สถาพร ศรีสัจจัง เราจะเริ่มเรื่อง “คีตกานท์” ปฏิวัติ ที่เมืองลาวกันก่อน ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะแม้ “สยาม” จะมีการอภิวัติมาอย่างยาวนาน แต่"เมืองลาว"หรือ"ล้านช้าง"ในอดีต มีการต่อสู้เพื่อการ"ปลดปล่อย"บ้านเมืองตัวเองจากการถูกยึดครองของต่างชาติมาโดยตลอด ที่ขัดเจนคือเริ่มจาก"อันนัม"(เวียด) ต่อด้วย"สยาม"และ และตามด้วยฝรั่งเศส(หลังสงครามโลกครั้งที่๑) ตามด้วยญี่ปุ่น และตามด้วยสหรัฐอเมริกา(โดยพฤตินัย)ในท้ายที่สุด ในห้วงเวลาดังกล่าวเหล่านั้น แม้ในช่วงแรกสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชาติลาว” (การรวมตัวกันเพื่อสถาปนาสังคมของตนขึ้นเป็น “รัฐชาติ” สมัยใหม่ ของเหล่าชนชาติในแผ่นดินที่เรียก “ล้านช้างในอดีต” ที่มีกระจัดกระจายอยู่ไม่น้อยกว่า 40 ชาติพันธุ์)จะยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก แต่เค้าแววของการ “รวมตัวสร้างชาติ” โดยการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ เพื่อปลดปล่อยแผ่นดินจากการยึดครองของบรรดาชาติจักรพรรดินิยม เรื่องก่อหน่ออ่อนขึ้นไม่น้อยแล้ว “คีตกานท์” (Lyric)หรือ “เพลงกวี” ที่น่าจะมีบทบาทการรวมสำนึกความเป็น “ชาติ” บทแรกๆที่สำคัญและโดดเด่นเป็นที่สุดมาจนถึงยุคปัจจุบัน น่าจะไม่มีเพลงใดยิ่งใหญ่ไปกว่าบทเพลงที่ชื่อ “ดวงจำปา” (ที่ฟังว่าภายหลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์ปัจจุบันแห่งสปป.ลาวมาเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น “จำปาเมืองลาว”) เพลง “ดวงจำปา” นั้น เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายในการแต่งและเรียบเรียงอย่างชัดเจนว่าเพื่อ “ปลุกใจ” ให้ชาวลาวทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่อยู่นอกประเทศ(ด้วยสาเหตุต่างๆกันไป)และในประเทศ เกิดสำนึก “รักชาติ” และมุ่งมั่นที่จะร่วมกันช่วยในการต่อสู้ด้วยรูปแบบต่างๆเพื่อปลดปล่อยประเทศจากการเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส แม้จะมีประวัติเรื่องราวที่มาของเพลงสับสนอยู่บ้าง แต่จากตรวจสอบหลักฐานอย่างกว้างขวางก็ทำให้พอสรุปได้ว่า เพลงนี้ ท่าน “มะหาพูมี จิดตะพง” เป็นผู้เขียนเนื้อร้อง ท่านมะหาพูมี เป็นชาวเมืองหลวงพระบาง บวชเรียนมาแต่อายุยังน้อย เป็นหนึ่งในคณะสงฆ์ลาวที่ “เจ้าเพ็ดชะลาด” (เจ้าเพ็ชราช) ส่งไปเรียนหนังสือที่เขมรและไทย เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดสีโคดตะบอง นครหลวงเวียงจันทน์ ช่วงที่ญี่ปุ่นขับไล่ฝรั่งเศสออกจากลาว ท่านได้ลาสิกขามาทำงานที่สภาผู้แทนฯลาว และได้ดำรงตำแหน่งเลขานุการของสภาผู้แทนฯดังกล่าว ผู้ที่ใส่ทำนอง (Melody) เพลงดวงจำปา (ที่แสนจะหวานซึ้งเย็นเยือกถึงก้นบึ้งหัวใจคนลาว)คือท่านอุดตะมะ จุนนะมนี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลาวในขณะนั้น โดยใช้ท่วงทำนอง “ขับทุ้มหลวงพระบาง” มาเป็นลีลาขับขานเอื้อนเอ่ย หลังจาก “ขบวนการปะเทศลาว” มีชัยอย่างเบ็ดเสร็จเหนือลาวฝ่ายขวาที่สนับสนุนโดยอเมริกา(และไทย) เพลง “ดวงจำปา” ก็ได้รับการรื้อฟื้นมาใช้งานอย่างกว้างขวางใหม่อีกครั้ง กลายเป็น “เพลงปฏิวัติ” ที่กระหึ่มดังก้องอยู่ในหัวใจคนลาว แผ่ขยายมาจนถึงเมืองไทยยุคใหม่ มีนักร้องทั้งไทย-ลาวรุ่นใหม่จำนวนมาก นำบทเพลงบทนี้มาขับร้องใหม่กันอย่างกว้างขวาง(Cover) ส่วนตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้เป็นคนแรก(เวอร์ชั่นแรก)ก็คือท่าน “บุนทะมาลี บุนช่วย” (เขียนตามแบบลาว) ซึ่งเป็นปู่ของนางเอกนักร้อง 2 ฝั่งโขงคนดัง คือ อเล็กซานดร้า บุนช่วย นั่นไง! นักร้องเพลงเพื่อชีวิตไทยคนแรกๆที่นำเพลงนี้มา “ทำ” ใหม่ตามสไตล์ของตัวเอง จนโด่งดังกังวานไปทั่วเมืองไทยก็คือ “ครูใหญ่เพลงเพื่อชีวิต” น้าหงา สุรชัย จันทิมาธร ศิลปืนแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คนนั้นนั่นเอง! ก่อนที่จะพูดถึง “คุณค่า” ของเพลงนี้ในฐานะ “คีตกานท์” ปฏิวัติบทสำคัญของเมืองลาว จะขอนำ “เนื้อเพลง” ที่ท่าน “มะหาพูมี จิดตะพง” เขียนไว้ มานำเสนอเป็น “Text” ไว้ก่อนก็แล้วกันนะ! เนื้อเพลง “ดวงจำปา” (หรือ “จำปาเมืองลาว” ) ๐ โอ้ดวงจำปา/เวลาซมน้อง/นึกเห็นพันซ้อง*/มองเห็นหัวใจ/เฮานึกขึ้นได้/ในกิ่นเจ้าหอม.. เห็นสวนดอกไม้/บิดาปูกไว้/ตั้งแต่นานมา/เวลาง่วมเหงา/เจ้าช่วยบันเทา/เฮาหายโสกา/ เจ้าดวงดวงจำปา/คู่เคียงเฮามา/แต่ยามน้อยเอย.. ๐ กิ่นเจ้าสำคัญ/ติดพันหัวใจ/เป็นตาฮักไค่/แพงไว้เซยซม/ยามเหงาเฮาดม/โอ้จำปาหอม.. เมื่อดมกิ่นเจ้า/ปานพบชู้เก่า/ที่พากจากไก/เจ้าเป็นดอกไม้/ที่งามวิไล/ตั้งแต่ไดมา..โอ้ดวง จำปา/มาลาขวัญฮัก/ของเฮียมนี่เอ่ย.. ๐ โอ้ดวงจำปา/บุปผาเมืองลาว/งามดังดวงดาว/ซาวลาวเพิงใจ/เกิดอยู่พายใน/ดินแดน ลานซ้าง/ถ้าได้พัดพาก/เนรเทศจาก/บ้านเกิดเมืองนอน/เฮาจะเอาเจ้า/เป็นเพื่อนร่วมเหงา/เท่าสิ้น ชีวา..เจ้าดวงจำปา/มาลางามยิ่ง/มิ่งเมืองลาวเอ่ย.. ________________________________________ *พันช้อง คำลาวเก่า หมายถึง มวยผมผู้หญิง แล้วหลังจากนี้ก็คงต้องถึงเวลาที่จะ “พิเคราะห์” ถึงความยิ่งใหญ่ของ “คีตกวี” บทนี้ในแง่ความเป็น “เพลงกวี” (Lyric)ปฏิวัติ แห่งอุษาคเนย์ กันจริงจังเสียทีละนะก่อนจะข้ามไปสู่ความยิ่งใหญ่ของอีกหลายชิ้นงาน!