สถาพร ศรีสัจจัง เล่าความพอสังเขปเกี่ยวกับ “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolution lyric) ของ สปป.ลาวมาแล้ว จากเพลงปฏิวัติลาวอันทรงคุณค่าจำนวนมากมาย เราเพียงสามารถนำตัวอย่างที่ดีเด่นมาเสนอได้เพียง “หยิบ 3” คือเพียงพูดถึงได้ 3 เพลง อันได้แก่ “ดวงจำปา”หรือ “จำปาเมืองลาว”/ “ส่งพรปีใหม่” (เวอร์ชั่น จันสะไหม ไพยะสิด)/ และ “สาวเชียงขวาง ทั้งงามทั้งเก่ง” เท่านั้น ตอนนี้คงต้องถึงเวลาที่จะได้ “เล่า” ถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “คีตกานท์ปฏิวัติ” ของไทยเรากันได้แล้วละกระมัง! ในขบวนเพลงที่อาจกล่าวยกย่องได้ว่าเป็น “คีตกานท์ปฏิวัติ” ที่บรรดาผู้เป็น “คีตกวีชาวไทย” ได้ประพันธ์ไว้ (ทั้งเนื้อร้องและทำนอง) นั้นหากนับจำนวน ก็คงมากมายไม่น้อย เพราะเรามีคีตกวีที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ “ขึ้นถึง” ระดับ “คีตกานท์” (Lyric) ดังกล่าว มาตลอดยุคสมัยอันยาวนานในประวัติศาสตร์วงการเพลง เพลงขับขานที่มีเนื้อหาและท่วงทำนองที่แต่งขึ้นเพื่อกู่หาความเป็นธรรม กู่หาความเปลี่ยนทางสังคมเพื่อให้ก้าวไปสู่สังคมที่ดีกว่า เพลงที่มีเป้ามุ่งเพื่อยกระดับและกู้เกียรติกู้ศักดิ์ศรีของมวลประชามหาชนคนข้างมาก ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบถูกกดขี่ข่มเหงมาตลอดยุคสมัยของประวัติศาสตร์อันแสนจะเจ็บปวดขมขื่น ประวัติศาสตร์ที่คนกลุ่มน้อยมักจะใช้ “อำนาจเป็นธรรม”มากกว่าจะใช้ “ธรรมเป็นอำนาจ” ต่อคนส่วนใหญ่ ฯลฯ ในวาระนี้เราเพียงแต่จะขอ “เลือก” ผลงานของคีตกวีร่วมสมัย (Contemporary composer) บางท่าน (และเพียงบางชิ้น) มาเป็นตัวอย่างเท่านั้น เพื่อสำแดงว่า คีตกวีไทยร่วมสมัยมีความโดดเด่นยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์ “คีตกานท์ปฏิวัติ” เพียงใดและอย่างไร คีตกวีท่านแรกที่อยากอ้างถึง คือกวีนักปฏิวัตินาม จิตร ภูมิศักดิ์ ! นาม “จิตร ภูมิศักดิ์” ในห้วงยามนี้ของสังคมไทย คงได้รับการพิสูจน์ยืนยันอย่างไม่มีข้อกังขาต่อไปอีกแล้วกระมังว่า เป็น “ของแท้” ทั้งในฐานะ กวี คีตกวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักปฏิวัติ นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และโดยองค์รวมคือ “นักปราชญ์อัจฉริยะผู้เกิดก่อนกาล”! วาระนี้จะขอเพียงนำงาน “คีตกานท์ปฏิวัติ” ที่ยิ่งใหญ่ของท่าน มานำเสนอเป็นตัวแทนเพียง 2 ผลงาน นั่นคือเพลงเอกที่ชื่อ “แสงดาวแห่งศรัทธา” อันโด่งดังลือลั่น เป็นดั่งเพลงศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาผู้มีจิตวิญญาณ “ปฏิวัติ” ทั้งหลาย กับเพลงที่เกิดจากแรงบันดาลใจอันแสนทรงพลังต่อ “จิตใจปฏิวัติ” ที่ชื่อ “ภูพานปฏิวัติ” ของท่าน! เริ่มที่เนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” กันก่อน ขอให้สังเกตกลุ่มถ้อยคำที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นำมาผูกร้อยขึ้น ว่ามีความคล้องจองรื่นไพเราะเป็น “กานท์” ที่แท้จริงอย่างไร (โดยยังมิต้องใช้ทำนองขับขาน) ๐ พร่างพรายแสง-ดวงดาวน้อยสกาว/ส่องฟากฟ้า-เด่นพราว,ไกลแสนไกล/ดั่ง…โคมทอง-ส่องเรืองรุ้งในหทัย/เหมือนธงชัย/ส่องนำจากห้วงทุกข์ทน/พายุฟ้า…ครืนข่ม-คุกคาม/เดือนลับยาม…แผ่นดิน-มืดมน/ดาวศรัทธา…ยังส่องแสงเบื้องบน/ปลุก-หัวใจ…ปลุกคนอยู่…มิวาย… ๐ ขอเยาะเย้ย…ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ/คน…ยังคง-ยืนเด่นโดยท้าทาย/แม้…ผืนฟ้า-มืดดับเดือนลับละลาย/ดาวยังพราย…ศรัทธา-เย้ยฟ้าดิน…ดาว..ยังพราย…อยู่จน-ฟ้ารุ่งราง…… ในขบวน “ผู้มีจิตวิญญาณปฏิวัติ” (ในทุกระดับ) ทุกคราครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงนี้แว่วมา ฟังว่าล้วนแล้วแต่เปี่ยมปิติ,มีบ้างบางคนที่ “อิน” ถึงขนาดอย่างแท้จริง อาจถึงขนาดขับขานคลอเสียงตามโดยไม่รู้ตัว บ้างอาจถึงขั้นขนลุก น้ำตาคลอด้วยความตื่นเร้าแห่งแรงใจที่ได้รับ ฯลฯ จิตร ภูมิศักดิ์ รจนา “คีตกานท์ปฏิวัติ” บทนี้ขึ้น ขณะถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุกลาดยาว ด้วยคำสั่งของผู้ปกครองประเทศในขณะนั้น คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในข้อหา “สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร และการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2501 และได้รับการปลดปล่อยในฐานะ “ผู้บริสุทธิ์” เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2507 (แต่ถูกคุกคามติดตามตัวตลอดเวลา) รวมเวลาถูกคุมขังในคุกลาดยาวทั้งสิ้น ประมาณ 6 ปีเต็ม ความยิ่งใหญ่แห่งจิตวิญญาณปฏิวัติจากเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของ “คีตกวีปฏิวัติ” นาม จิตร ภูมิศักดิ์ คงต้องทำให้เราต้องพูดกันต่อถึงคุณค่าให้ชัดๆอีกสักหน่อยจะดีไหม?