สถาพร ศรีสัจจัง 6 ทศวรรษ แปลว่า 60 ปี ใช่แล้ว เพียงไม่เกิน 60 ปี เท่านั้นเอง! ที่ “นโยบายการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย” ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อช่วงต้นๆ ของทศวรรษ 2500 (ภายใต้การนำพาประเทศแบบเบ็ดเสร็จโดยใช้ “ประกาศคณะปฏิวัติ” เพียง 20 มาตรา เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศของผู้นำเผด็จการที่ชื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ได้นำพาการจัดการเรื่อง “น้ำ” ไปสู่ความพิกลพิการและความล่มสลายหายนะอย่างน่าเอน็จอนาถเป็นที่สุด อย่างที่เห็นๆเชิงประจักษ์กันอยู่ในรอบ 10 ปี ที่พ้นผ่าน (พ.ศ.2554 - 2564) พูดถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ 20 มาตรายุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะต้อง “แวะ” พูดถึงมาตราที่น่าสนใจและโด่งดังที่สุดเสียสักหน่อย ในฐานะที่ฟังว่ามันเป็นเครื่องมือ “ฆ่าคน” ของ “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” (ในฐานะนายกรัฐมนตรี) ในยุคนั้น นั่นคือมาตรา 17 ซึ่งขอยกเนื้อหาบางตอนมาให้ดูดังนี้ : “..ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำ อันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายก่อกวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย...” ฟังแล้วหนาวไหม? แปลไทยเป็นไทยให้เข้าใจอย่างเป็นรูปธรรมง่ายๆขึ้น ก็คือ หากนายกฯในยามนั้นเห็นว่า “ใคร” มีพฤติกรรมที่ตัวเองเห็นว่า “บ่อนทำลายความมั่นคง” ก็สามารถสั่งประหารได้เลย (ยุคนั้นคือการ “ยิงเป้า” ในสถานที่ที่นายกฯ เชื่อว่าเป็นที่เกิดเหตุ เพื่อให้ชาวบ้านได้ดูเป็นตัวอย่าง จะได้ไม่มีใครกล้าเหิมเกริมอีก) โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลพลเรือน/ศาลทหารหรือศาลใดๆ คนที่ถูกประหารด้วยมาตรา 17 โดยฝีมือของจอมพลสฤษดิ์ในยุคนั้นมีไม่น้อย ตัวอย่างเช่น นายศุภชัย ศรีสติ ผู้นำสภากรรมกร เจ้าหน้าที่วิทยุการบินพลเรือนที่เป็นนักเรียนวิศวกรรมจากประเทศญี่ปุ่น (ข้อหาคอมมิวนิสต์) ครูครอง จันดาวงศ์ และ ครูทองพันธ์ สุทธิมาศ อดีตเสรีไทยแห่งภูพานยุคนายเตียง ศิริขันธ์ (ข้อหาคอมมิวนิสต์) ที่เป็นชาวบ้านแท้ๆก็เช่น นายซ้ง แซ่ลิ้ม แห่งบางยี่เรือ/และนักโทษข้อหาข่มขืนกระทำชำเราที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา เป็นต้น (คนนี้ฟังว่า ท่านจอมพลบินลงไปบัญชาการประหารด้วยตัวเอง ท่ามกลางชาวบ้านที่มารอชมการประหารอย่างคับคั่ง โดยให้จัดทำหลักประหารขึ้นที่ชายหาดสมิหลาตรงจุดที่เชื่อกันว่าเขากระทำการข่มขืนกระทำชำเราหญิงสาวนั่นเอง!) จะพูดเรื่อง “น้ำ” กลับนอกเรื่องไปถึงเรื่อง “เผด็จการ” เสียชิบ! (แต่ก็น่าจะมีประโยชน์และเนื่องเกี่ยวกันอยู่บ้างนั่นแหละน่า!) อย่างที่ได้สรุปเป็นการเปิดเรื่องไว้แล้วแต่ช่วงต้นคอลัมน์ว่า ความล่มสลายเรื่องการจัดการน้ำในเมืองไทยนั้น เริ่มหายนะมาตั้งแต่เราเริ่มมี “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” เมื่อ 60 ปีก่อน โดยเลียนแบบและตามก้นวิธีวิทยาของตะวันตก(โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา) อย่างไม่เคยทำความรู้จักตัวเองว่าคือใครมาตั้งแต่เบื้องต้นโน่นแล้ว การเร่งสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และหลากขนาดกันอย่างบ้าเลือด จนปัจจุบันมีแล้วไม่น้อยกว่า 33 แห่ง และ มีแนวโน้มจะผลักดันให้สร้างกันอีกมากมาย (เพราะคอร์รัปชั่นได้ง่าย?) นั่นน่าจะถือว่าเป็นปฐมเหตุหนึ่งของน้ำท่วมน้ำเทียวละฯลฯ ( ทั้งนี้คงต้องยกเว้นไม่พูดถึงเหตุที่เกิดจากหายนะภัยซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเพราะเหตุโลกร้อนที่มนุษย์ยุค “เห็นธรรมชาติอยู่ใต้ส้นตีน” เป็นผู้ก่อขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง!) การจัดการกับแม่น้ำสายหลักๆของเมืองไทย ก็อาจกล่าวได้ว่าค่อนข้างไม่เป็นโล้เป็นพาย ตัวอย่างเช่น กรณีแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญสุดของคนในที่ราบลุ่มภาคกลาง อย่างเมืองกรุงเทพฯ และเมืองบริบท ก็คล้ายกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนฯไม่เคยเรียนรู้และให้ความสำคัญกับ “วิถี” อัน “ราก” แห่งความเป็นสังคมของกลุ่มคนที่อยู่กับลำน้ำ และ “น้ำ” มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์อันยาวนาน (เช่น การถมคลองเพื่อ “พัฒนา” การคมนาคมทางบก/การจัดการระบบน้ำในลำคลองร่องคูแบบไม่ได้เรื่อง จนเกิดความเน่าเสียไปถ้วนทั่วด้วยเวลาเพียงไปไม่ถึงครึ่งศตวรรษ!) มีคำถามที่น่าสนใจมากว่า โดยเนื้อหาที่เป็นจริงในทางปฏิบัติแล้ว กรุงเทพฯ และเมืองบริบทเคยมีแผนเกี่ยวกับประชากรและผังเมืองที่ใช้บังคับได้จริงอย่างต่อเนื่องจริงจังบ้างไหม ในรอบ 50 ปี? ระบบชลประทานของรัฐเล่า?นอกจากจะใช้งบประมาณทั้งทางตรงและทางอ้อมกันอย่างมหาศาลเหนือกรมอื่นๆ(อีกหลายกรม)ในรอบ 50 ปีแล้ว มีอะไรที่เป็นโล้เป็นพาย และ แก้ปัญหาของประเทศได้จริงบ้าง เอาแค่เรื่องน้ำแล้ง และ น้ำท่วมเพียง 2 เรื่องก็พอ อย่าไปพูดเรื่องอื่นเลยเดี๋ยวจะปวดหัว เพราะคงอดไม่ได้ที่แพลมเรื่องที่ชาวบ้านชอบพูดกันว่า “กรมนี้” มีกลิ่นเรื่องการ “คอร์รัปฯ” ไม่ค่อยดีนัก จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ที่รู้ก็คือคงหา “ใบเสร็จ” กันยากละมั้ง? ดูเหตุดูผลแล้ว เรื่อง “น้ำ” กับเมืองไทยคงจะไม่จบง่ายๆ ตอนนี้ที่ทำได้ก็คงแค่ต้องคอยดูเท่านั้นกระมังว่า ตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ของนายกฯ คนสวยที่ชื่อยิ่งลักษณ์ที่ว่ากันว่าสูงถึง 1.7 ล้านล้านนั้น จะถูกลบสถิติโดยฝีมือท่านนายกฯ ลุงตู่ผู้สุดหล่อของบรรดาแม่ยกทั้งหลายในปีพุทธศักราช 2564 นี้หรือเปล่า?!