สถาพร ศรีสัจจัง เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ผลงานวรรณศิลป์ทั้งหลายของ “นายผี” หรือท่านอัศนีย์ พลจันทร์ ผู้สืบสายตระกูลมาจากพระยาพล (ยุคพระเจ้าตากสินมหาราช) อดีตเจ้าเมืองกาญจนบุรี นั้นงดงามและยิ่งใหญ่ทรงคุณค่า ทั้งในแง่เนื้อหา (Content) ของเรื่องที่ท่านผู้นี้เลือกมาสร้างสรรค์นำเสนอ รวมถึงแง่งามทางวรรณศิลป์(Aestatics) ที่ยึดมั่นแน่นเหนียวอยู่กับ “ราก” ของลักษณะพิเศษทางวรรณศิลป์ที่ส่งต่อสืบทอดเป็นมรดกทางสุนทรียะของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ที่ฟังๆมา ผู้เล่นผู้เชี่ยวชาญทางวรรณศิลป์ไทยหลายท่าน มักบอกตรงกันว่า ในงานแต่ละประเภทที่ “นายผี” ได้ใช้ความรักความวิริยะสร้างสรรค์ประดับสังคมไทยไว้นั้น ล้วนจัดเป็นงานฝีมือดีเด่นแทบทั้งสิ้น แต่ชื้นงานที่ไม่ควรพลาดของท่านผู้นี้ มีดังนี้ : ประเภทเรื่องแปลร้อยแก้ว น่าจะเป็นเรื่อง “ภควัทคีตา” /ประเภทกวีนิพนธ์แปล น่าจะเป็น “กาพย์กลอน เหมาเจ๋อตุง” (โดยนามปากกา “ประไพ วิเศษธานี”)/ประเภทกวีนิพน์เนื้อหาดีเด่น คือ “เราชนะแล้ว…แม่จ๋า”/กวีนิพนธ์ประเภทสำแดงฝีมือทางวรรณศิลป์ชั้นสูง (มีรสอารมณ์กวีเปี่ยมเต็ม)ได้อย่างโดดเด่นยอดเยี่ยม ได้แก่ “อีศาน” และ “ความเปลี่ยนแปลง” (เรื่องนี้อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “กวีรัตน โกสินทร์” เคยเน้นย้ำกับผู้เขียนหลายครั้งว่า “นายผี” ได้สำแดง “ชั้นเชิง” ด้านกวีนิพนธ์ได้อย่างมหัศจรรย์ และ บอกว่า คนที่จะฝึกเขียนกวีนิพนธ์เชิงขนบของไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอ่าน เพื่อ “ศึกษา” เรื่องท่วงทำนองเกี่ยวดับ “ทาง” และ “อารมณ์กวี” โดยเฉพาะประเด็นการใช้คำแบบ กวิตานุมัติ)/สวนประเภทเรื่องสั้น ว่ากันว่า น่าจะเป็นเรื่อง “ต่อตระกูลหมอ” กระมัง? แต่เรากำลังพูดกันอย่างจำเพาะถึงงานวรรณศิลป์ประเภท “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolution lyric) ซึ่งในบรรดางานประเภทนี้ของ “นายผี” น่าจะไม่มีชิ้นใดโดดเด่นในทุกด้านเท่าผลงานเพลงชื่อ “คิดถึงบ้าน” หรือ “เดือนเพ็ญ” ที่ประทับอยู่ในหัวใจคนไทยย่างลึกซึ้งและกว้างขวางบ่มิคลาย! ที่มาของเพลงเดือนเพ็ญนั้น วีกิพีเดีย รวบรวมไว้พอจะสรุปได้ประมาณว่า เป็นเพลงที่ “นายผี” หรือท่านอัศนีย์ พลจันทร์ หรือ “สหายไฟ” (ในฐานะชาวพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย)เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งต้องจากบ้าน “ลี้ภัย เข้าป่า” และ ต้องระเหเร่ร่อนไปอยู่ถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน(ยุคประธาน “เหมาเจ๋อตุง” เรืองอำนาจ) เมื่อนานมาแล้ว วีกิ พีเดีย บอกอีกว่า พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เป็นผู้นำเนื้อร้องเพลงนี้ออกมาจากป่า และอัดเสียงครั้งแรกรวมอยู่ในชุด “บ้านนาสะเทือน” ของวง “คาราวาน” เมื่อปี พ.ศ. 2526 และ ในปีพ.ศ. 2527 แอ๊ด คาราบาว นำเพลงนี้มาบันทึกเสียงอีกครั้ง โดยรวมอยู่ในชุด “กัมพูชา” การบันทึกเสียงครั้งนี้แอ๊ดได้เปลี่ยนชื่อเพลงจาก “คิดถึงบ้าน” เป็น “เดือนเพ็ญ” และ มีการสลับเนื้อร้องของบทเพลงบางท่อนเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย แต่จากข้อมูลที่เขียนโดยผู้ใช้นามว่า “คมสันต์ สุทนต์” แห่งกลุ่ม “ห้องสมุดเพลงสยาม” ระบุว่า เพลงนี้นายผีแต่งโดยปรับท่วงทำนองจากเพลงไทยเดิมคือ “พม่าเห่” และ ผู้ที่นำเนื้อร้องออกมาจากป่าคือ “หงา คาราวาน” หรือ สุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติ โดยใช้การจำเนื้อเพลงที่ได้รับรู้มาจากในป่า สอดคล้องกับคำบันทึกเกี่ยวกับเพลงนี้ของ “หงา คาราวาน” ที่คมสันต์ยกมาอ้างตอนหนึ่ง ความว่า “…ที่สนามรบก่อนเกิดศึกใหญ่ (หมายถึงยุทธการล้อมปราบในเขตน่านเหนือ) ผมได้พบญาติพี่น้องซึ่งเป็นสายทางเขา(นายผี) เพลง คิดถึงบ้านถูกร้องให้ฟังโดย “หมอตุ๋ย” สหายหญิงผิวคล้ำ คนภาคกลางแถบราชบุรี ซึ่งเป็นญาติของเขา และบอกว่าเป็นเพลงที่ “นายผี” แต่งขึ้น ตั้งแต่พลัดบ้านพลัดเมืองไปอยู่ที่กรุงปักกิ่ง เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว…” ถ้าอยากรู้รายละเอียดให้มากกว่านี้ ก็ลองคลิ๊กเข้าไปถาม “อากู๋” ดูได้ โดยพิมพ์ชื่อ คุณคมสันต์ สุทนต์ หรือพิมพ์คำว่า “ประวัติเพลงเดือนเพ็ญ” ข้อมูลที่คุณคมสันต์เรียบเรียงไว้ก็จะปรากฏให้อ่านอย่างจุใจ เพราะในข้อเขียนดังกล่าวยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับ “นายผี” ด้านต่างๆ ตั้งแต่เรื่องต้นตระกูลของนายผี คือพระยาพล อดีต “ผู้รั้งเมือง” กาญจนบุรี และ เรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่อง รวมถึงตัวอย่างบทกวีชิ้นสำคัญๆ อย่างเช่น “อีศาน” และบางตอนจากเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลง” รวมอยู่ในข้อเขียนชิ้นนั้นด้วย ว่ากันว่า ท่อน “หัวใจ” ที่ทำให้เพลง “คิดถึงบ้าน” หรือ “เดือนเพ็ญ” ของนายผี กลายเป็น “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolution lyric) ที่หลายคนสรุปว่าประสบความสำเร็จสูงสุดในสังคมไทย (มีคนรับรู้รับฟังกันอย่างแพร่หลายในทุกระดับชนชั้น เพราะมีนักร้องจำนวนมากนำไปร้อง cover และ ยิ่งใหญ่ถึงขนาดนักร้องนักดนตรีระดับโลกอย่าง วง เอ็กซ์ แจแปน นำไปบรรเลงสดในการแสดงของพวกเขานั่นแหละ!)ก็คือเนื้อหาที่เป็น “เพื่อชีวิตแท้” (ที่ไพเราะและไม่ยัดเยียดความรุนแรง)ในท่อนหนึ่งของเพลง ดังจะยกมาให้เห็นต่อไปนี้: “...กองไฟสุมควายตามคอก/คงยังไม่มอดดับดอก/จันทร์เอ๋ยช่วยบอกให้ลมช่วยเป่า/สุมไฟให้แรงเข้า/พัดไล่ความเยือกเย็นหนาว ให้พี่น้องเรา..นอนหลับอุ่นสบาย…" ลองพิจารณาไตร่ตรองเนื้อคำและเนื้อความของเพลงท่อนนี้กันดูดีๆเถิด คนธรรมดาๆฟังก็ไพเราะจนสามารถเห็นถึงจิตเจตนาอันงดงามต่อ “พี่น้องไทย” ของท่านผู้แต่ง นักปฏิวัติฟังก็รู้ว่า “นายผี” ส่งสัญญาณให้เร่ง “สุมไฟการปฏิวัติ” สังคมไทยให้ลุกโชนยิ่งขึ้นเพื่อ “ให้พี่น้องไทยนอนหลับอุ่นสบาย” และ ถ้านักวรรณศิลป์ได้ยินได้ฟังก็จะเห็นถึงความลุ่มลึกอลังการของถ้อยคำความเปรียบที่เปี่ยมเต็มด้วย “ลีลากวี” ชั้นครูอย่างแท้จริง!!