สถาพร ศรีสัจจัง “เนื้อนัย” ของเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ รจนาขึ้น ณ ฐานที่มั่นบนเทือกเขาภูพาน ในช่วงยามที่ตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อมุ่งโค่นล้ม “อำนาจรัฐอธรรม” ในช่วงปลายทศวรรษ 2500 มีดังนี้ : “ ๐ ยืน…ตระหง่านฟ้า/แผ่ไพศาลทิวยาวยอดสูง-ตระหง่าน/ภูพานมิ่งขวัญคู่หล้า…แหล่งไทย/ธงพรรคเด่นแดงเพลิง/สะบัดโบกพลิ้วเหนือภู/สู้พายุโหม..หวิวหวู…ไม่เคยหวั่นไหว/ประทีบแห่งยุค-เหมือนแสงอาทิตย์อุทัย/นำทางสู่ชัย…มิไหวหวั่น-มั่นในศรัทธา… ๐ นักรบเหนือภูพาน/ทหารของมวลชน/เด็ดเดี่ยวอดทน/เลือดเนื้อ-พลีเพื่อประชา/ทุกดงดิบลำเนา/ขุนเขาสูงเสียดฟ้า/พวกเราดั้นด้น…ทนทาน… ๐ เสียงปืนก้องคำราม/คุกคามทั่วแดนดง/ระเบิดทุ่มลงปานฝน-ไม่เคยสะท้าน/สงครามประชาชน/ทุกคนล้วนอาจหาญ/ยืนหยัดตระหง่าน/ดังภูพาน-ไม่หวั่นผองภัย… ๐ มวลชนเกรียงไกร/ชี้ขาดชัยสงคราม/เพลิงปฏิวัติ/แผ่สะพัด-โหมฮือเป็นเปลวลุกลาม/ธงแดงเด่นงาม/โบกทายท้า…เหนือยอดภูพาน…ฯ" ด้วยตัวอย่าง “คีตกานท์ปฏิวัติ” เพียง 3 เพลง ของ คีตกวี “อัจฉริยะผู้มาก่อนกาล” นาม จิตร ภูมิศักดิ์ คือเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” / “วีรชนปฏิวัติ” /และ “ภูพานปฏิวัติ” ตอบคำถามอะไรเราบ้าง? ที่ตอบแน่นอนก็คือ “กวีฤารู้แล้งแหล่งสยาม”! หรือบางใครที่คิดว่าตัวเอง “รังเกียจการติดบุคคล” หรือ “ไม่ชอบวีรบุรุษ” ก็อาจตอบแบบเลี่ยงบาลีไปหาคำเปรียบแบบอื่น เช่น อาจบอกว่า จิตร ภูมิศักดิ์ คือตัวอย่างของสำนวนที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เป็นต้น เพราะเขาสามารถอธิบายได้ว่า ถ้าจิตรเกิดในประเทศที่ประกาศตนว่าเป็น “เสรีนิยมประชาธิปไตยจ๋า” อย่างสหรัฐอเมริกา หรือยุโรปบางประเทศ บริบททางสังคมแบบนั้น อาจจะไม่ก่อจิตวิญญาณให้ “เขาตัดสินใจกล้าลุกขึ้นสู้” กับ “อำนาจ” ที่ไม่เป็นธรรมในสังคม แบบเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน ตามคติ “ไม่กลัวการเสียสละ-ไม่กลัวตาย” ! อย่างที่เราได้เห็นกันแบบชัดๆในประวัติศาสตร์ชีวิตของกวีนักปราชญ์-นักปฏิวัติท่านนี้! จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดในสังคมประเทศไทยในห้วงยามที่บ้านเมืองยังมีข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์อยู่มาก แม้เขาจะถือกำเนิดมาดูโลก เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2473 ซึ่งเป็นเวลาก่อนการ “อภิวัฒน์ใหญ่” ถึง 2 ปี (ไทยเปลี่ยนระบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็น “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475) ซึ่งนั่นหมายความว่า-เขาเติบโตขึ้นในช่วงยามที่ประเทศนี้ประกาศว่า ประเทศของตนเป็น “ประชาธิปไตย”แล้ว! แต่ใครที่สนใจประวัติศาสตร์สังคมไทยอยู่บ้าง ย่อมรู้ดีว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2475 ซึ่งเป็นปีเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จนถึงถึงปี 2509 (ที่จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกกลุ่มจัดตั้งติดอาวุธ-เครื่องมือของอำนาจรัฐ “อธรรม” ในห้วงยามนั้น “ล้อมยิง” จนเสียชีวิต เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2509) นั้นสภาพการปกครองของประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง? คำตอบก็คือ มีระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งช่วงสั้นๆ สลับกับการรัฐประหารยึดอำนาจโดยกลุ่มกองกำลังจัดตั้งติดอาวุธที่เรียกว่า “ทหาร” เพื่อให้ “หัวหน้า” หรือ “นอมินี” ของคนกลุ่มตนขึ้นปกครองเสวยอำนาจ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าหมู่พวกใน “ชนชั้น” ตน ทั้งทางตรงและทางอ้อมแบบยาวยาวๆ ! ส่วนใหญก็ด้วยเหตุอ้าง “สูตรสำเร็จ” เหมือนๆกันที่ว่า “เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง”! และเมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนั้น กวีผู้มีจิตวิญญาณปฏิวัติอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ จึงสำแดง “พลังแห่งคีตกานท์” ให้ปรากฏผ่านพลังทางภาษาในรูปแบบต่างๆ ทั้งเรื่องเล่า เรื่องแปล บทกวี และที่สำคัญคือส่งป่านบท “คีตกานท์ปฏิวัติ” บท “คีตกานท์ปฏิวัติ” ที่งดงามไปด้วยพลังกวีนิพนธ์ และ ท่วงทำนองขับขานที่เรียกว่า “เพลง” จึงก่อเกิดขึ้นประดับวงการวัฒนธรรมการสร้างสรรค์งานศิลป์ในสังคมไทยสืบมา ไม่ว่าจะเป็นเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”/ “เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ”/มาร์ชกองทัพปลดแอกประชาชนไทย/ “กลิ่นรวงทอง”/ “วีรชนปฏิวัติ”/หรือ “ภูพานปฏิวัติ” และ อีกมากมาย! นาม “จิตร ภูมิศักดิ์” จึงนับเป็นต้นแบบคีตกวีคนสำคัญยิ่ง ที่สังคมไทยจะต้องจารึกไปอีกนานเท่านาน ในฐานะที่นอกจากจะเป็นกวีนักคิดที่ยิ่งใหญ่แล้ว ยังเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสียงของประชาชนเพื่อ เปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่สังคมที่ก้าวหน้าและมีความเป็นธรรมมากขึ้น ดังคติที่ท่านผู้นี้ได้สำแดงให้เห็นว่าท่านยึดกุมไว้ประจำใจตลอด ที่ว่า : " ๐ แม้นคนพันบัญชาชี้หน้าเย้ย/จงขวางคิ้วเย็นชาเฉยเถิดสหาย/ต่อผองเหล่านวชนเกิดกร่นราย/จงน้อมกายก้มหัวเป็นงัวงาน !!!ฯ