สถาพร ศรีสัจจัง ในยุคปัจจุบันคำ “ภูมิรัฐศาสตร์” ดูเหมือนจะได้ยินกันบ่อยขึ้น คำนี้เป็น “ศัพท์บัญญัติ” ทางวิชาการ เป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษว่า “Geopolitics” ที่เมื่อฟังคำในภาษาไทยแล้ว ดูๆจะคล้ายๆกับคำ “ภูมิศาสตร์การเมือง” ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Political geography” แต่นักวิชาการเขามักบอกว่า 2 คำนี้ มีความหมายไม่เหมือนกัน และในเนื้อหาของศาสตร์ก็มีการมุ่งเน้นศึกษาในจุดที่ต่างกันอยู่ไม่น้อย เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ก็ลองมาเปิดดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกันสักหน่อยก็ได้ คำ “ภูมิรัฐศาสตร์” ราชบัณฑิตยสถานท่านกำหนดความหมายไว้ว่า “(น.) วิชาในหมวดสังคมศาสตร์สาขาหนึ่งมีลักษณะคล้ายวิชาภูมิศาสตร์การเมือง แต่เน้นหนักไปทางการเมือง” ส่วนคนรุ่นใหม่ที่ชอบดู(และเชื่อ)การให้ความหมายจาก “วีกิพีเดีย” เพื่อให้รู้สึกร่วมสมัยเสียหน่อย ก็ขอสรุปที่เขาให้ความหมายคำนี้มาบอกไว้สักเล็กน้อยด้วยก็แล้วกัน คำ “Geopolitics” นี้ วิกิพีเดีย เขาเขียนถึงไว้ พอจะสรุปความได้ความเป็นดังนี้...คือศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของภูมิศาสตร์(มนุษย์และกายภาพ)ที่มีต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ...ภูมิรัฐศาสตร์มักเน้นถึงอำนาจทางการเมืองในพื้นที่ภูมิศาสตร์ทั้งทางทะเลและทางบก... ทั้งยังอธิบายอีกว่า...คือศาสตร์ที่ว่าด้วยความเข้าใจทางภูมิศาสตร์กายภาพ ตลอดจนวิธีการที่สังคมมนุษย์ กำหนดกรอบความคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม(ภูมิศาสตร์มนุษย์) ทั้งอาจถือได้ว่าเป็นตัวแทนส่วนหนึ่งของวิชามานุษยวิทยากายภาพ(Physical anthropology)ที่มีนักภูมิศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเวียนนา ผู้มีชื่อเสียง คือ อัลเฟรชค์ เพงค์ เป็นผู้นำทางความคิด... สรุปให้สั้นที่สุดก็น่าจะเอาความจากราชบัณฑิตนั่นแหละเป็นหลัก คือ เป็นเรื่องของการศึกษาเรื่องทางการเมืองที่มีเหตุปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นตัวกำหนด แล้วอะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิศาสตร์” (Geography)ละ? คนไทยที่เรียนหนังสือรุ่นเก่าทุกคน ต้องได้รับรู้คำว่า “วิชาภูมิศาสตร์” โดยตรง เพราเป็นวิชาบังคับให้เรียนมาตั้งแต่ระดับประถม จนถึงระดับมัธยม ทั้งตอนต้นและตอนปลาย เฉพาะพวกเรียนมัธยมปลายสาย “ศิลป์” ยิ่งต้องเรียนหนักเป็นพิเศษ เพราะต้องเรียนวิชา “สังคม ข.” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ภูมิศาสตร์” ที่กว้างขวางและลึกซึ้งอย่างเป็นพิเศษ สำหรับหลักสูตร “การศึกษาสมัยใหม่” ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้สัมผัสรู้โดยตรง จึงยากที่จะบอกได้ว่าเด็กไทยจะรับรู้และเข้าใจคำว่า “ภูมิศาสตร์” สักขนาดไหน ที่จริงย่อมเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้วกระมังว่าวิชา “ภูมิศาสตร์” (Geography)นั้นหมายถึง วิชาที่ข้องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพกับสังคมมนุษย์ในดินแดนส่วนต่างๆของโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน พูดให้ละเอียดลงไปอีกวิชาภูมิศาสตร์ก็คือ วิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับพื้นดิน ภูมิประเทศ ประชากร และปรากฏการณ์ต่างๆบนโลก บุคคลแรกที่ใช้คำ “ภูมิศาสตร์” เป็นนักปราชญ์ชาวกรีกโบราณที่ชื่อ “เฮราทอสเทนีส”(Eratosthenes,276-194 ปี ก่อน ค.ศ.) โดยทั่วไปวิชาภูมิศาสตร์มักถูกจัดแบ่งออกเป็น 2 สาขาใหญ่ๆ คือ “ภูมิศาสตร์มนุษย์” ( Human geography)และ “ภูมิศาสตร์กายภาพ” (Physical geography) ภูมิศาสตร์มนุษย์ ศึกษาเกี่ยวกับผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และ ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บนพื้นที่และสถานที่ ส่วนภูมิศาสตร์กายภาพ มักศึกษาถึงกระบวนการและรูปแบบในสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ประกอบด้วยเรื่อง บรรยากาศภาค อุทกภาค ชีวภาค และ ธรณีภาค อนึ่ง ในแง่วิชาการ วิชาภูมิศาสตร์นับเป็นเรื่องสำคัญมาก จนได้รับขนานนามว่าเป็น “สาขาวิชาแห่งโลก” และ เป็น “ตัวเชื่อมระหว่างมนุษย์กับเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์กายภาพ...” จากความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหา “ภูมิศาสตร์” เป็นเบื้องต้นอย่างสังเขป ทำให้เรารู้ว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” เป็นเพียงสาขาย่อยหนึ่งของ “ศาสตร์” ดังกล่าว แต่เผอิญคำ คำนี้ถูกพูดถึงแบบ “รัวๆ” มากขึ้นเรื่อยๆในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะจากสื่อหลักในสังคม เช่น สื่อออนไลน์หรือสื่อทีวี.ทั้งหลาย แม้แต่การประชุมผู้นำสูงสุดแห่งอาเซียนครั้งสำคัญณประเทศบรูไน (เพื่อสำแดงให้โลกเห็นทรรศนะเรื่องความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับ “เผด็จการพม่า”?) ที่มีประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญเข้าร่วมด้วย ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ตอนนี้ ก็ฟังว่ามีคำ “ภูมิรัฐศาสตร์” เป็น “คีย์ เวิร์ด” ในการประชุมอยู่ด้วยคำหนึ่ง ซึ่งในเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คงหมายถึงเรื่อง “วิกฤติทะเลจีนใต้” ที่ “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ประชุมถกเถียงกันมาแล้วหลายครั้ง (แต่หาข้อสรุปไม่ได้สักที)นั่นเอง และย่อมเป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่า สหรัฐอเมริกาต้องการใช้ความขัดแย้งด้าน “ภูมิรัฐศาสตร์” เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นเครื่องมือสร้างพันธมิตรกับอาเซียนเพื่อ “รุมสกรัม” และ “ปิดล้อม” สาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างที่ใครก็รู้ๆกันอยู่นั่นแหละ แม้ในความเป็นจริง เรื่องที่เกี่ยวกับวิชา “ภูมิศาสตร์” (ในยุคโลกร้อน) ที่ “ควร” และ น่าสนใจพูดถึงเป็นที่สุด คือเรื่อง “ภูมิศาสตร์บูรณาการ” (Integrative geography) เพราะเป็นเรื่องที่น่าจะช่วยทำให้เห็นช่องทางในการแก้ปัญหา “โลกของเรา” (มนุษยชาติ)ได้มากขึ้นอย่างแท้จริง แต่ในขณะที่ประเทศจักรพรรดินิยม (โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา)แทบจะไม่ให้ความสำคัญและสนใจแก้ปัญหานั้นเลย ทั้งยังต้องการเน้นการแยกโลกออกเป็นส่วนๆ(รัฐชาติ)เพื่อให้ง่ายต่อการปกครองและเอาเปรียบชาวโลก เรื่องเกี่ยวกับ “ภูมิรัฐศาสตร์” จึงน่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ทุกคนควรจะเร่งทำความเข้าใจ!!!