เสือตัวที่ 6 ระบบยุติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาของรัฐ จากการวิจัยของนักวิชาการด้านความมั่นคง พบว่า ยังไม่สามารถสร้างหลักประกันความเชื่อมั่นให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐ ในระบบยุติธรรมได้เท่าที่ควร โดยเฉพาะผู้ที่เป็นจำเลยในความผิดในคดีความมั่นคง ซึ่งถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ระหว่างการพิจารณาคดี และผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำในคดีความมั่นคงเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ซึ่งประเด็นความยุติธรรมในพื้นที่ขัดแย้งแห่งนี้ เป็นเงื่อนไขหลักประการหนึ่งการปลุกระดม สร้างความแตกแยก แตกต่างทางความคิดของคนในพื้นที่ปลายด้ามขวานกับคนถิ่นอื่นของประเทศ เพื่อร่วมกันต่อต้านการปกครองจากรัฐในรูปแบบต่างๆ แล้วแต่ระดับความถลำลึกของการเข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกการปกครอง คำถามสำคัญที่น่าสนใจว่า การส่งต่อความคิดแปลกแยก แตกต่าง จนถึงขั้นเกลียดชังกับคนที่มีวิถีที่แตกต่างจากคนในกลุ่มตน ในทัณฑสถาน หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าเรือนจำ อันเป็นดินแดนลับที่ผู้คนในสังคมภายนอกมีโอกาสที่จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นหรือความเป็นไปของคนในพื้นที่เรือนจำทั้งหลายได้น้อยมาก อันเป็นช่องว่างให้ผู้ต้องขังในคดีด้านความมั่นคง ทั้งในฐานะจำเลยและที่เป็นผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดแล้วเหล่านั้น มีการสื่อสารถ่ายทอดความคิดและความเชื่อของการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งมีการส่งต่อความคิดแปลกแยกเหล่านั้นไปยังกลุ่มคนในคดีอื่นๆ ที่อยู่ร่วมกันในเรือนจำ ให้ขยายแนวร่วมขบวนการอย่างลับๆ ในแดนลับเหล่านั้นหรือไม่ อย่างไร ล้วนเป็นคำถามสำคัญที่ต้องค้นหา เพื่อให้การดำเนินการสกัดกั้นการบ่มเพาะแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ แม้ว่าจะเป็นกลุ่มคนในแดนลับเหล่านั้นก็ตาม นอกจากนั้น การเข้ามาเป็นผู้ต้องขังในแดนลับเหล่านี้ ย่อมเป็นโอกาสที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งผู้คุมเรือนจำและฝ่ายความมั่นคง จะได้ร่วมมือกันดำเนินการที่ตอบสนองการแก้ไขปัญหาการบ่มเพาะแนวคิดแปลกแยก ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยจะต้องบูรณาการความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่าย ให้มีเป้าหมายเดียวกันในการดำเนินการทุกรูปแบบเพื่อสนองเป้าหมายด้านความมั่นคงเป็นสำคัญสูงสุด ซึ่งต้องแตกต่างจากการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ที่มีต่อผู้ต้องขังในเรือนจำอื่นๆ ของประเทศ ทั้งยังต้องมีกระบวนการทำให้บุคคลที่อยู่ในความควบคุมของรัฐ (เรือนจำ) เหล่านั้น กลับมาเป็นประโยชน์ในการแสวงหาความร่วมมือ สร้างความเข้าใจอันดีกับรัฐ เพื่อเป็นพลังในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ได้โดยสมบูรณ์ ด้วยความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านในรูปแบบเฉพาะเรือนจำปลายด้ามขวาน ให้เป็นหลักความยุติธรรมที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำที่ร้ายแรง โดยมีเป้าหมายในการทำความเข้าใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และการส่งเสริมกลไกและความร่วมมือที่จะนำพาคนที่ตกเป็นเหยื่อหรือหลงผิดเหล่านั้นไปสู่สันติภาพ สันติสุข ด้วยกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมได้เดินหน้าต่อไปในทางสร้างสรรค์และไม่ให้ผู้คนที่ได้รับโทษทัณฑ์เหล่านั้น หวนกลับมาใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความเห็นต่างอีกครั้ง หากแต่สามารถใช้แนวทางยุติธรรมเปลี่ยนผ่านที่เป็นรูปแบบเฉพาะในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลายด้ามขวานแห่งนี้ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ซึ่งหากต้องการความสำเร็จ จำเป็นที่ต้องมีการดำเนินงานที่เข็มแข็ง เป็นระบบ มีการไปพูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการเข้าไปรับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และค้นหาความจริง ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่านที่เป็นรูปแบบเฉพาะนั้น จะสามารถหล่อหลอมให้ประชาชนผู้หลงผิด และเคยเห็นต่างจากรัฐ จนกลายเป็นแนวร่วมขบวนการจนถึงขั้นการใช้ความรุนแรงต่อรัฐ ให้สามารถเปิดกว้างทางความเข้าใจรับรู้ จนมีโอกาสมากขึ้นในการเปลี่ยนความคิด อันเป็นการปรับทัศนคติในการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่อีกแง่มุมหนึ่ง และรอบด้านมากขึ้น เพื่อให้เกิดการคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ด้วยการสีส่วนร่วมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและเคยหลงผิด เห็นต่างจากรัฐในการแสวงหาทางออกของปัญหาคับข้องใจโดยสันติวิธี รวมทั้งลดโอกาสการส่งต่อ ขยายแนวคิดแปลกแยกให้ขยายไปยังกลุ่มผู้ต้องขังคดีอื่นๆ ที่อยู่ด้วยกันในเรือนจำ จนเป็นการสร้างและขยายเครือข่ายแบ่งแยกดินแดนให้ขยายตัวออกไปอย่างเงียบๆ อันเป็นการตัดวงจรการส่งต่อแนวคิดแปลกแยกของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างแท้จริง และขยายผลไปสู่การร่วมมือกันแก้ปัญหาและร่วมพัฒนาท้องถิ่น ตามแนวทางสันติวิธี (Peaceful Way) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกครั้งหนึ่ง แม้กระบวนการของเรือนจำในพื้นที่ปลายด้ามขวานที่มีในปัจจุบัน จะดำเนินการด้วยการเคารพในสิทธิความเชื่อ และวิถีชีวิตตามหลักศาสนาของผู้ต้องขังความมั่นคงอย่างมากแล้วก็ตาม อาทิเช่น การรับประทานอาหารฮาลาล ที่ประกอบอาหารด้วยผู้ต้องขังชาวมุสลิมเอง หรือการรำมาดตามห้วงเวลาที่กำหนดในหลักศาสนาอิสลาม การปรับห้วงเวลารับทานอาหารของพี่น้องผู้ต้องขังชาวมุสลิมให้เหมาะสมในห้วงถือศีลอด ตลอดจนจัดให้มีการถ่ายทอดคำสอนตามหลักศาสนาตามวิถีความเชื่อทางศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้นตามที่ผู้ต้องขังต้องการแล้วก็ตาม หากแต่สภาพของความคิดที่ยังเป็นปัญหาคับข้องใจของผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงก็คือ การที่พวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร เหล่านี้คือเงื่อนไขสำคัญที่อาจส่งผลให้แนวโน้มในอนาคต เมื่อผู้ต้องขังได้พ้นโทษและออกไปจากเรือนจำไปแล้ว ตลอดจนญาติพี่น้อง คู่สมรส บุตร หลาน ตลอดจนเพื่อพ้อง ล้วนมีโอกาสสูงที่จะมีความหวาดระแวงการดำเนินการของรัฐอยู่ต่อไป ซึ่งความรู้สึกเหล่านั้นมีความล่อแหลมต่อการตกเป็นเป้าหมายในการขยายแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอย่างน้อย บุคคลเหล่านี้ ก็จะเป็นกลุ่มที่สืบทอดและร่วมขยายแนวคิดการเห็นต่างจากรัฐในรูปแบบต่างๆ ไปได้ เพราะความคิดของการไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรมเหล่านั้น ได้ถูกถ่ายทอด ส่งต่อความคิดแปลกแยก เกลียดชังไปยังกลุ่มผู้ต้องขังรายอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ต้องขังในคดีความมั่นคงฯ ด้วยกันในเรือนจำ รวมทั้งการส่งต่อความแปลกแยกทางความคิด ส่งต่อความเครียดแค้นชิงชังไปยังญาติพี่น้อง และบุคคลในครอบครัว ที่มาเยี่ยมในเรือนจำ อันจะเป็นการส่งต่อขยายต่อความเห็นต่างจากรัฐให้กว้างขวางออกไป นอกจากนั้น ในสภาพของความคิดในปัจจุบันของผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ที่สืบเนื่องจากการไม่ยอมรับในกระบวนการพิจารณาคดีที่ผ่านมาข้างต้น ยังส่งต่อให้กลุ่มผู้ต้องขังเหล่านั้น มีความคิดที่ขุ่นเคืองรัฐ ด้วยคิดว่า รัฐ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนในครอบครัวของเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ด้วยความยากลำบาก ด้วยผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นหลักสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งเมื่อคนเหล่านี้ ถูกพิจารณาว่ามีความผิดในคดีความมั่นคงฯ ตามที่ถูกกล่าวหา จึงทำให้ถูกจำขังในเรือนจำ อันส่งผลให้คนอันเป็นที่รักของคนเหล่านี้ ต้องลำบากในการใช้ชีวิต ความรู้สึกบาดหมางเหล่านี้ ยิ่งตอกย้ำความคับข้องใจของผู้ต้องขังเหล่านี้ ให้มีความเห็นต่างจากรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นการส่งต่อความคับข้องใจให้คนในแดนลับเหล่านี้ อย่างลับๆ จนเป็นชนวนเหตุของการขยายผล ส่งต่อความขัดแย้งแตกต่างจากรัฐให้คนในพื้นที่แห่งนี้มากขึ้น อย่างไม่รู้จบ