สถาพร ศรีสัจจัง ในจำนวน “คีตกานท์” (Lyric)ปฏิวัติของ “คีตกวี” ชาวลาวจำนวนมาก ในการเขียนครั้งคราวนี้เห็นจะต้องขอย่นย่อมาเหลือสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็น “หัวกะทิ” เพียงสัก 3 เพลงก็แล้วกัน ก็คงพอจะเป็นตัวแทนได้ว่า ชาติเล็กๆชาติหนึ่งที่ประชาชาติของเขา “ลุกขึ้นสู้” เพื่อเรียกร้องเสรีภาพของประชาชาติมาอย่างยาวนานนั้น มี “ภูมิปัญญา” ในการผลิตสร้างงานศิลปะระดับสูงอย่าง “Lyric” หรือ “คีตกานท์” ที่สูงส่งทรงคุณค่าตาม “อัตลักษณ์” แห่งท่วงทำนองและภาษาของตนได้อย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติอารยะใดๆ! เหมือนดังที่ “จิตร ภูมิศักดิ์” ปราชญ์กวีนักปฏิวัติผู้องอาจของประชาชาติไทย เคยยกย่องสรรเสริญภูมิปัญญาของชนกลุ่มนี้ ในความสามารถคิดสร้างเครื่องดนตรีอันทรงค่ายิ่งอย่าง “แคน” ขึ้นมาได้แต่บรรพกาลโน่นแล้วนั่นเอง เพลงที่เป็น “คีตกานท์” สำคัญเพลงแรกของชาวลาว ได้พูดถึงและเล่าเนื้อเพลง(บทกวี)ไปแล้วก่อนหน้านี้ คือเพลง “ดวงจำปา” หรือ “จำปาเมืองลาว” ที่ตอนนี้เหมือนจะกลายเป็นเพลงชาติลาวไปแล้วก็น่าจะพูดได้ นักร้องไทยเองก็นำมาcover ร้องเล่นกันแบบไม่รู้ที่มาที่ไป กันจนเละเทะไปบ้างแล้ว ก็มีไม่ใช่หรือ?(มีแต่เสียง/จังหวะ แต่ไม่มี “วิญญาณ”) คีตกานท์ชิ้นที่สองที่อยากเล่าถึง คือเพลง “ส่งพรปีใหม่” ซึ่งตอนนี้ก็กำลังดังระเบิดอยู่ในเมืองไทยเช่นกัน(โดยเฉพาะช่วงปีใหม่นี้) เพราะมีคนเอามา cover กันเสียมากมาย ทั้งที่ร้องเป็นเพลงและเฉพาะดนตรีก็มีเห็นกันให้เกลื่อน ที่จริงเพลงนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งกองทัพประชาชนลาวอิสระหรือ “ขบวนการปะเทศลาว” (ฝ่ายซ้าย) จัดขบวนลุกขึ้นต่อสู้กับจักรพรรดินิยมอเมริกาผู้รุกรานและรัฐบาลปฏิกิริยาขณะนั้น เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติ เพลงนี้ได้รับการประพันธ์ทั้งเนื้อร้องและทำนองโดย “ท้าวบัวทอง พูมสะลิด” แพร่หลายอย่างกว้างขวาง เป็นเพลงปฏิวัติที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในเขตฐานที่มั่นทางภาคเหนือของลาว ภายหลังทหารปลดแอกของพรรคปฏิวัติไทยทางเขตภาคเหนือก็นิยมนำมาปรับร้องเป็นเพลงทำนองรำวงเล่นบันเทิงกันอย่างกว้างขวาง อย่างสหายสุรชัย จันทิมาทร ครูใหญ่เพลงเพื่อชีวิตคนนั้น ก็ฟังว่าร้องได้คล่องถนัดปากทีเดียว! ถ้าจำไม่ผิดในปี คศ.1975 สปป.ลาว จัดงานมหกรรมเฉลิมฉลองการปลดปล่อยประเทศชาติได้สำเร็จ มีการจัดเวทีใหญ่ทางศิลปวัฒนธรรมขึ้นในงานนี้ด้วย มีวงดนตรีแห่งชาติลาว(กรมศิลปากรลาว)ที่ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนร่วมบรรเลงเป็น “แบ็กอัพ” วงสำคัญ ในครานี้ ได้มีการนำเพลงปฏิวัติลาวสำคัญๆมาบรรเลงในงานนี้ด้วยหลายเพลง เพลง “ส่งพรปีใหม่” อันสุดแสนไพเราะเพราะพริ้ง เวอร์ชั่นของแม่หญิง “จันสะไหม ไพยะสิด” ศิลปินแห่งชาติลาวในปัจจุบัน(ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสาวสวยละลานตา)จึงได้รับการบันทึกเผยแพร่ สืบเนื่องยาวนานมาจนปัจจุบัน ฟังว่าแม้ในปัจจุบัน จะมีเวอร์ชั่นใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทย แต่ก็ไม่มีเวอร์ชั่นไหนที่ฟังแล้วจะให้ความรู้สึกลึกซึ้งกินใจเหมือนกับเวอร์ชั่น “จันสะไหม ไพยะสิด” ศิลปินแห่งชาติลาวท่านนั้นได้เลย! ตอนนี้ลองมาดู “บทกวี” ที่เป็น “เนื้อเพลง” ซึ่งกวีหนุ่ม(ยามนั้น) คือ “ท้าวบัวทอง พูมสะลิด” ได้รจนาขึ้น(เป็น “Romantic naturalism” อย่างยิ่ง)ว่าจะดีงามและมีพลังแห่งถ้อยคำอันเรียบง่ายงดงามสักขนาดไหน! "๐ เดือนสามคล้อย/ลมวอยๆ/ลมวอยๆพัดใบไม้อ่อน… ออนซอนเด…ภูผาได้เปลี่ยนสีงาม…/ลาๆๆ…ลาๆๆ…ลาๆๆๆ ๐ นกน้อย…ตอมดอกอยู่เทิงภูดอย…ส่งเสียงแว่ววอย… โอ้!มันอิงออย-กับคู่เสน่หา…สาลิกาบินคู่วี่วอน… ฮ้องส่งพร…ต้อนฮับปีใหม่…แม่นปีมหาชัย…… ดอกไม้…ในป่าส่งกลิ่นหอมหวน/ขอมอบให้เป็นของขวัญ แด่นักรบปลดปล่อยประชา… ลาๆๆ…ลาๆๆ…ลาๆๆๆๆ ๐ ฟ้าฮ้อง...ก้องดังอยู่กางเวหา/ได้อวยพรมา ให้ปวงประชา มีสุขาฟ้าใหม่… สร้างปะเทดลาวให้สดใส/สร้างเมืองลาวให้สีวิไล/ให้ชาติลาวได้มีสิทธิ์เสรี…! ๐ ใต้ธงสีแดงแห่งการปฏิวัติ/ภายใต้การนำอันสง่าใส… ชาติลาวก้าวไป/…ปีใหม่ มีชัยสง่างาม……!! ลาๆๆ…ลาๆๆ…ลาๆๆๆๆ" โดยชุดถ้อยคำที่ “กรองแล้ว” ผสานกับความรู้สึกจริงใจเปี่ยมความเชื่อมั่นต่อ “การปฏิวัติ” เพื่อปลดปล่อยประชาติลาว เมื่อผสมผสานเข้ากับท่วงทำนอง(Melody)อันเรียบง่ายลึกซึ้งแต่พลิ้วไพเราะ กลางการผสมผสานของเครื่องดนตรีอันหลากหลายที่ให้ทำนอง ทั้งที่เป็นเครื่องสากล และที่เป็นอัตลักษณ์จำเพาะของประชาชาติลาว ผสมความอิ่มเต็มหวานละไมเปี่ยมพลังจากน้ำเสียงอันสดใสของ “จันสะไหม ไพยะสิด” นักร้องระดับศิลปินแห่งชาติลาว เพลง “ส่งพรปีใหม่” จึงเปี่ยมเต็มสมบูรณ์ไปด้วยความเป็น Lyric หรือ “คีตกานท์ปฏิวัติลาว” อย่างแท้จริง!!!!!