สถาพร ศรีสัจจัง สังคมสยามเป็นสังคมลุ่มน้ำ แม้จะเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ไทย” แล้ว ก็ยังคงเป็นสังคมของคนลุ่มน้ำ ชาวบ้านมีชีวิตผูกพันอยู่กับฤดูกาลที่ข้องเกี่ยวอยู่กับน้ำ ทั้งฤดูน้ำหลาก (หรือฤดูน้ำนอง) ฤดูน้ำทรง และฤดูน้ำแล้ง ทั้งฤดูฝน และ ฤดูร้อน สังคมสยามเป็นสังคมข้าว มีข้าว ทั้งข้าวเจ้า และ ข้าวเหนียว เป็นธัญพืชหลักแห่งวิถีชีวิต เป็นธัญพืชพื้นฐานในการบริโภคของทุกมื้ออาหารหลัก ทั้งมื้อเช้า มื้อเที่ยงและมื้อเย็น มี “ข้าว” ทั้งข้าวเหนียว และข้าวเจ้าเป็นธัญพืชพื้นฐานในการสร้างสรรค์ “ของหวาน” หรือ “ขนม” และมี “ข้าว” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีกรรมความเชื่อทั้งหลาย ทั้งที่เกี่ยวของกับชีวิตประจำวัน เทศกาล พิธีการ และ การอาชีพ ทั้งในระดับชาวบ้าน ชาวเมือง และราชสำนัก และการปลูกหรือการผลิต “ข้าว” มี “น้ำ” เป็นตัวชี้ขาด ว่าฤดูการผลิตในปีนั้นๆ “ชาวนา” (คือคนสยามส่วนใหญ่ที่อยู่ในลุ่มน้ำของทุกภาค) จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว จะได้ข้าวเพียงพอต่อการบริโภคตลอดปีหรือจะขาดแคลน “น้ำ” และ “ข้าว” จึงเป็น “แม่” หรือ “แหล่งเกิดแห่งชีวิต” ที่สำคัญของคนสยามในอดีต หรือ “ไทย” ในปัจจุบัน มาโดยตลอด ที่ต้องอภิปรายเน้นถึงคำ “สยาม” หรือ “ไทย” มากเป็นพิเศษ ก็เพราะทุกครั้งที่คิดถึงคำ “ไทย” ว่ามาจากไหน ก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงบทบันทึกสำคัญชิ้นหนึ่งของท่านรัฐบุรุษ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนในเหตุการณ์ “การอภิวัฒน์สยาม” เมื่อปี 2475 รัฐบุรุษผู้ที่ภายหลังต้องถูกเนรเทศ(หลบหนี) ระเหเร่ร่อนลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน จนท้ายสุดต้องไปอสัญกรรมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อย่างที่รู้ๆกัน บุญคุณและคุณูปการที่ท่านผู้นี้ได้ “สร้างสรรค์” ให้สังคมไทยไว้นั้น เมื่อถึงวันนี้แม้จะประจักษ์กันอย่างกว้างขวางพอควรบ้างแล้ว แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในวงแคบอย่างไม่น่าจะเป็น แม้องค์การสหประชาชาติจะประกาศให้ท่านได้รับยกย่องเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” แล้วก็ตาม การเปลี่ยนชื่อ “ประเทศสยาม” มาเป็น “ประเทศไทย” ตามมติของรัฐสภาไทย(โดยข้อเสนอของ ครม.ยุคที่มีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ) เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2482 (เพิ่งผ่านมาเพียง 82 ปี ยังไม่ถึงศตวรรษ)นั้น ในที่ประชุมครม.ก่อนจะมีการนำเสนอเข้าสู่รัฐสภา ดร.ปรีดี พนมยงค์ได้ให้ความเห็นแย้งไว้ด้วยเหตุผลที่หนักแน่นน่าสนใจยิ่ง แต่แพ้มติ ใครสนใจจะศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้ ก็สามารถไปหาอ่านได้จากข้อเขียนของท่านรัฐบุรุษผู้นี้ในเอกสารเรื่อง “Ma vie mouvementee” ได้อย่างเต็มที่ เพราะเอกสารดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างมานานพอควรแล้ว ที่บอกว่า “น้ำ” มีความสัมพันธ์กับคนสยามมาโดยตลอดนั้น ก็เพราะ การตั้งถิ่นฐานของคนกลุ่มนี้ ตั้งแต่ยุคโบราณนานมา(อย่างน้อยก็ตั้งแต่ยุคสุโขทัยเป็นอย่างต่ำ) ล้วนยึดแหล่งน้ำคัญเป็นศูนย์กลาง ลองคิดทบทวนเป็นภาคๆก็ได้ เอาภาคเหนือและอีสานโบราณก่อน แน่นอนว่าทั้งอาณาจักรล้านนาและล้านช้างมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือด ภาคเหนือนั้นแตกขยายเป็นชุมชนเมืองต่างๆตามลุ่มน้ำย่อยลงมาทางใต้ คือ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำน่าน จนกระทั่งรวมตัวกันหลากไหลลงเป็นลุมน้ำเจ้าพระยา มาสัมผัสสัมพันธ์กับสายน้ำในภาคกลางอย่างแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำน้อย นิรมิตสรรค์สร้างอาณาจักรอันรุ่งเรืองยิ่งใหญที่มีอายุยืนนาน อย่าง “ศรีอโยธยา” และ “กรุงเทพทวารวดี” ขึ้นอย่างที่รู้ๆกัน ส่วนภาคอีสาน ก็มีบรรดาแม่น้ำที่ไหลลงโขงตั้งแต่ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี จนถึงลุ่มน้ำสงคราม ภาคตะวันตกนั้นมีลุ่มน้ำแม่กลองที่มีส่วนอย่างสำคัญในการก่อเกิดอาณาจักรทวารวดีอันเก่าแก่แถบบนครปฐม นครชัยศรี ภาคตะวันออก มีลุ่มแม่น้ำบางปะกงหรือแม่น้ำปราจีนบุรี ลุ่มแม่น้ำระยอง ลุ่มแม่น้ำจันทบุรี และลุ่มแม่น้ำเวฬุ เป็นต้น ส่วนภาคใต้นั้นมีพื้นที่ลุ่มน้ำสัญคัญๆ เช่น ลุ่มน้ำตาปี อีปัน ลุ่มน้ำปากจั่น ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา(สงขลา-พัทลุง-นครศรีธรรมราช) ลุ่มน้ำปัตตานี ลุ่มแม่น้ำตรัง และลุ่มน้ำคลองสินปุน(กระบี่) เป็นต้น ประวัติศาสตร์ในการสร้างบ้านแปงเมืองอันยาวนานเป็นพันๆปีของกลุ่มชนคน “สยาม” หรือ “ไทย” ปัจจุบัน ตามลุ่มน้ำต่างๆดังกล่าวมา ได้สร้างภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวกับ “น้ำ” และ “แหล่งน้ำ” ไว้อย่างลึกซึ้ง ซับซ้อน และมหาศาล ตั้งแต่เรื่องรูปธรรม เช่นเรื่องการหาอยู่หากิน(อาหารการกิน) การปลูกสร้างที่อยู่อาศัย(สถาปัตยกรรม) เครื่องนุ่งห่ม(ภัสตราภรณ์ ) การคมนาคม(โดยเฉพาะทางน้ำ) หรือเรื่องยารักษาโรค(เภสัชเวชกรรม) จนกระทั่งถึงเรื่องราวนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับ “จิตรูป” อันได้แก่ ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม และ ระบบจริยธรรม เป็นต้น เพียงเริ่มจากระบบคิด “การทำประเทศให้ทันสมัย” (Modernization)ภายใต้ “ความเชื่อ”ของชนชั้นนำทางสังคม (ที่มีอำนาจทางการเมือง) กลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่ง ที่เริ่มขึ้นสักเมื่อประมาณช่วงต้นของทศวรรษ 2500 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลาเพียงประมาณ 6 ทศวรรษ เรื่องราว “ชีวิตสังคม” เกี่ยวกับ “วิธีวิทยา” ที่เกี่ยวกับ “น้ำ” ทั้งหลายของชาวสยามไทย ก็เปลี่ยนแปลงและ “หายสาบสูญ” ไปจากหน้า “ประวัติศาสตร์สังคม” แทบจะโดยสิ้นเชิง!!!