เสือตัวที่ 6 การสู้รบในยูเครนที่มีรัสเซียเป็นฝ่ายเปิดฉากตั้งแต่วันแรกมาจนถึง ณ เวลานี้ หลายฝ่ายกำลังจับตามองและวิเคราะห์ท่าทีของรัสเซียโดยผู้นำอย่างประธานาธิบดีปูติน ผู้คว่ำหวอดในเวทีการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำอย่างประธานาธิบดีปูติน เป็นผู้มีประสบการณ์สูงในระดับต้นๆ ของเวทีการช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจของโลกระหว่างรัสเซียกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน ประกอบกับบุคคลท่านนี้เป็นถึงผู้เชี่ยวชาญงานข่าวกรองในหน่วยงานสายลับอย่าง KGB อันลือลั่นของสหภาพโซเวียตในห้วงสงครามเย็น ส่งผลให้ประธานาธิบดีปูติน เป็นบุคคลที่ไม่ธรรมดา ประสบการณ์ที่ผ่านมาได้หล่อหลอมให้ปูตินมีทัศนคติและแนวความคิดอันสุดโต่งในความเป็นชาตินิยมของตนสูงมากคนหนึ่ง ประสบการณ์ทางการเมืองโลกของปูติน ทำให้คนๆ นี้ มีความลุ่มลึกทางความคิดอย่างที่หลายๆ คนคาดเดาไม่ถึง และนั่นคือสิ่งที่นักวิเคราะห์สถานการณ์สงครามของรัสเซียในยูเครนหนนี้ ไม่อาจประมาณสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าแท้ที่จริงแล้วผู้นำรัสเซียกำลังคิดและกำลังจะทำอะไรต่อไปกันแน่ ตลอดทั้งบุคลิกภาพที่มีความเคร่งขรึม ดูจริงจัง ดุดัน อันแฝงไว้ได้ความเป็นผู้นำยามวิกฤติ ย่อมส่งผลเชิงจิตวิทยาให้บรรดาผู้คนทั้งหลายในรัสเซียเชื่อมั่นในสิ่งที่ปูตินคิดและกำลังทำอยู่ ซึ่งแน่นอนว่า นั่นก็ส่งผลให้ผู้นำชาติทั้งหลายในโลกใบนี้ส่วนใหญ่ พยายามสงวนท่าที มีความระมัดระวังอย่างสูงในอันที่จะแสดงออกต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และทันทีที่ชาติพันธมิตรของคู่ขัดแย้งในสงครามหนนี้อย่างยูเครน ไม่ว่าจะเป็นองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ชาติในสหภาพยุโรปส่วนหนึ่ง สหรัฐอเมริกา และพันธมิตรอันแนบแน่นของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกส่วนหนึ่ง ได้ร่วมแสดงออกถึงการต่อต้านรัสเซียอย่างออกนอกหน้าเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะการร่วมต่อต้านทางเศรษฐกิจและการค้า หรือที่เรียกกันว่า การคว่ำบาตร ในทุกรูปแบบต่อรัสเซีย รวมทั้งการแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังทหารของกองทัพรัสเซียต่อยูเครนหนนี้ ทำให้ผู้นำอย่างประธานาธิบดีปูติน ได้แสดงออกอย่างแข็งกร้าวต่อกลุ่มประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวว่าการดำเนินการต่างๆ ของประเทศที่แสดงออกว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัสเซียนั้น เป็นการประกาศตัวว่าเป็นปรปักษ์ต่อรัสเซีย และรัสเซียจะตอบโต้ประเทศเหล่านั้นทุกรูปแบบที่เป็นไปได้เช่นกัน ซึ่งการดำเนินการส่งสารถึงผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกของปูตินในลักษณะนี้ ได้ผลตามที่ปูตินคาดหวัง เพราะทันทีที่ปูตินส่งสัญญาณชัดๆ ออกไปสู่ประชาคมโลก ทำให้ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี หยุดชะงักการแสดงท่าทีที่ส่งสัญญาณเชิงท้าทายรัสเซีย ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังสงวนท่าทีการดำเนินการใดๆ ที่เป็นการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงตรงรัสเซีย อาทิ นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมของสหราชอาณาจักร กล่าวชัดเจนว่า อังกฤษจะไม่ช่วยบังคับใช้เขตห้ามบิน (No-Fly Zone) เหนือยูเครน ตามคำเรียกร้องของผู้นำยูเครน ในขณะที่ นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ปฏิเสธความเป็นไปได้ว่านาโตจะเข้าไปจัดการเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า NATO ไม่มีความตั้งใจที่จะนำกำลังพลเข้าไปในยูเครน ไม่ว่าจะทางบกหรือทางอากาศ เพราะนั่น จะทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงระหว่างยูเครนกับ NATO ซึ่งจะทำให้สงครามขยายตัวไปทั่วยุโรป และหมิ่นเหม่ต่อการทำลายล้างด้วยอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่อาจประเมินความเสียหายได้ แต่อังกฤษจะให้การสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนแทน และนั่นเป็นการแสดงถึงความช่ำชองของผู้นำอย่างประธานาธิบดีปูตินในเวทีโลก การออกมาส่งสารถึงผู้นำทั้งหลายในโลกที่กำลังเกาะกระแสโจมตีทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศตามไปกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามรัสเซียอย่างสหรัฐฯ เหล่านั้น ต้องหยุดชะงักลง อันเป็นยุทธศาสตร์ในการโดดเดี่ยวยูเครนให้อ่อนกำลังในการต่อสู้กับรัสเซียลงอย่างมาก ล่าสุด ประธานาธิบดีปูตินได้ออกแถลงการณ์ประกาศชัดๆ ว่า 22 ประเทศนี้ เป็น ประเทศซึ่งมีการกระทำที่ไม่เป็นมิตร (TASS ใช้คำว่า unfriendly countries and territories) หรือแปลง่ายๆว่า เป็นฝ่ายตรงข้าม หรือประเทศศัตรูของรัสเซียก็ว่าได้ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัฐในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร (รวมถึงดินแดนในอาณัติ ได้แก่ เจอร์ซีย์ แองกวิลลา หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ยิบรอลตาร์) ยูเครน มอนเตเนโกร สวิตเซอร์แลนด์ แอลเบเนีย อันดอร์รา ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ โมนาโก นอร์เวย์ ซานมารีโน มาซิโดเนียเหนือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน (ถือว่าเป็นดินแดนของจีน แต่ปกครองโดยรัฐบาลของตนเองมาตั้งแต่ปี 2492) โดยให้เหตุผลว่า ประเทศเหล่านั้น แสดงตนชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายตงข้ามกับรัสเซียในการปฏิบัติการพิเศษต่อยูเครนครั้งนี้ โดยเฉพาะการร่วมคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ เป็นกลุ่มประเทศที่ขัดต่อผลประโยชน์ของชาติและประชาชนชาวรัสเซียอย่างโจ่งแจ้ง จึงจะได้รับการปฏิบัติอย่างที่ชาติศัตรูพึงจะได้รับ ซึ่งผลจากการประกาศรายชื่อดังกล่าว รัฐบาลรัสเซีย รวมทั้งประชาชนและบริษัทของรัสเซีย ซึ่งมีภาระผูกพันจ่ายเงินต่อเจ้าหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตร จะต้องชำระเป็นสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียเท่านั้น นอกจากนี้ การทำข้อตกลงทางธุรกิจกับบริษัทหรือนักธุรกิจจากประเทศที่ไม่เป็นมิตร จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลรัสเซียก่อน เป็นต้น ความช่ำชองในเวทีโลกของประธานาธิบดีปูติน บนลีลาทางการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะภาวะสงครามกับยูเครน ที่เขายังเลี่ยงว่า นี่ไม่ใช่สงคราม หากแต่เป็นปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียเพื่อเสถียรภาพของประเทศและภูมิภาคนี้ ตลอดจนการแสดงท่าทีแข็งกร้าวในการออกคำสั่งพร้อมรบขั้นสูงสุดให้กับหน่วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่มีหัวรบมากที่สุดในโลก ทำให้ประเทศมหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามของรัสเซียทั้งหลาย ต้องคิดหนัก และระมัดระวังท่าทีการสนับสนุนทางทหารโดยตรงให้กับยูเครนมากขึ้นอย่างชัดเจน รวมทั้งการตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อฝ่ายตรงข้าม โดยเริ่มจากการงดการส่งก๊าซธรรมชาติและนำมันออกสู่ประเทศในยุโรป อันเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้กับอากาศที่หนาวเย็นในยุโรป จนกระทั่งการออกประกาศรายชื่อประเทศซึ่งมีการกระทำที่ไม่เป็นมิตรออกมาอย่างชัดเจนล่าสุดนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำประเทศทั้งหลายในโลกใบนี้ อย่าได้เกาะกระแสการสร้างมวลชนในประชาคมโลกของสหรัฐฯ เพราะนั่น จะไม่เป็นผลดีต่อประชาชนของประเทศตน และท่ามกลางสถานการณ์อันเปราะบางครั้งนี้ ต่อนี้ไป ผู้นำประเทศทั้งหลายโดยเฉพาะประเทศเล็กๆ จึงต้องระมัดระวังท่าทีที่จะแสดงออกใดๆ ให้รอบคอบมากขึ้นอย่างที่สุด