สถาพร ศรีสัจจัง นอกจากเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” อันเปี่ยมเต็มด้วยพลังแห่งการปลุกใจให้คนรักความถูกต้องเป็นธรรมมีกำลังใจ กล้า “ลุกขึ้นสู้” ต่ออำนาจอัน “อธรรม” ทั้งหลายทั้งปวง (ที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน) แล้ว จิตร ภูมิศักดิ์ ยังได้รจนา “คีตกานท์” ตามวาระโอกาสต่างๆ แห่งเงื่อนเหตุชีวิตของท่านอีกหลายเพลง จากการสำรวจที่มีผู้เขียนถึงก็ไม่น้อยกว่า 20 เพลงเข้าแล้ว ที่ยังตกค้างสำรวจตรวจสอบซ่อนซุกอยู่ในแหล่งต่างๆ ก็อาจจะยังมีอีกไม่น้อย ในห้วงเวลาเพียง 35 ปี ของชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์ มีช่วงแห่งการสร้างสรรค์ “คีตกานท์” ที่สำคัญๆ น่าจะแบ่งได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ คือ : ช่วงแรก ขณะเป็นนิสิตอยู่ในคณะอักษรศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (น่าจะเข้าประมาณ พ.ศ.2495/ถูกจับ “โยนบก” ปี 2496/ถูกสั่งพักการเรียนปี 2497 / เข้าเรียนใหม่ 2498 /สำเร็จการศึกษาปี 2505) ช่วงที่ 2 ระหว่างถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุกลาดยาวโดยคำสั่งของเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยข้อหา “สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร และการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” เป็นเวลาประมาณ 6 ปี (ระหว่างพ.ศ.2501-2507) และ ช่วงที่ 3 หลังตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองด้วยกำลังอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แถบเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร จากช่วงปี 2508 จนกระทั่งถูก “ล้อมยิง” เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ที่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร (•••สองห้าศูนย์เก้า…แดดลบเงา-จางหาย…เขาตายอยู่ข้างทางเกวียน…ศพคนนี้นี่หรือ คือจิตร ภูมิศักดิ์…/จากท่อนหนึ่งในเนื้อเพลง “จิตร ภูมิศักดิ์” ของวง “คาราวาน” แต่ง-ขับร้อง โดย สุรชัย จีนทิมาธร: ศิลปินแห่งชาติ) จากปากคำของ “วรศักดิ์ มหัทธโนบล” ที่อ้างต่อๆกันมาบอกว่า ช่วงหลังถูกโยนบก จิตรได้รับการติดต่อ “จัดตั้ง” จากคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว บทเพลงที่จิตรแต่งขึ้น(หลังจากกลับเข้ามาเรียนใหม่)ในช่วงนี้ จึงมักเป็นเพลงประเภท “มาร์ช” เพื่อปลุกใจคนชั้นล่างหรือเยาวชนในสังคม เช่นเพลง มาร์ชเยาวชนไทย/เพลง มาร์ชกรรมกรไทย/เพลง มาร์ชแอนตี้จักรวรรดินิยม ส่วนเพลงอื่นๆก็มี เช่น “ธรรมศาสตร์-จุฬา ชิงชัย” เพลง “เปิบข้าว” (สุรชัย จันทิมาธร ตัดบางท่อนจากบทกวีขนาดยาวของจิตร ภูมิศักดิ์ มาใส่ทำร้องเป็นเพลงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516) เป็นต้น ช่วงขณะถูกจำขังอยู่ในคุกลาดยาว ( 6ปี) มีเพลงสำคัญๆที่ทรงคุณค่าเชิง “คีตกานท์” (Lyric) สูงยิ่ง ปรากฏขึ้นหลายเพลงด้วยกัน ที่สำคัญเช่น เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” (ที่เหมือนกลายเป็น “เพลงชาติ” ของบรรดานักต่อสู้ทางการเมืองยุคใหม่แทบทุกฝ่ายไปแล้ว)/เพลง “วีรชนปฏิวัติ”/ เพลง “อินเตอร์เนชั่นแนล” (แองแตร์นาซิยงนาล)/เพลง “เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ”/เพลง “ทะเลชีวิต” /เพลง “อาณาจักรแห่งความรัก” เป็นต้น ช่วงที่เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แม้เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่จะมุ่งรับใช้ “พรรค” โดยตรง แต่ด้วย “จิตวิญญาณ” แท้แห่งความเป็น “คีตกวี” (The composer) เพลงของจิตร ภูมิศักดิ์ จึงมักแฝงด้วยชุดภาษาที่สวยงามทรงพลัง ที่ส่งผลสะเทือนทางอารมณ์ของผู้ฟัง ลบความเป็น “กลไก” ของเนื้อหาที่ต้องการสื่อได้มาก เป็นงานศิลปะในสกุล “Neo-realism” อย่างแท้จริง เพลงสำคัญๆในช่วงนี้ก็ เช่น “มาร์ชกองทัพปลดแอกประชาชนไทย” เพลง “ภูพานปฏิวัติ” เพลง “กลิ่นรวงทอง” ฯลฯ มีบางเพลงที่จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนขึ้นเป็นพิเศษเพื่อสถานการณ์เฉพาะกรณี เช่นเพลง “จอมใจนางแก้ว” ที่แม้จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก แต่เป็นรักที่มี “มวลชน” เป็นพื้นฐาน โดยเพลงนี้เขาแต่งขึ้นเพื่อมอบให้ “สหายกลาโหม” ซึ่งเป็นทหารพิทักษ์ของเขา เพื่อนำไปมอบให้หญิงสาวคนรักที่มีภารกิจปฏิวัติต้องทำให้แยกห่างจากกัน กล่าวโดยสรุป โดยห้วงเวลาเพียงประมาณ 1 ทศวรรษ คีตกวีชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้สร้างสรรค์ “คีตกานท์” บทสำคัญๆไว้เป็นมรดกประดับวงการคีตกานท์ไทยอย่างน่าชื่นชมยกย่อง และ สรรเสริญในพลังใจ /พลังวิริยภาพ และพลังแห่งศิลปาการ เป็นยิ่งนัก! เรื่องยังไม่จบ ครั้งหน้าเราจะพิจารณาเนื้อเพลงยิ่งใหญ่ของคีตกวีท่านนี้อย่างลงรายละเอียดกันสัก 2 เพลง นั่นคือ เพลง “วีรชนปฏิวัติ” และ เพลง “ภูพานปฏิวัติ” ที่ฟังว่า เคยมีนักเรียนระดับปริญญาเอกด้านดนตรีชาวไทยบางท่าน เคยนำเพลงนี้ไปเรียบเรืองเสียงประสานให้ออร์เคสตร้าวงใหญ่บรรเลงเป็น “เพลงวิทยานิพนธ์” ให้อาจารย์ฝรั่งชาวสหรัฐอเมริกาสอบผ่านมาแล้ว!!!