สถาพร ศรีสัจจัง อะไรคือ “คีตกานท์”? จะไม่ขออธิบายเชิงวิชาการให้มากความ ในที่นี้จะขอสรุปนิยามเอาเพียงว่า คือสิ่งที่เรียกว่า “บทขับ” ที่ฝรั่งอังกฤษเรียกว่า “Lyric” อันหมายถึง “บทกวี” หรือ “กวีนิพนธ์” แบบใดแบบหนึ่งซึ่งใช้ “ขับร้อง” เปล่งจากปากออกมาเป็นเสียงเป็นจังหวะทำนอง (Melody) มีหนักมีเบา มีรวบเสียงเอื้อนเสียง ฯลฯนั่นเอง คำ “คีตกานท์” ที่จะใช้ต่อไปนี้ก็มีเนื้อหาความหมายเช่นนั้นละ! ที่จริงถ้าจะพิจารณจากรากคำ ก็จะพบว่าคำ “คีตกานท์” นั้นเป็นการสร้างคำใหม่ประเภทที่เรียกว่าการ “สมาส” (ที่เรารับหลักการมาจากภาษาบาลีสันสกฤต) คือเอาคำ “คีตะ” มารวมเข้ากับคำ “กานท์” (ก็เป็นบาลีสันสกฤตทั้ง 2 คำอีกนั่นแหละ) ถ้าไปแอบดูความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็จะพบว่า คำ “คีตะ” แปลว่า “เพลงขับ การขับร้อง” ส่วนคำ “กานท์” เป็นคำโบราณประเภทคำนามแปลว่า “บทกลอน” สรุปก็คือ เข้าใจตรงกันแล้วละนะว่า สิ่งที่จะอภิปรายหรือเขียนถึงกันอย่างกว้างขวางหลังจากนี้ (อาจยาวสืบเนื่องกันเป็นหลายตอน) ตามหัวข้อที่ตั้งไว้คือ “คีตกานท์” ปฏิวัติ ไทย-ลาว นั้น ต้อง การจะพูดกันถึงเรื่อง “บทขับขาน” หรือ “บทเพลง” ที่มีลักษณะเป็น “คีตกานท์” คือเป็น “บทเพลง” ที่มี “เนื้อร้อง” ซึ่งสามารถชี้ได้ว่าเป็น “บทกวี” ซึ่งนั่นก็คือ “คีตกวี” ผู้เขียนเพลงนั้นๆ สามารถสร้างชุดคำได้อย่างไพเราะทรงคุณค่าตามลักษณะของสิ่งที่เรียกว่า “บทกวีที่ดี” และผู้ขับขานก็สามารถ “ขับร้อง” ได้อย่างมีศิลปะสอดสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับเนื้อเพลงและจังหวะทำนองที่ผู้ประพันธ์เจตนา (ในทรรศนะของผู้เขียน จึงไม่ใช่เพลงหรือบทขับร้องทุกเพลงจะเป็น “คีตกานท์”ไปเสียทั้งหมด!) อีกคำที่อาจถือเป็น “คีย์เวิร์ด” สำคัญไม่น้อยเช่นกัน ก็คือคำว่า “ปฏิวัติ” !(Revolution) คำ “ปฏิวัติ” ในที่นี้เป็นคำนามที่ทำหน้าที่เป็นคำ “คุณศัพท์” (adjective) ที่ต้องวงเล็บภาษาอังกฤษกำกับไว้ ก็เพราะไม่แน่ใจว่า คนไทยในยุค “ทุนบริโภคนิยมผูกขาด” (Consumer Imperialism) อย่างยุคปัจจุบัน ที่ชาติจักรพรรดินิยมซึ่งมีอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง เหนือสังคมโลก จนสามารถ “โปรแกรม”ใส่ความคิด คน Gen Y,gen Z (และ gen หลังจากนั้น) ทำให้ภาษาของพวกเขาคือภาษาอังกฤษ กลายเป็น “ภาษาสากล” ที่ทรงคุณค่าจนทำให้คนรุ่นนี้แทบลืมภาษาและวัฒนธรรมต่างๆตัวเองไปเสียแล้ว จะเข้าใจคำว่า “คุณศัพท์” หรือเปล่า ว่าหมายถึงคำประเภทไหน? (เป็นความจริงเชิงประจักษ์อยู่เห็นๆ ไม่เชื่อก็ลองเดินดูตามสายถนนหรือคลิกเข้าไปดูชื่อร้านรวงต่างในเน็ตก็ได้ว่า ปัจจุบันมีชื่อเป็นภาษาไทยอยู่สักกี่ร้านหรือกี่ห้างกี่บริษัท/หรือไม่ก็ลองดูที่ “นิคเนม” หรือ “ชื่อเล่น” ของบรรดาเด็กไทย “เจน”ดังว่าก็ได้ ว่าที่มีชื่อเล่นเป็นแบบ “ไทยๆ” จะยังมีเหลืออยู่อีกสักกี่คน เพราะถ้าไม่มีชื่อเป็น “แบบฝรั่งๆ” ก็มักจะต้องเป็น เกาหลี-จีน-หรือญี่ปุ่น อะไรเข้านั่นละมั้ง...) เพราะฉะนั้น “เพลง” ที่จะนำมาเป็น “สื่อ” หรือ “ตัวอย่าง” ว่าเป็น “เพลงกวี” (คือบทกวีที่ถูกนำมาขับขานเป็นจังหวะทำนองอันพริ้งไพเราะมีพลัง) ของทั้งเมืองลาวและเมืองไทยในครั้งนี้ จึงหมายถึงบทเพลงซึ่งมีที่มาหรือมี “เหตุปัจจัย” ในการเกิดขึ้นเพราะเจตนาแห่ง “การปฏิวัติสังคม” เท่านั้น! ที่จริงสิ่งที่เรียกว่า “บทขับ” (Lyric) ที่บรรดา “คีตกวี” สร้างสรรค์ขึ้นเป็น “ผลิตภัณฑ์ทางสังคม” (Social Production)ที่ปัจจุบันเรียกว่า “เพลง” นั้น มีคู่กับสังคมคนไทย และสังคมคนลาวมาแต่ยุคโบราณกาลนานเนิ่นแล้ว โดยถูกขานเรียกกันไปในชื่อต่างๆตามแต่ละถิ่น เช่น ถ้าเป็นกลุ่มคนลาวก็มักเรียกว่า “ขับลำ” /ถ้าเป็น “ไทโยนก” (ยวน) ก็มักเรียกว่า “ขับซอ” / “ขับจ้อย”/หรือ “อื่อกะโลง” ถ้าเป็นกลุ่มคนไทยทางภาคใต้ ก็เรียกว่า “ขับบท” (การเล่นหนังตะลุงนั้น แต่เดิมชาวบ้านภาคใต้เรียกว่า “ขับหนัง”) เป็นต้น “คีตกานท์” ปฏิวัติ ไทย-ลาว นั้น จัดเป็นงานศิลปะประเภท “ศิลปะการแสดง” (Performance) อันหมายถึงงานศิลปะที่ผสมผสานระหว่าง “วรรณศิลป์” (Literature) กับ “ดนตรีการเปล่งเสียงท่าที” (Music and Action) แม้โดยตัวศิลปาการดังกล่าวเอง จะมี “รูปแบบ” (Form) ที่จำเพาะและเป็นอิสระในการ “สร้างสรรค์” (Create) เป็นของตัวเอง แต่นอกจาก “รูปแบบ” (Form)แล้ว องค์ประกอบของงานศิลปะดังกล่าวยังจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “เนื้อหา”(Content) เป็นสิ่งชี้ขาดความ “มีคุณค่า” ที่สำคัญร่วมอยู่ด้วย เนื้อหา หรือ “Content” ล้วนและแต่ต้องเกิดขึ้นและเป็นไปตาม “เหตุปัจจัย” หรือ “บริบท” (Context) ของ “พื้นที่และเวลา” (Space and Time) ของสังคมนั้นๆ การอภิปราย หรือ “พูดถึง” สิ่งที่เรียกว่า “คีตกานท์” ปฏิวัติ ไทย-ลาว ครั้งนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องโยงยึดและกล่าวถึง “สถานการณ์” ที่เป็นบริบททางสังคมทั้งของไทยและลาวในห้วงเวลานั้นๆไปพร้อมกันด้วย! ใครที่สนใจก็ขอตามมาโดยระทึกพลัน!!!!