “แม่คงคา” ที่ชาวฮินดูในอินเดียและทั่วโลกเชื่อว่า หากใครได้ลงอาบชำระบาปสักครั้งหนึ่งในชีวิตแล้ว ย่อมจะทำให้ได้เข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับจิตวิญญาณแห่ง “พรหมมัน” อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมามีชีวิต “น้ำ” จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่งใน “วิถี” แห่งเอเชียโบราณ! “น้ำ” จึงมักปรากฏอยู่ในทุกพิธีกรรมสำคัญของวิถีชาวเอเชียและ “ไทย” โบราณ! ตั้งแต่พิธีกรรมทางศาสนาระดับชาวบ้าน อันได้แก่ “น้ำพระพุทธมนต์” (ที่ใช้ในศาสนาพุทธแท้ๆไม่ใช่พราหมณ์) น้ำมนต์ต่างๆ น้ำเสกต่างๆ จนถึงน้ำในประเพณีเทศกาล อย่างเช่น ในเทศกาลสงกรานต์และ อื่นๆ สำคัญจนกระทั่งถึงพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสูงสุดทางด้านการเมืองการปกครองแต่โบราณ คือสถาบันพระมหากษัติริย์ นั่นคือ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ..! จากนี้จึง เห็นท่าว่า น่าจะได้มีการพูดถึงเรื่อง “น้ำกับสังคมไทย” ให้เห็นเป็นรูปธรรมเสียสักหน่อยจะเป็นไรไป?!!!!