ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ “จะไม่ให้ชาวบ้านเขามีความสุขช่วงฉลองปีใหม่เลยใช่ไหม” เสียงเปรยจากเพื่อนร่วมวงพูดคุยขณะติดตามข่าวมีการวางระเบิดในพื้นที่หลายจุด รวมถึงการยิงปะทะ การเผาล้อยางรถยนต์ ฯลฯ ทั้งในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส นั่นเป็นห้วงเวลาเพียงอีกไม่กี่วันก่อนถึงจังหวะเวลาที่ชีวิตผู้คนจะเข้าสู่อารมณ์สนุกสนานช่วงปีใหม่ และสำหรับสถานการณ์ไฟใต้แล้ว ถือว่ากำลังจะผ่านพ้นปีที่ 13 ก้าวสู่ปีที่ 14 ของความสูญเสีย ความรุนแรง ความอดทน ความทดท้อ ฯลฯ จากเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กาลเวลาผ่าน พร้อมกับทิ้งร่องรอยบาดแผลร้าวลึกไว้มากมาย ขณะเดียวกัน ก็ได้แตกหน่อเชื้อแห่งความหวังไว้ให้แก่ผู้คนมากมาย “ครูกาล” คือหนึ่งในนั้น 15 ปีก่อน เธอเป็นเพียงเด็กสาวตัวเล็กๆ ตั้งใจเดินทางจากถิ่นเกิด “จังหวัดตรัง” มาร่ำเรียนศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เธอเล่าว่า ความรู้สึกแรกที่มาถึงประทับใจกับพื้นที่นี้มาก เพราะรอบข้างอวลไปด้วยอารยธรรมที่เรียกว่า “พหุวัฒนธรรม” เพื่อนจากหลากหลายภูมิภาคทำให้เธอรู้ว่าไม่มีอะไรแบ่งแยกความเป็นคนไทยออกจากกัน เธอในฐานะคนไทยพุทธ เริ่มเรียนรู้ ซึมซับ ความเป็นมุสลิมจากเพื่อนนักศึกษาในพื้นที่ ทั้งในคณะเดียวกันและต่างคณะ เวลานั้นนักศึกษาที่นับถือศาสนาพุทธยังมีอยู่เป็นจำนวนมากเมื่อเทียบสัดส่วนกับผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่เมื่อเธอก้าวขึ้นสู่ปี 3 ปี พ.ศ.2547 เริ่มเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนนักศึกษาหลายคนต่างตัดสินใจลาออกเพื่อไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับสถาบันการศึกษาอื่นนอกพื้นที่ เนื่องจากหวาดกลัวสถานการณ์ซึ่งประเมินว่าน่าจะมีความรุนแรงติดตามมาอีกมาก “กาลก็กลัวเหมือนกัน แต่คำพูดของพ่อตอนนั้นบอกว่า บางครั้งชีวิตของเราก็ขึ้นอยู่กับโชคชะตา ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เมื่อถึงคราวตายก็ต้องตาย” เธอรับรู้ถึงเหตุเผลที่แท้จริงของพ่อว่า แท้จริงแล้วเป็นเพราะเงื่อนไขทางการเงินที่ครอบครัวมีรายได้แบบพออยู่พอกิน การจะไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ก็เท่ากับเสียเวลาฟรีๆ ไปอีก 2 ปี จึงตัดสินใจเรียนต่อกระทั่งสำเร็จการศึกษา ระหว่างนั้นอารมณ์ความรู้สึกของเธอเริ่มหวาดกลัวกับสถานการณ์รอบข้างที่ปรากฏข่าวเป็นระยะๆ จะพยายามไม่เดินทางออกนอกมหาวิทยาลัยเพราะเกรงว่าจะได้รับอันตราย แม้กระทั่งร้าน “บังหนูด” บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ชุมนุมชนของชาวมหาวิทยาลัยและบรรดานักกิจกรรมต่างๆ เธอก็ยังแทบไม่กล้าไป สถานการณ์ตอนนั้นเท่าที่ได้ติดตาม มีเหตุระเบิดบ่อยมาก มีการยิงต่อสู้กัน มีคนถูกลอบทำร้าย มีคนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ แม้กระทั่งเพื่อนรุ่นเดียวกันถูกระเบิดเสียชีวิตที่ร้านเบิ้ม นครปฐม ร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังในตัวเมืองปัตตานี และเพื่อนอีกหลายคนได้รับผลกระทบในลักษณะต่างๆ กันจากผลพวงของเหตุการณ์ความไม่สงบ คนในพื้นที่เองที่รู้จักกัน หลายครอบครัวตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ บรรยากาศรอบข้างเปลี่ยนแปลง ความหดหู่มัวหม่นเริ่มห่มคลุมพื้นที่ แต่สำหรับเธอแล้ว เมื่อยืนหยัดเรียนต่อจนจบ ยังตัดสินใจอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่อ โดยเลือกที่จะประกอบอาชีพเป็น “ครู” ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ชอบสอนเด็ก อยากช่วยเหลือ อยากให้ความรู้ ประกอบกับมีครูต้นแบบหลายคนที่ประทับใจ “เพราะชอบแบบนี้ อยากทำแบบนี้ ไม่มีอะไรที่ทำได้ดีเท่ากับการเป็นครู” ในที่สุดเธอจึงได้ทำอาชีพครูครั้งแรกที่โรงเรียนจ้องฮั้ว ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ก่อนที่ต่อมาจะย้ายไปเป็นครูลูกจ้างที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ปัตตานี และเป็นอาจารย์พิเศษที่ ม.อ.ปัตตานี ช่วงศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เธอสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านตาหมุน ต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ระยะทางจากที่พักในตัวเมืองถึงโรงเรียนเกือบ 30 กิโลเมตร นั่นทำให้เป็นครั้งแรกที่เธอได้สัมผัส “ประสบการณ์ลุ้น” ระหว่างการเดินทางไป-กลับ โชคดีที่มีผู้อำนวยการโรงเรียนคอยให้อาศัยติดรถไปโรงเรียนด้วย พร้อมกับการต้องคอยลุ้นว่าจะเกิดอะไรบ้างระหว่างการเดินทาง จนวันหนึ่งเมื่อมีรถยนต์เอง เธอจึงทำหน้าที่รับผิดชอบเพื่อนครูอีก 4 ชีวิตในการเดินทางไป-กลับจากที่พักสู่โรงเรียนที่สอน ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ระทึก ขณะเธอขับรถเลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 42 สายเอเชีย สายตาเหลือบมองไปทางกระจกรถยนต์ด้านขวามือ เห็นชายฉกรรจ์ 2 คนขี่มอเตอร์ไซค์ติดตามมา ชายคนนั่งซ้อนท้ายเอามือล้วงไปในเสื้อคลุม คล้ายกับจะหยิบอาวุธหรืออะไรออกมาสักอย่าง ทำให้เธอยิ่งหวาดกลัว เพื่อนในรถก็เริ่มโวยวายขวัญเสียด้วยความหวาดกลัว แต่เธอเองพยายามเก็บอารมณ์กลัวพร้อมกับคอยปลอบเพื่อนครูว่า ไม่ต้องกลัวอะไร จะไม่มีใครตายที่นี่ ทุกคนจะได้กลับไปหาลูกหาครอบครัวอย่างปลอดภัย ทุกคนจะมีชีวิตรอด ในขณะที่กล่าวนั้น เธอสารภาพภายหลังว่า หัวใจของเธอหล่นไปกองอยู่แทบปลายหัวแม่เท้า หลังจากที่ขับบี้รถคันนั้นเกือบ 1 กิโลเมตร เธอตัดสินใจชะลอรถ ในหัวสมองวางแผนไว้เสร็จสรรพว่าจะทำอย่างไรหากเกิดเหตุร้ายขึ้นจริง ในที่สุด โชคดีว่าไม่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น ชายฉกรรจ์ทั้งคู่ขับรถผ่านหายไปอย่างไร้ร่องรอย นี่นับเป็นเพียงเหตุการณ์เดียวที่เคยประสบโดยตรง นอกเหนือจากสถานการณ์อื่นๆ อีกมากที่นำพาให้หัวใจเธอไหวหวั่น ต่อมา เธอมีโอกาสย้ายมาเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านคลองมานิง ต.คลองมานิง อ.เมือง จ.ปัตตานี ตราบกระทั่งปัจจุบัน ถึงเวลานี้ ผ่านไป 15 ปีแล้วที่เธอตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่ใครหลายคนไม่อยากมาสัมผัส มาเยี่ยมเยือน หลังจากติดตามข่าวสารตามสื่อกระแสหลัก ในขณะที่สำหรับเธอแล้วกำลังคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ ไม่ใช่ด้วยสถานการณ์ แต่เป็นเหตุผลส่วนตัวที่ต้องกลับไปดูแลครอบครัวที่บ้านเกิด เธอลงมือเขียนความเรียงสั้นๆ ชิ้นหนึ่งชื่อ “อย่าช้าไปกว่านี้” สะท้อนเรื่องราวบางอย่าง ประโยคหนึ่งเธอเล่าว่า “ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ฉันไม่เคยหลับสนิท เรื่องย้ายไปถึงไหนแล้ว เธอปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่ได้จัดการอะไรใช่ไหม ฉันรู้นิสัยเธอดี ช่วงนี้สถานการณ์ไม่ดีเลย วันก่อนก็ที่รือเสาะ ไม่กี่วันนี้ก็ที่มายอ ก็ทิ้งเงียบไปแบบนั้นแหละป๊า เดี๋ยวเคลียร์งานที่โรงเรียนให้เสร็จก็จะจัดการเรื่องย้ายให้เรียบร้อย เคลียร์งานที่โรงเรียนเหรอ นั่นข้ออ้างมากกว่า ใจฉันยังไม่พร้อมจากที่นี่ ฉันผูกพันกับกลิ่นแดด รอยยิ้มของสายลม หรือแม้แต่เสียงหัวเราะของต้นไม้นอกรั้วโรงเรียน ฉันผูกพันกับมัน ขอเวลาได้สั่งลาอีกสักหน่อย ไม่ใช่ว่าไม่กลัว ฉันกลัวเหมือนกัน ทุกครั้งที่แว่วเสียงร่ำไห้หลังสิ้นเสียงปืน ฉันกลัวจนตัวสั่น กลัวจนไม่มีเรี่ยวแรงจะลุกขึ้นดูนาฬิกาหน้าตู้กระจก สายแน่นอน ฉันรู้ แสงผ่านม่านบอก ฉันคาดคะเนเวลาไม่เคยพลาด แต่ทุกครั้งไม่เคยหนีความกลัวนั้น ยังขับรถไปโรงเรียนเหมือนเดิม ทหารมักบอกให้ฉันเปลี่ยนเส้นทางบ้าง หรือห้ามบางเส้นทางที่คิดว่าเสี่ยง วันนี้ทหารขอร้องให้ไปเส้นทางที่ถนนสองเลนได้มาตรฐาน รถวิ่งได้สะดวก ร่นระยะเวลาในความเสี่ยง ฉันฟัง แต่... แต่เผลอขับรถไปอีกทาง...” ก่อนจะผ่านพ้นปีเก่า 2560 ก้าวผ่านสถานการณ์ร้ายๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ผู้เขียนคิดว่านี่คือหนึ่งในเรื่องราวที่สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เคยมาอยู่อาศัย มาสัมผัส และกำลังจะย้ายจากพื้นที่ ซึ่งเธอยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำใจหากต้องจากแผ่นดินที่ใครๆ ล้วนตราไว้ว่ามีแต่ความรุนแรง แต่สำหรับเธอที่นี่ก็เหมือนกับสถานที่อื่นๆ เมื่อได้อยู่แล้วก็เกิดความรัก ความผูกพัน ไม่ได้เหน็บหนาวรวดร้าวจากสถานการณ์ความไม่สงบที่ด้านหนึ่งได้ทำร้ายจิตใจผู้คนมากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งมันคือความรักความผูกพัน ความปรารถนาดี และต้องการให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ ให้กับผู้คน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด มาจากแผ่นดินไหนก็ตาม ลาทีปีเก่า กับสถานการณ์ร้ายๆ ในกาลเก่า เพื่อก้าวสู่ “กาลใหม่” ที่สดใสในปีพุทธศักราช 2561