ณรงค์ ใจหาญ แนวคิดในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเกิดมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ โดยเฉพาะหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ความเคลื่อนไหวในระดับสากล และในแต่ละประเทศได้ตื่นตัวและมีกระบวนการสร้างจิตสำนึกให้ทุกๆคน เห็นความสำคัญของการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกันอย่างกว้างขวางจนมีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติกากลว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง (พลเมือง) และทางการเมือง และอีกหลายๆ ฉบับ มีประเทศที่ให้สัตยาบันและถือปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดเป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย มาตรฐานสากล และกลไกในการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ตกลงกันไว้ถือเป็นข้อผูกพันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศภาคีจะนำเอาพันธะกรณีไปพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย แนวปฏิบัติให้สอดคล้อง เพื่อให้การปฏิบัติแก่คนในประเทศนั้นๆ เป็นไปตามหลักการที่ประเทศนั้นรับเอามา รวมถึงมีการปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายภายในที่บัญญัติรับรองไว้ด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักประกันสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง สาเหตุของการไม่ปฏิบัติตามหรือไม่สามารถบรรลุพันธกรณีที่รัฐภาคีเข้าผูกพันนั้นมีหลายประการ ประการแรก ปัญหาบุคลากรที่เกี่ยวข้องขาดความตระหนักถึงความสำคัญหรือคุณค่าของสิทธิมนุษยชน หรือไม่รู้ว่าการกระทำที่เคยปฏิบัติมาเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การลงโทษโดยการเฆี่ยนตี หรือการลงโทษโดยการทรมาน หรือการใช้คำพูดอันเป็นการกดขี่ทางเพศ การเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็ก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะต้องควบคู่กับการสร้างการรับรู้และการยอมรับต่อหลักเกณฑ์ของสิทธิมนุษยชน และก้าวข้ามความรู้สึกเก่าๆ หรือวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ก่อนให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ความยากไร้ เด็ก สตรี คนสูงอายุ และคนพิการ เป็นต้น ประการที่สอง ปัญหาด้านกลไกในทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบังคับให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดขึ้นในสองรูปแบบ รูปแบบแรก ไม่มีกฎหมายภายในรองรับสิทธิบางอย่างที่ได้รับการรับรองใหม่ เช่น สิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่จะมีสิทธิมีชีวิตคู่กับคนเพศเดียวกันหรือที่ตนต้องการ สิทธิที่จะมีบุตรของคนหลากหลายทางเพศ หรือการได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมตามเพศสภาวะ สิทธิของผู้สูงอายุที่จะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บริการสาธารณะ สิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับการรับรู้ข้อมูลก่อนที่จะให้ความยินยอมจากแพทย์ หรือในการทดลองในมนุษย์เป็นต้น สิทธิเหล่านี้ ต้องยอมรับว่าเป็นแนวคิดใหม่ซึ่งในกฎหมายเดิมไม่มี จึงต้องได้รับการพัฒนาและบัญญัติคุ้มครองโดยกฎหมายต่อไป ส่วนในรูปแบบที่สอง คือการไม่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติแความผิด เช่น การติดสุรา ยาเสพติด หรือการเข้าไปในเว็บไซด์ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก เช่น ภาพลามก หรือเว็บไซด์ที่แนะนำการฆ่าตัวตาย การกระทำทรมานหรือทำรุนแรงในเรื่องอื่นๆ เป็นต้น กระบวนการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสกัดกั้นการเข้าถึงหรือการซื้อสุรา หรือยาเสพติดได้ ในทางตรงกันข้าม ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือองค์กรอาชญากรรม ยังชักนำให้เด็กเข้าสู่ขบวนการเป็นผู้ขนส่งยาเสพติดหรือเป็นผู้กระทำความผิดในกระบวนการด้วย เพราะเห็นว่า เด็กเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นโทษหรือลดโทษตามที่กฎหมายบัญญัติ สำหรับในอีกด้านหนึ่ง คือ การคุ้มครองสิทธิของคนไร้รัฐ หรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งต้องรอการพิสูจน์สัญชาติ จะมีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากสิทธิของประชาชนคนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะสิทธิในการทำงาน การออกไปนอกพื้นที่ และการได้รับสวัสดิการต่างๆ ซึ่งกฎหมายลำดับรองของประเทศยังไม่ได้เอื้ออำนวยในการที่คนเหล่านี้จะได้รับสิทธิตามที่มาตรฐานสากลกำหนด การละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนเหล่านี้จึงเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่รับรองไว้ การที่รัฐบาลได้ประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และถือว่ารัฐบาลซึ่งแม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ได้เห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นสิ่งที่ให้ความเคารพ และนำไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการประกาศยอมรับแต่เพียงตัวอักษร การทำให้สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่นำไปปฏิบัติได้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายกลไกของรัฐบาล และทุกภาคส่วนของประเทศที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม้และเข้าไปสู่จิตใจของทุกคนในสังคม สิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อให้เกิดผลดังกล่าวจึงควรมีดังนี ประการแรก ควรผลักดันให้มีการปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๗-๒๕๖๑ อย่างจริงจัง ซึ่งควรมีการประเมินผลติดตามการดำเนินการตามแผนในหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละหน่วยอย่างต่อเนื่อง เพราะในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งได้กำหนดแผนไว้แต่ยังขาดการประสานงานเพื่อให้เกิดการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนอย่างจริงจัง การดำเนินงานจึงไม่บรรลุเป้าประสงค์ที่กำหนดไว้เท่าที่ควร ประการที่สอง ควรมีการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกในความตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนในระบบการศึกษาทุกระดับ และมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดจิตสำนึกในเรื่องดังกล่าว อย่างเป็นรูปธรรม เช่นการเคารพในความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ การคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มน้อยเป็นต้น นอกจากนี้ ควรสร้างจิตสำนึกในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แก่ผู้บังคับใช้กฎหมายควบคู่กันไปทั้งนี้ อาจจัดเป็นการอบรมหลักสูตรสิทธิมนุษยชนแก่ผู้ปฏิบัติงาน ในระดับต่างๆ ประการที่สาม ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปถึงแก่นแท้ของสิทธิมนุษยชน และนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ผ่านทางสื่อสาธารณะ เพื่อให้ทุกคนได้มีความเข้าใจและคุ้มเคยกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนร่วมกัน ประการที่สี่ พัฒนากฎหมายที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติ การป้องกันการทรมานหรือการบังคับให้บุคคลหายสาบสูญ ให้มีบทบัญญัติรับรองตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกในการคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอนาคต ประการสุดท้าย ควรพัฒนาองค์กรโดยให้มีหน่วยงานในแต่ละกระทรวง หรือในภาคเอกชนที่จะคอยเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยา และได้รับความเป็นธรรมอันเกิดจากการถูกละเมิดสิทธิแล้ว โดยสรุป ก้าวต่อไปของการดำเนินการเพื่อทำให้สิทธิมนุษยชนของไทยเป็นไปอย่างเป็นรูปธรรม และอยู่ในจิตสำนึกของประชาชน เจ้าหน้าที่ องค์กรเอกชนสมกับเป็นวาระแห่งชาติ การสร้างความตระหนัก ความรับรู้ การปรับปรุงกฎหมายที่ยังขาดอยู่ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เป็นกลไกที่สำคัญต่อการธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนอันมีพื้นฐานของความเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสากลต่อไป