สถาพร ศรีสัจจัง ไม่ว่าจะในยุคไหนๆหรือโดยสำนักคิดชื่ออะไร การประเมินคุณค่างานศิลปะวรรณกรรมทุกประเภท-รวมถึงงานประเภท “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolution lyric) จะต้องพิจารณาที่องค์ประกอบ 2 ส่วนหลักของงานชิ้นนั้นๆ นั่นคือ “รูปแบบ” (Form)กับ “เนื้อหา” (Content) โดยจะมีกระบวนการพิจารณาว่า ผู้สร้างสรรค์คนนั้นๆหรือกลุ่มนั้นๆ สามารถหลอมรวม 2 องค์ประกอบดังกล่าวเข้าด้วยกันอย่าง “ศิลปะ” เพื่อใช้ “พลังทางศิลปะ “สะท้อนถ่าย” เป้าประสงค์'แห่งเรื่องราวที่ต้องการจะ “สื่อ” หรือไม่? อย่างไร? และแค่ไหน? (ความสูงส่งที่เป็นองค์รวมแห่ง “คุณภาพ” ของชิ้นงานผ่านความรับรู้ของผู้คนที่สัมผัส เช่น ผู้รับสารรู้สึกมี harmony ในพลังที่สะท้อนตกกระทบจากงานศิลป์ชิ้นนั้นๆ จากการอ่านหรือฟังแค่ไหน เพียงใด/ผู้สร้างงานชิ้นๆนั้นมีศิลปะในการใช้ถ้อยคำหรือภาษาอยู่ในระดับ “สั่งคำได้เหมือนใจ” หรือเป็น “นายแห่งถ้อยคำ” แค่ไหน อย่างไร/ เป็นต้น) มี “ผู้รู้และผู้เล่น” ที่เกี่ยวข้องกับวงการ “คีตกานท์” จำนวนมาก (อย่างน้อยก็ในสังคมไทยช่วง 4 ทศวรรษที่พ้นผ่าน) ให้ข้อสรุปตรงกันในระดับที่ “น่าเชื่อถือ” ได้แล้วว่างานเพลง “วีรชนปฏิวัติ” และ “ภูพานปฏิวัติ” ที่จิตร ภูมิศักดิ์ สร้างสรรค์ขึ้น ทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาและรูปแบบ(ถ้อยภาษาและทำนอง) ที่ยกมาเป็นตัวอย่าง สามารถหลอมรวมความเป็นองค์อัตนัยและปรนัยได้อย่างมีเนื้อและรูปแบบที่ลงตัว สมบูรณ์ตามเป้าประสงค์เป็นอย่างยิ่ง นับเป็นงานศิลป์ที่ประเมินได้ว่ามีเนื้อหาที่บอก และ ยืนยันสัจธรรมตามจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนของท่านผู้แต่ง มีรูปแบบที่อิ่มล้นไปด้วยความมีศิลปะ ทั้งในด้านถ้อยคำ(wording) และ ท่วงทำนอง (melody) ก่อพลังสะเทือนใจและปลุกเร้าให้ผู้คนที่มีจิตวิญญาณใฝ่หาความเป็นธรรมทางสังคมเกิดความรู้สึกร่วมในแง่การเสริมพลังการ “กล้าต่อสู้-กล้าเสียสละ” อย่างตรงเป้าประสงค์(Goal) ลองหยิบบางถ้อยคำภาษาที่ปรากฏในเพลงทั้ง 2 เพลงขึ้นมาสาธิตพิจารณากันสักหน่อยก็ได้ (ที่ดีจะต้องฟังเสียงเพลงขับขานไปพร้อมๆกันด้วย เพราะถ้อยคำเหล่านี้เขียนขึ้นเพื่อใช้ขับขานผ่านพลังเสียง และจังหวะดนตรี) เช่น : บางท่อนในเพลง “วีรชนปฏิวัติ” : “ …ลูกไทย-ห้าวหาญ/สู้เผด็จการทารุณไม่เคยไหวหวั่น/เผด็จการประหารชีวัน/ศรัทธายังมั่น/เสมอจนสิ้นใจ…” ท่อนนี้เป็น “ท่อนเปิด” ของเพลง เป็น “สร้อย” ในทำนอง “ท่อนฮุค” ที่ต้องการตอกย้ำแบบ “ซ้ำแล้วซ้ำอีก” ว่า ความตั้งมั่นในจิตวิญญาณแห่งความเป็นเสรีชนก็คือ จะขอปฏิญาณตนต่อสู้กับ “เผด็จการ” (หมายถึงระบบการปกครองและบุคคลตัวแทนระบบที่ใช้อำนาจนั้น)จนตราบตัวตาย…นี่คือการประกาศเจตนาที่แจ่มชัด ใช้คำน้อยได้ความมาก และมีความแจ่มขัดแบบไม่ปิดบังเป้าประสงค์ น้ำเสียง และจังหวะของถ้อยคำมีความแจ่มชัดตรงไปตรงมา แต่เต็มไปด้วย “ศิลปะ” แบบที่เรียกว่ามีทั้งclearity และ simplicity ไปพร้อมๆกัน จากนั้นก็เปิดเนื้อหาเพลงท่อนที่ 2 ด้วยการย้ำเน้นว่าเลือดไทยที่ถูกเผด็จการย่ำยีนั่นเป็นประดุจเปลวเพลิงที่โหมกระหน่ำพลังใจให้คุโชนขึ้นเพื่อต่อต้าน แล้วต่อด้วยวาทกรรมแบบบ “สวนกระแทก” ว่า… “…ตื่นเถิดลูกไทย/จงเหมือนไฟที่ราดน้ำมัน/โลดถลาห้ำหั่น/สมุนและจักรพรรดินิยม/…เมืองไทยต้องเป็นของไทย/ประชาไทยต้องมีเสรี/เลือดเนื้อของวีรชนเพิ่มแค้นทับถม/เพื่อนทรุด เรายังไม่ล้ม/จะล้างผู้ข่ม-ขี่ไทยสืบแทน…” ท่อนนี้เนื้อหาชัดจนไม่ต้องตีความอีกกระมัง? แล้วต่อความไปอีกว่า… “ตื่นเถิดลูกไทย/จงพร้อมใจร่วมสามัคคี/สู้ทั้งน้องทั้งพี่/ทั้งสาวทั้งหนุ่ม-เด็กเล็ก-ชรา…” และว่า “…บากบั่นอดทน/เราผองชนต้องบรรลุชัย/สู้-พ่ายแพ้-สู้ใหม่,พ่ายแพ้-สู้ใหม่,จนชัยได้มา……เราตายอย่างวีรชน/ปวงชนต้องมีเสรี/อุทิศชีวี/เพื่อศักดิ์ศรีไทยดำรงคู่ฟ้า……” ส่วนอีกเพลง คือเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ผู้แต่งคือ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งขึ้นในขณะที่ตัวเองร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอยู่ในเขตป่าเขาแล้ว มี “มีเสรีภาพ” ทางความคิดเต็มที่ มีเป้าหมายในการแต่งที่ชัดเจน โดยไม่ต้อง “อำพรางแก่นแกน” เหมือนตอนที่ยังต่อสู้กับผู้ปกครองเผด็จการอยู่ในเขตเมือง เนื้อหาในบทเพลง จึงสามารถใส่ “อารมณ์และถ้อยคำเนื้อความ”ได้อย่างเต็มที่ งานจึงมีความแจ่มชัดเรียบง่าย (clearity and simplisity) และ “สื่อความตรง” อย่างไม่ต้องตีความ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้แต่งก็ยังคงดำรงความมีสุนทรียะด้านภาษาตามลักษณะของ “กวี” ชั้นเลิศไว้ได้อย่างไม่ตกหล่น ในแง่นี้ เราคงจะต้องตามไปดูรายละเอียดเนื้อเพลง “ภูพานปฏิวัติ” กันสักหน่อยแล้วละกระมังว่า,ที่ว่าเป็นงาน “คีตกานท์” ที่มี “สุนทรียะชั้นเลิศด้านภาษา” นั้นเป็นอย่างไรเผื่อว่า,บางที คนที่เคย “มืดบอด” กับความเป็น “นายภาษา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ จะได้ “ตาแจ้ง” ขึ้นมาเสียบ้าง!!!