แสงไทย เค้าภูไทย การประชุมสุดยอดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก ประเด็นที่เจรจากันเน้นด้านเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง เชื่อว่าจะคลายล็อกความขัดแย้งทางการค้า สงครามการค้าและสงครามเงินตราที่เกิดขึ้นในยุคทรัมป์ แม้จะเกิดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และปัญหาไต้หวัน แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็มองว่า เป็นปัญหาระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคมากกว่าจะมีผลกระทบถึงสหรัฐฯ ในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอย่างรุนแรง ซึ่งทรัมป์มองว่าปัญหาเกิดจากจีน จึงก่อสงครามการค้า Trade War ขึ้นโดยใช้ภาษีศุลกากรและค่าเงินดอลลาร์เป็นอาวุธ ทำให้เกิดสงครามค่าเงิน Currency War อีกสงคราม เป็นสงครามคู่ขนาน ค่าดอลลาร์อ่อน ทำให้สินค้าสหรัฐฯไปจีนราคาถูกลง ผู้นำเข้าจีนซื้อเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน สินค้าจากจีนแพงขึ้น ทำให้สินค้าจีนไปสหรัฐฯ มีการนำเข้าลดลง เพราะเมื่อสินค้าจีนแพง ผู้นำเข้าอเมริกันก็หันไปซื้อสินค้าจากชาติอื่นซึ่งมีราคาถูกกว่าแทน ยิ่งกว่านั้น การขึ้นอัตราภาษีและยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆก็ทำให้สินค้าจีนถูกสกัดกั้นอีกเส้นทาง ผลของสงครามการค้าและสงครามเงินตรา มิใช่แต่กระทบจีนเท่านั้น ยังส่งผลมาถึงชาติต่างๆที่สหรัฐฯ เคยให้สิทธิพิเศษเช่น GSP เป็นต้น ในจำนวนชาติที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและสงครามค่าเงินมีไทยอยู่ด้วย การทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งที่ผ่านมา อ่อนค่าลงถึง 11% ส่งผลถึงบาท ซึ่งผูกพันกับดอลลาร์ในตะกร้าเงินตราระหว่างประเทศด้วย ทำให้บาทแข็งค่า ขณะเดียวกัน ค่าบาทกับหยวนก็ผกผันด้วย เหตุจากจีนพยายามทำให้หยวนอ่อนค่าสู้ดอลลาร์ เพื่อมิให้เสียเปรียบหรือมีช่องว่างในอัตราแลกเปลี่ยนกว้างเกินไป จีนทำให้ค่าหยวนอ่อนลง แม้ว่าจะติดกรอบที่ China Foreign Exchange Trading System (CFETS) กำหนดไว้ไม่เกิน 2% แต่ก็ลดหลายครั้งรวมแล้ว กว่า 7% ส่งผลต่อบาทด้วย ค่าบาท/หยวน ที่เคยสูงกว่า 5 บาทต่อ 1 หยวนก็กลับเป็น ต่ำกว่า 5 บาทต่อหยวนอยู่ช่วงหนึ่ง สินค้าไทยไปจีนแพงขึ้นจากค่าบาทที่แข็งขึ้น จีนเป็นลูกค้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของไทย ส่วนสหรัฐฯนำเข้าข้าวไทยน้อยกว่าจีน แต่กระนั้นข้าวไทยก็ยังเสียตลาด เพราะมีการหันไปซื้อข้าวอินเดียและปากีสถานแทนเหตุจากเงินอินเดียและปากีสถานอ่อนค่า อีกด้านหนึ่ง เวียดนามซึ่งลดค่าด่องอย่างไม่หวั่นไหวต่อเสถียรภาพทางการเงิน ทำให้สินค้าเวียดนามแย่งตลาดไทยไปทั่วโลก ใช่แต่เท่านั้น บริษัทญี่ปุ่นที่เคยเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของไทย ต่างก็เจอพิษบาทแข็ง พากันย้ายฐานไปเวียดนามกันกว่า 20 รายแล้ว รายล่าสุดที่ย้ายไปคือพานาโซนิค ทำให้คนงานไทยตกงานกว่าพันคน บริษัทญี่ปุ่นเหล่านั้น มาตั้งโรงงานในไทยก็ด้วยหวังแรงงานราคาถูกและตลาดใหญ่ที่สุดในโลก คือสหรัฐฯซึ่งเคยให้สิทธิพิเศษ GSP แก่ไทย โดยสินค้าส่งออกจากบริษัทเหล่านี้ในนามไทยได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อดอลลาร์อ่อน บาทแข็ง ราคาสินค้าไทยก็แพงตามค่าบาท ผลก็คือขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกลดลง ขณะนี้ สินค้าจากโรงงานญี่ปุ่นในเวียดนาม เริ่มเป็นคู่แข่งสินค้าไทยในตลาดโลกแล้ว จึงได้แต่หวังว่า การพบปะเจรจาระหว่างสองประธานาธิบดีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกจะยุติสงครามการค้าและสงครามเงินตราลงได้ มันอาจจะเป็นผลดีแก่สองประเทศ แต่สำหรับไทย ถ้านโยบายยังติดยึดกับเสถียรภาพของเงินบาท ผลจากการคลี่คลายนี้ คงมิไม่มาก เพราะตลาดที่เราสูญเสียไปนั้น เวียดนามและเพื่อนบ้านค่าเงินอ่อนกว่าเรายึดไปแล้ว คงยากที่จะได้คืน