สถาพร ศรีสัจจัง ห้วงยามที่จิตร ภูมิศักดิ์ เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จากช่วงปี 2508 และ ต้องจบชีวิตลงด้วยการถูก “ล้อมยิง” ที่บ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่ยาวนานนัก แต่คีตกวีท่านนี้ก็ได้สร้างสรรค์ “คีตกานท์ปฏิวัติ” ที่ยั่งยืนไว้ประดับสังคมไทยไม่น้อย มีอยู่อย่างน้อย 2 เพลงที่อาจนับได้ว่าสำคัญมาก และมีเนื้อหาสนองตอบความต้องการของพรรคคอมมิวนิสต์ ในยามนั้นได้มากที่สุดคือเพลง “ภูพานปฏิวัติ” และ เพลง “มาร์ชกองทัพปลดแอกประชาชนไทย” เพลง “วีรชนปฏิวัติ” จิตรเขียนขึ้นขณะถูกจำขังด้วยข้อหา “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” อยู่ในคุกลาดยาว และจากข้อมูลเชิงวิชาการก็ได้รับการยืนยันว่าในช่วงยามนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้รับการ “จัดตั้ง” จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว! อีกเพลงคือเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ที่เปี่ยมเต็มไปด้วยองค์รวมแห่งพลังศิลปะและเนื้อหาที่จุดเพลิง จิตวิญญาณนักปฏิวัติชาวพรรคคอมมิวนิสต์ไทยผู้มุ่งโค่นล้มสังคมทรามให้คุโชน! ลองพิจารณา “คำ” ในเนื้อเพลงทั้ง 2 เพลงดูกันเถิดว่า กวีอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์เป็น “นายของภาษา” และ สามารถ “สั่งคำได้เหมือนใจ” แบบผู้มีจิตวิญญาณกวีแท้อย่างไร! ต่อไปนี้คือเนื้อเต็มๆของเพลง “วีรชนปฏิวัติ” : “(สร้อย) ๐ ลูกไทย-ห้าวหาญ/สู้เผด็จการ-ทารุณมิเคยไหวหวั่น/เผด็จการ-ประหารชีวัน/ศรัทธายังมั่น/เสมอจนสิ้นใจ… ๐ เลือดไทย-สาดแดง/ลงอาบระแหง…ซึมซาบ-แผ่นดินกว้างใหญ่/ดุจเปลวเพลิง/ที่โหมดวงใจ/ปะทุเป็นไฟ/เคียดแค้นคุโชน… ๐ ตื่นเถิดลูกไทย/จงเหมือนไฟที่ราดน้ำมัน/โลดถลาห้ำหั่น/สมุนและจักรพรรดินิยม/เลือดศัตรู ต้องหลั่ง/ด้วยแรงพลัง-ลูกไทยระดม/เมืองไทย…ต้องเป็นของไทย/ประชาไทย…ต้องมีเสรี/เลือดเนื้อของวี-รชนเพิ่มแค้นทับถม/เพื่อนทรุด-เรายังไม่ล้ม/จะล้างผู้ข่ม-ขี่ไทยสืบแทน…(สร้อย) ๐ ตื่นเถิดลูกไทย/จงพร้อมใจร่วมสามัคคี/สู้ทั้งน้องทั้งพี่-ทั้งสาวทั้งหนุ่มเด็กเล็กชรา/กลิ่นเลือดคาวคลุ้งอยู่/ไม่อาจทนดูด้วยความมึนชา/รวมพลังเถิดเราผองไทย/เกรียงไกร-หยัดยืนมั่นคง/โค่นล้มมันลง-พวกคลั่งสงครามขายชาติ-ประชา/จักรพรรดิอเมริกา/เหยียดไทยเป็นทาส/กวาดล้างออกไป… ๐ บากบั่นอดทน/เราผองชนต้องบรรลุชัย/สู้-พ่ายแพ้-สู้ใหม่/พ่ายแพ้-สู้ใหม่/จนชัยได้มา/หยาดเลือดไทยยิ่งหลั่ง/ยิ่งเพิ่มพลังให้เราหันฝ่า/เราตาย…อย่างวีรชน/ปวงชน…ต้องมีเสรี/อุทิศชีวื/เพื่อศักดิ์ศรีไทย-ดำรงคู่ฟ้า/ดั่งแสงตะวันแรงกล้า…/สาดแสงเจิดจ้า…ทั่วแคว้น…แดนไทย…" และต่อไปนี้คือเพื้อเพลง “ภูพานปฏิวัติ” : " ๐ ยืนตระหง่านฟ้า…/แผ่ไพศาลทิวยาวยอดสูง…ตระหง่าน/ภูพาน-มิ่งขวัญคู่หล้า,แหล่งไทย…/ ธงพรรคเด่นแดงเพลิงสะบัดโบกพริ้วเหนือภู/สู้พายุโหมหวิวหวู-ไม่เคยหวั่นไหว/ประทีบแห่งยุค/เหมือนแสงอาทิตย์อุทัย/ประทีบแห่งชัย/มิได้หวั่น/มั่นในศรัทธา… ๐ นักรบเหนือภูพาน/ทหารของมวลชน/เด็ดเดี่ยวอดทน/เลือดเนื้อพลีเพื่อประชา/ทุกดงดิบลำเนา/ขุนเขาสูงเสียดฟ้า/พวกเราฟันฝ่า/ดั้นด้น…ทนทาน… ๐ เสียงปืนก้องคำ-ราม/คุกคามที่วแดนดง/ระเบิดทุ่มลง-ปานฝนไม่เคยสะท้าน/สงครามประชาชน/ทุกคนล้วนอาจหาญ/ยืนหยัดตระหง่าน/ดังภูพาน-ไม่หวั่นผองภัย… ๐ มวลชนเกรียงไกร/ชี้ขาดชัยสงคราม/เพลิงปฏิวัติ…/แผ่สะพัด…โหมฮือ…เป็นเปลวลุกลาม/ธง…แดงเด่นงาม/โบกทายท้า…เหนือยอด…ภูพาน…!ฯฯ" ดูเนื้อเพลง “วีรชนปฏิวัติ” กันสักหน่อยก่อนเป็นไร เพลงนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นบริบทสังคมไทยแต่เมื่อ 60 ปีที่แล้ว แต่มีคำอย่างน้อย 2 คำ ที่ยังคงทันสมัยอยู่จนปัจจุบัน คือคำ “เผด็จการ” และคำ “จักรพรรดินิยมอเมริกา” ! สำหรับคำ “เผด็จการ” นั้นคงไม่ต้องพูดอธิบายอะไรมากก็คงพอเข้าใจกันได้ เพราะในยุค “โซเชียลเฟื่อง” อย่างปัจจุบัน ถ้าใครเซอเวย์เข้าไป “ออฟเสริฟ” ก็จะพบคำนี้ “เกลื่อน” จอทีเดียวเชียวแหละ! ในสภาผู้แทนราษฎรนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่มีคำไหนอีกแล้วที่จะฟูเฟื่องในหมู่พรรคฝ่ายค้านเท่ากับคำ “เผด็จการ” จนชาวบ้านส่วนที่ได้ฟังอภิปรายอยู่บ้างบ่อยๆบอกว่าชัก “เลี่ยน” กับคำนี้เต็มที! ทั้งไม่รู้ด้วยว่า ความหมายที่แท้ของคำ “เผด็จการ” เป็นอย่างไรกันแน่ โดยเฉพาะที่นักวิชาการเขาเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” กับ “เผด็จการทหาร” นะมันต่างกันอย่างไร และอะไรที่ชั่วช้าสามานย์กว่ากัน? ส่วนคำ “จักรพรรดินิยมอเมริกา” ที่นับวันจะยิ่ง “ล่อนจ้อน” ขึ้นทุกทีๆ นั้นคงต้องค่อยว่ากันให้ ละเอียดสักหน่อย ตอนนี้จากคำในเพลงเพียง 2 คำ ก็รู้กันแล้วกระมังว่า ที่เขาสรุปกันว่าจิตร ภูมิศักดิ์ เป็น “อัจฉริยะผู้เกิดก่อนกาล” นั้น ช่างเป็นคำนิยามที่ถูกต้องตรงเผงจริงๆ!!!!