เสือตัวที่ 6 ท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคยุโรปตะวันออก ที่มียูเครนเป็นตัวแสดงหลัก อันเป็นพรมแดนที่อยู่ติดกับดินแดนของประเทศรัสเซียที่กำลังคุกรุ่นและมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงว่า อาจจะเกิดสงครามยุคใหม่ที่เกิดขึ้นโดยการเริ่มปฏิบัติการของกองทัพรัสเซียในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้เป็นการต่อสู้กันโดยตรงระหว่างกองทัพรัสเซียกับกองทัพขององค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) หากแต่จะเป็นการต่อสู้ระหว่างกองทัพรัสเซียกับยูเครนภายใต้การสนับสนุนทางทหารจาก UN และสหรัฐอเมริการอย่างเต็มรูปแบบที่เรียกกันว่าสงครามตัวแทน (Proxy War) ซึ่งประเด็นสำคัญของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในครั้งนี้ ก็คือความขัดแย้งที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานในภูมิภาคดอนบัส และยิ่งตอกย้ำความเข้มข้นรุนแรงซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงมากขึ้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซียลงมติเมื่อวันที่ 15 ก.พ.65 ที่ผ่านมา อนุมัติร่างกฎหมายรับรองสถานะ การเป็นรัฐอิสระของ โดเนตสก์ (Donetsk) และ ลูฮันสก์ (Luhansk) ซึ่งเป็นดินแดนตะวันออกของยูเครนและอยู่ติดกับรัสเซีย ซึ่งมีผู้คนในดินแดนทั้งสองนี้ เป็นคนที่ใช้ภาษารัสเซียและฝักใฝ่รัสเซีย ซึ่งต้องการเป็นอิสระจากการปกครองของยูเครน ในขณะที่ยูเครนถือว่าคนในโดเนตสก์ และลูฮันสก์นั้น เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนของยูเครน หากแต่รัสเซียเห็นว่า คนในดินแดนทั้งสองแห่งนั้น เป็นบริวารของรัสเซียที่จะต้องได้รับการสนับสนุน โดยในขณะนี้ ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ได้ลงนามรับรองกฎหมายให้สถานะ การเป็นรัฐอิสระของดินแดนทั้งสองอย่างเป็นทางการแล้ว อันส่งผลให้ความตึงเครียดในภูมิภาคนี้ทวีคูณขึ้นไปอีก ฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า หากรัสเซียยอมรับโดเนตสก์ และลูฮันสก์ เป็นรัฐอิสระ ถือเป็นการโจมตียูเครนโดยไม่ต้องใช้อาวุธ และละเมิดอธิปไตยของยูเครนอย่างชัดเจน และการกระทำเช่นนี้ถือว่ารัสเซียถอนตัวออกจากข้อตกลงมินสก์ ซึ่งข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk Accords) นี้ถูกทำขึ้นที่เมืองหลวงของประเทศเบลารุส เพื่อมุ่งหวังจะยุติการสู้รบและให้แนวทางด้านการเมืองเพื่อการมอบพื้นที่ๆ ถูกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยึดครองไว้คืนให้กับรัฐบาลยูเครน โดยฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมลงนามประกอบด้วยองค์การเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (OSCE) รัสเซีย ยูเครน รวมทั้งผู้นำของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเขตพื้นที่บริเวณ Donetsk กับ Luhansk ของยูเครนด้วย อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวในขณะนั้นเพื่อมุ่งยุติการสู้รบระหว่างกำลังฝ่ายรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพรัสเซีย ทำให้เกิดการหยุดยิงของทั้งยูเครนและชนกลุ่มน้อยทั้งสองเมืองนั้นไม่เกิดสันติภาพขึ้นอย่างแท้จริง และเจ็ดปีให้หลังคู่กรณีที่สำคัญคือยูเครนกับรัสเซียยังไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายของตนในกรณีดังกล่าวที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จวบจนปัจจุบัน ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า ข้อตกลงมินสก์ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ปูตินได้ลงนามรับรองร่างกฎหมายให้สถานะ การเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว จึงเป็นการฉีกข้อตกลงมินสก์อย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ในภูมิภาคนี้เลวร้ายลงไปอีกเป็นทวีคูณ และล่าสุด วุฒิสภารัสเซียมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มีอำนาจใช้กองทัพรัสเซียนอกประเทศได้ เพื่อให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (โดเนตสก์ และลูฮันสก์) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสทางตะวันออกของยูเครนได้ โดยอ้างว่า เป็นการส่งกำลังทหารไปเพื่อรักษาสันติภาพในพื้นที่ดังกล่าว หาใช่เป็นการส่งกำลังทหารไปรุกรานประเทศยูเครนตามข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ และ NATO ไม่ ด้วยเหตุผลว่า ผู้นำยูเครนใช้ความรุนแรงและการนองเลือดต่อกลุ่มคนที่ต้องการเป็นรัฐอิสระจากยูเครน ซึ่งคนเหล่านั้นต่างภักดีต่อรัสเซีย อีกทั้ง NATO ก็ได้ให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยแก่ยูเครนเพื่อใช้ในการเผชิญหน้ากับรัสเซียอีกด้วย โดยจุดเปราะบางที่ปูติน ตัดสินใจส่งกำลังทหารไปรักษาสันติภาพในดินแดนโดเนตสก์ และลูฮันสก์ ก็เพราะเห็นว่า ทางการยูเครนสั่งให้ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย โดยเข้าปราบผู้ประท้วง จนในที่สุดเกิดเป็นจลาจลด้วยอาวุธ และเข้าสู่สงครามอย่างเต็มรูปแบบ จากประเด็นอ่อนไหวเปราะบางในกรณีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยูเครน ทั้งโดเนตสก์ และลูฮันสก์ ที่คุกรุ่นมาโดยตลอด ยิ่งทวีความหมิ่นแหม่ในการก่อสงครามหรือความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ ดั่งเป็นการเติมน้ำมันเข้ากองไฟก็คือ การแสดงท่าทีขององค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งนั่นจึงซ้ำเติมจุดเปราะบางให้แทบจะขาดสะบั้นลง จากความไม่ไว้วางใจยูเครนของรัสเซีย อันเปรียบเสมือนเป็นหอกข้างแคร่ของรัสเซียที่เห็นว่าปัญหาโดเนตสก์ และลูฮันสก์ ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากยูเครน การแสดงท่าทีสนับสนุนให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO ที่รัสเซียแสดงจุดยืนชัดเจนมาโดยตลอดว่าต้องการให้ NATO หยุดแผ่ขยายอิทธิพลโดยรับประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นอาณานิคมของรัสเซียเข้าเป็นสมาชิกมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัสเซียไม่ต้องการให้ยูเครนเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO จนเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา เมื่อสหรัฐฯ และ NATO เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของรัสเซียดังกล่าว รัสเซียจึงแสดงกำลังทหารของกองทัพอันเกรียงไกร ด้วยการระดมกำลังทหารจำนวนมากเข้าประชิดชายแดนยูเครน รวมถึงบริเวณภูมิภาคดอนบัสเพื่อกดดันสหรัฐฯ และ NATO ให้ยุติความตั้งใจดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนได้เดินทางมาถึงจุดตึงเครียดถึงขีดสุดอย่างหลีกหนีไม่พ้น เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนหยัดอยู่ในจุดยืนของตน และในที่สุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจออกคำสั่งให้กองทัพส่งกำลังทหารเข้าไปรักษาสันติภาพในเมืองโดเนตสก์ และลูฮานสก์ อันเป็นดินแดนทางภาคตะวันออกของยูเครนที่ยูเครนกล่าวว่าเป็นกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่กลุ่มคนในดินแดนดังกล่าวและรัสเซียกล่าวว่า เป็นกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่ออิสระในการปกครองตนเองซึ่งมีความชอบธรรมในการต่อสู้ หลังจากประธานาธิบดี ปูติน ได้ลงนามรับรองให้ทั้งสองเมืองนี้เป็นรัฐอิสระจากการปกครองของยูเครน และรัสเซียมีความจำเป็นที่จะต้องส่งกองกำลังของตนเพื่อเข้าไปรักษาสันติภาพ นำความสงบสุขมาสู่ชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายหาใช่เป็นการรุกรานยูเครนไม่ เหล่านี้คือที่มาของความขัดแย้งอันกำลังส่งผลต่อความมั่นคงของคนทั้งโลก เพราะจุดยืนที่แตกต่างอย่างชัดเจน