เสือตัวที่ 6 ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพิสูจน์ทราบอย่างแน่ชัดว่า เป็นการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ มียุทธศาสตร์ และแผนงานการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ จึงส่งผลให้การต่อสู้กับรัฐสามารถกระทำได้อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน การขับเคลื่อนการต่อสู้ของขบวนการแห่งนี้ ให้ยังคงดำรงความต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเน้นยุทธศาสตร์การยึดครองประชาชนในหมู่บ้านเป็นฐาน และอาศัยการบ่มเพาะแนวความคิดการก่อความไม่สงบให้กับประชาชนเป้าหมายในพื้นที่ โดยอาศัยรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ เป็นเงื่อนไขสำคัญ ร่วมกับการใช้ความเป็นตัวตนเฉพาะถิ่นในพื้นที่ และหลักความเชื่อ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความรู้สึกนึกคิดให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นต่างจากรัฐ เพื่อนำประชาชนเหล่านั้น มาเป็นแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ในที่สุด ซึ่งรัฐได้ใช้ความพยายามอย่างแรงกล้าที่จะลดและขจัดเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะเงื่อนไขที่แกนนำขบวนการฯ มักจะปลุกปั่นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ด้วยบริบทของคำว่า ยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับประเทศไทย ที่คนส่วนใหญ่ยังไม่มีความคุ้นเคยในเรื่องนี้ หากแต่สามารถใช้แนวทางยุติธรรมเปลี่ยนผ่านนี้ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ปลายด้ามขวานได้ ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินงานที่เข้มแข็ง เป็นระบบ มีการไปพูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเข้าไปรับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และค้นหาความจริง ทั้งนี้ อาจจะเป็นในรูปแบบของการทำประชาพิจารณ์เพื่อให้ได้ความรู้ที่เป็นองค์รวม ทั้งนี้ กระบวนการทางยุติธรรม สามารถหล่อหลอมให้ประชาชนผู้หลงผิด และเคยเห็นต่างจากรัฐให้เปลี่ยนความคิด ปรับทัศนคติในการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่อีกแง่มุมหนึ่ง และรอบด้านมากขึ้น เพื่อให้เกิดการคิดเชิงบวก (Positive Thinking) มากขึ้น ด้วยการสีส่วนร่วมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและเคยหลงผิด เห็นต่างจากรัฐ ไม่ให้สร้างและขยายเครือข่ายแบ่งแยกดินแดน ตลอดจนไม่ให้กลับมากระทำความผิดซ้ำ อันเป็นการตัดวงจรขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างแท้จริง ด้วยยุติธรรมเปลี่ยนผ่านเพื่อการร่วมมือกันแก้ปัญหาและร่วมพัฒนาท้องถิ่นตามแนวทางสันติวิธี (Peaceful Way) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกครั้งหนึ่งนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบกลไกของเรือนจำที่ควบคุมผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงในพื้นที่ปลายด้ามขวาน จะต้องสอดประสานกันอย่างแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกันกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อให้เกิดระบบยุติธรรมเปลี่ยนผ่านนี้ เกิดประโยชน์กับงานด้านความมั่นคงโดยเฉพาะผู้หลงผิดทั้งที่ยังเป็นจำเลยและผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงและมีโอกาสสูงในการส่งต่อขยายความคิดเห็นต่างในแง่มุมต่างๆ กับรัฐไปยังผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ที่มีอยู่จำนวนมากในเรือนจำตางๆ ในพื้นที่ แม้กระบวนการในเรือนจำที่มีในปัจจุบัน จะดำเนินการด้วยการเคารพในสิทธิความเชื่อ และวิถีชีวิตตามหลักศาสนาอย่างมากแล้วก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารฮาลาล ที่ประกอบอาหารด้วยผู้ต้องขังชาวมุสลิมเอง หรือการละหมาดตามห้วงเวลาที่กำหนดในหลักศาสนาอิสลาม การปรับห้วงเวลารับประทานอาหารของพี่น้องผู้ต้องขังชาวมุสลิมให้เหมาะสมในห้วงถือศีลอด ตลอดจนการถ่ายทอดคำสอนตามหลักศาสนาก็ตาม หากแต่สภาพของความคิดที่ยังเป็นปัญหาคับข้องใจของผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงก็คือ การที่พวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร เหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้ผู้พ้นโทษและออกไปจากเรือนจำไปแล้ว ตลอดจนครอบครัว มีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่จะมีความหวาดระแวงการดำเนินการของรัฐอยู่ต่อไป ซึ่งล่อแหลมต่อการตกเป็นเป้าหมายในการขยายแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในรูปแบบต่างๆ ที่สืบทอดและร่วมขยายแนวคิดการเห็นต่างจากรัฐ เพราะความคิดของการไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมเหล่านั้น ได้ถูกแผ่ขยายถ่ายทอดไปยังกลุ่มผู้ต้องขังรายอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงฯ ด้วยกันในเรือนจำ ตลอดจนบุคคลในครอบครัว ที่มาเยี่ยมในเรือนจำ อันจะเป็นการขยายต่อความเห็นต่างจากรัฐให้กว้างขวางออกไป ด้วยเงื่อนไขความไม่เชื่อมั่นในระบบของรัฐตามที่กล่าวอ้าง ด้วยสภาพของความคิดในปัจจุบันของผู้ต้องขัง ที่สืบเนื่องจากการที่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ยอมรับในกระบวนการพิจารณาคดีที่ผ่านมาข้างต้น ยังส่งผลให้กลุ่มผู้ต้องขังเหล่านั้น มีความคิดที่ขุ่นเคืองรัฐ ด้วยคิดว่า รัฐ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนในครอบครัวของเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ด้วยความยากลำบาก ด้วยผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นหลักสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้ ถูกพิจารณาว่ามีความผิดในคดีความมั่นคงฯ ตามที่ถูกกล่าวหา จึงทำให้ถูกจำขังในเรือนจำ อันส่งผลให้คนอันเป็นที่รักของคนเหล่านี้ ต้องลำบากในการใช้ชีวิต ความรู้สึกเหล่านี้ ยิ่งตอกย้ำความคับข้องใจของผู้ต้องขังเหล่านี้ ให้มีความเห็นต่างจากรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มของความคับข้องใจจนเป็นเหตุของความคิดแปลกแยกแตกต่างจากรัฐมากขึ้น รวมทั้งสมาชิกในสมาชิกครอบครัวของผู้ต้องขัง ที่ยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิตในท้องถิ่นเดิมของตน ด้วยหวาดระแวงจากการสืบทอดความคิดต่อๆ กัน และคิดไปเองว่า อาจถูกเจ้าหน้าที่รัฐเพ่งเล็ง ตรวจสอบพฤติกรรมเป็นพิเศษ จนถึงขั้นคิดไปว่าอาจถูกยัดเยียดข้อหาความมั่นคง เหล่านี้คือต้นตอของความเห็นต่างจากรัฐ อันเป็นเงื่อนไขในเรือนจำซึ่งถือเป็นแดนลับจากโลกภายนอกที่ล่อแหลมต่อการขยายแนวคิดแปลกแยกจากขบวนการแบ่งแยกดินแดน ให้เกิดแนวร่วมขบวนการฯ ได้โดยง่าย บนพื้นฐานของการไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ซึ่งนั่น จะเป็นมูลเหตุสำคัญในการขยายความคิดคับข้องใจ ออกห่างจากรัฐ และมีแนวโน้มในการปลีกตัวออกห่างจากรัฐมากขึ้น ทั้งตัวผู้ต้องขังเอง ตลอดจนสมาชิกในครอบครัว และมิตรสหายในพื้นที่ ให้ออกห่างจากรัฐ และมีโอกาสเข้าเป็นแนวร่วมในขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จชต. ได้ในที่สุด กระบวนการสร้างความเห็นต่างจากรัฐในเรือนจำ จึงเป็นเงื่อนไขในแดนลับที่หน่วยงานความมั่นคงจะมองข้ามไม่ได้