สถาพร ศรีสัจจัง เพลงสุดท้ายที่จะขอหยิบยกมาเป็นบท “คีตกานท์ปฏิวัติลาว” คือเพลง “สาวเชียงขวาง” ที่คิดว่าตอนนี้ทั้งชาวไทย และชาวลาวที่ชอบฟังเพลง น่าจะรู้จักและได้ยินได้ฟังกันอย่างกว้างขวางแล้ว เพราะมีนักร้องรุ่นใหม่ในปัจจุบัน(ทั้งลาวและไทย)ได้นำมา “cover” กันจนเต็มบ้านเต็มเมืองหลายเวอร์ชั่น เฉพาะคนหรือกลุ่มคนที่นิยมเต้น “บาสโลป” ซึ่งเป็นท่าเต้นรำรวมหมู่ยอดฮิตตามงานต่างๆ ของคนลาวรุ่นใหม่ (ลามขยายเข้าไทยแล้วอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน) ยิ่งเป็นที่รู้จักดี เพราะเพลงนี้ได้รับความนิยมมาก เพลงนี้ต้นตำรับดั้งเดิมเป็นเพลงที่สหายนักรบ “ลาวอิสระ” (ฝ่ายซ้าย) เขตเมืองเชียงขวางเขียนขึ้นเพราะแรงดาลใจและเพื่อให้เป็นเพลงปลุกใจบรรดานักรบและมวลชนในพื้นที่ให้มีจิตใจอาจหาญกล้าลุกขึ้นสู้กับ “จักรพรรดินิยมอเมลิกา” ผู้รุกรานในช่วงสงครามลับแย่งชิงสมรภูมิ “ทุ่งไหหิน” ในสปป.ลาวอันโด่งดัง ในสักประมาณช่วงปีพ.ศ.2503 หรือ ค.ศ. 1960 นั่นเอง ข้อมูลจากเพจ “เป็นเรื่องเป็นลาว” โดย “แคน สาลิกา” บอกว่า เพลง “สาวเชียงขวาง” แต่เดิมมีชื่อเต็มคือ “สาวเชียงขวาง ทั้งงามทั้งเก่ง” ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย สหายไชยะสิน สีโคดจุนนะมาลี ผู้เคยไปศึกษาวิชาดนตรีมาจากสหภาพโซเวียต ร้องเผยแพร่กันอยู่ในหมู่นักรบและมวลชนเขตเชียงขวาง ภายหลังเมื่อประเทศลาวปลดปล่อยประเทศได้สำเร็จ มีการนำเพลงนี้มาร้องและอัดเสียงขึ้นใหม่โดยคณะนักร้องสังกัดกรมศิลปากรของลาว ส่วนชุดที่นำมาร้องใหม่ครั้งแรกนั้น ร้องโดยท้าวบุนเล่ง จันทะลังสี ด้วยคำประพันธ์ที่มี “วจนะ” แจ่มชัดไพเราะเรียบง่ายแบบ “บทกวีสำหรับขับขาน” (Lyric) ชั้นเยี่ยม มีเนื้อหามองโลกแง่ดี เชิงบวก ให้พลังใจ ประกอบกับท่วงทำนองดนตรีที่คึกคักเร่งเร้า กระทบใจ ให้ความรู้สึกสดใสดีงาม เพลงนี้จึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ภายหลัง เมื่อนักร้องสาวคนดังอย่าง “ติ่งหน่อย พลอยไพลิน” นำมาร้อง cover เพื่อใช้เต้น “บาสโลป” ก็ยิ่งทำให้เพลงนี้แผ่ขยายข้ามมาดังถึงฝั่งไทยอยู่จนปัจจุบัน! ต่อไปนี้คือเนื้อเพลงเต็มๆของเพลง “สาวเขียงขวางทั้งงามทั้งเก่ง” : ๐ เทิงแผ่นดิน/อันแสนฮักแพง/ของประซาลาวผู้อาจหาญ/ยังมีสาว…สวยงามเหลือเกิน/เซินแม่เซิน/อ้ายทหาร…พนักงานถ้วนหน้า/เซินมาแว ยามสาวเชียงขวาง/มาแวเบิ่งจักมื้อจักวัน… ๐ เมื่อฮอดยาม/ข้าวในนา เขียวงามอุ้มตุ้ม/ป่า…มันต้น ไฮ่สาลี…เขียวอุ่มทั้งโนนภู/ไผก็ย้อง/ว่าสาวบ้านเฮาจั้งมาเก่งแท้น่า…/เฮ็ดนากะได้ ไปลำเลียงกะเก่ง/สาวเชียงขวาง จิตใจปอดใส/ดั่งน้ำยวนพวนลื่นไหลเย็น/อยู่กองร่มแปด ลมพัดวี่วอน/…น่าออนซอน/แม่สาวกองหลอน/แห่งกองฮ้อยสิบสองมิลลิแปด/พวนฝึกแอบวิชาทหาร/เพื่อต้านทาน/กับโจรอากาด เมลิกา… ๐ โอ้…สาวเชียงขวาง/สาวบ้านเฮา/สมชื่อเป็นหญิงหนุ่มลาว/พีละอาจหาญ สมเป็นทหาร/ของประชาชน… ๐ เหมือนนกแอ่น/บินเจิดอยู่เมืองลาว/น่าฮักแท้แม่สาวเชียงขวาง/หน้าสวยๆตาดำๆ/คอกลม คิงบาง/บ่าพายปืน/ยิ้มแย้มแจ่มใส/พร้อมก้าวไป/ตามเส้นทาง/รับไซ้ปะเทดซาด… (ซ้ำจากท่อน “โอ้สาวเชียงขวาง/สาวบ้านเฮา/สมชื่อเป็น/หญิงหนุ่มลาว…จนจบท่อน “เหมือนนกแอ่นบินเจิดอยู่เมืองลาว”) (*หมายเหตุ: เนื้อเพลงผู้เขียนถอดจากการฟัง อาจมีถ้อยคำและเสียงที่ผิดเพี้ยนไปบ้าง) ที่ต้องยกเนื้อเพลงมาให้ดูกันทั้งกะบิ ก็เพราะอยากให้เห็นว่า “ลีลา” การรจนาถ้อยคำของ “คีตกวี” แบบ “อัตลักษณ์ลาว” นั้นเป็นอย่างไร คนที่ไม่คุ้นกับภาษาลาวอาจเข้าใจได้ยาก คงต้องอาศัยฟังความไพเราะเอาจากความเป็น “องค์รวม” ของเพลงก็แล้วกัน! แคน สาริกา นักเขียนนักหนังสือพิมพ์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองลาว เขียนให้ความเห็นเกี่ยวกับเพลงนี้ไว้หลายเรื่อง เช่นบอกว่า สหายไชยะสินเขียนเปรียบนักรบจรยุทธ์หญิงเหมือนกับนกแอ่น (ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นเชียงขวาง)ที่เริงร่าไปทั่วเมืองลาว ให้ภาพการต่อสู้ที่เปี่ยมเต็มไปความน่าเริงและความหวัง…บอกว่าผู้เขียนเพลงบรรยายธรรมชาติพืชพรรณ เช่น นาข้าว ไร่ข้าวโพด และไร่มันสำปะหลังในพื้นที่เขตเชียงขวางได้อย่างเห็นภาพ เป็นต้น ความดีเด่นของเพลง “สาวเชียงขวาง ทั้งงามทั้งเก่ง” พิสูจน์ได้โดยวันเวลาที่แม้จนบัดนี้ก็ยังยืนยงโด่งดัง แม้สหายไชยะสิน สีโคดจุนนะมาลี ผู้ให้กำเนิดเพลงมาแต่ช่วงทศวรรษ 1960 จะจากโลกนี้ไปแล้วเมื่อปีพ.ศ.2558 แต่ความอมตะของ “คีตกานท์” (lyric) ที่เขาประพันธ์ไว้ให้การปฏิวัติสปป.ลาวก็ยังคงแนบแน่นแฟ้นอยู่ในใจชน! นี่เอง!คือความทรงค่าที่แท้จริงของคีตกานท์ (Lyric) ที่แตกต่างจาก “เพลง” ทั่วๆไป ซึ่งในเรื่อง “คุณค่า” ด้านลึกดังกล่าวนี้ คงจะต้องพูดถึงกันต่ออีกสักเล็กน้อยกระมัง?!!!!