สถาพร ศรีสัจจัง บทเพลงที่ “ขึ้นถึง” ความเป็น “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolutionary Lyric) ที่ “สุรชัย จันทิมาธร” ศิลปินเพลงผู้ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ(สาขาวรรณศิลป์) และถูกถือเป็น “อาจารย์ใหญ่เพลงเพื่อชีวิต” คือ ท่านสุรชัย จันทิมาธร ร้องขับขานนั้น อาจกล่าวได้ว่ามีเป็นจำนวนมาก จนยากจะยกมาจาระไนได้หมด ทั้งที่เป็นเพลงซึ่งสุรชัยเป็นผู้แต่งเนื้อร้องเอง และที่คนอื่นเขียนขึ้นแล้วเขานำมาขับขานตามวาระตามโอกาสต่างๆจนมักจะกลายเป็น “เวอร์ชั่นต้นแบบ” ของเพลงนั้นๆ ถ้าจะยกตัวอย่างเป็นรายชื่อเพลงให้เห็นพอเป็นสังเขปก็เช่น “คนกับควาย”/ “จิตร ภูมิศักดิ์”/ “ใกล้ตาไกลตีน” (เป็น 3 เพลงที่จะยกมาพูดถึงในรายละเอียดสำหรับการเขียนครั้งนี้)/ “เปิบข้าว”/ “อีสาน” (2 เพลงนี้สุรชัยนำบทกวีของ “นายผี” มาใส่ทำนอง)/ “คาราวาน”/ “กองเกวียนบ้านไพร”/คนตีเหล็ก”/ “ถั่งโถมโหมแรงไฟ”/ “สันติภาพ”/ “ฉันเป็นดอกไม้”/ “คิดถึงบ้าน” หรือ “เดือนเพ็ญ” (เนื้อร้องโดย “นายผี” )/ “ดวงจำปา” (เนื้อร้องของคีตกวีชาวลาว)/ “ตายสิบเกิดแสน”/ “อเมริกันอันตราย” (แต่งโดยทองกราน ทานา และ วีระศักดิ์ สุนทรศรี)/ “ไหวเอน”/ “แม้เราจะไม่พบกัน”/ “ยิ้มกลางสายฝน”/”จากภูผาถึงทะเล”/ “ฉันคือประชาชน”/ “จดหมายจากชาวนา” (เนื้อร้องโดยกวี ประเสริฐ จันดำ)/ “ดอกไม้ให้คุณ” / “นกสีเหลือง”(เนื้อร้องโดย วินัย อุกฤษณ์) “รักและหวัง”/ “เราและเธอ”/ “ร้อยบุปผา”/ “คนภูเขา”/ “กำลังใจ”/ “อานนท์” (4 เพลงหลังสุดแต่งเนื้อร้องโดย วิสา คัญทัพ)/ฯลฯ ในที่นี้จะขอนำ 3 เพลงที่ถือเป็น “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolutionary lyric) อันโดดเด่นของสุรชัย จันทิมาธร มาอภิปรายยกย่องเป็นตัวอย่างทีละเพลง ว่าเขามีความโดดเด่นในแง่ “การเป็นนักสร้างสรรค์วรรณศิลป์” ในฐานะ “คีตกวี” ผู้ขับขานเพลงปฏิวัติร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทยอย่างไร เพลงแรกที่จะขอกล่าวถึง คือเพลง “คนกับควาย”! ในยุคก่อนและหลังเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ(2516)ใหม่ๆ เพลงนี้ถูกทางการ “ห้ามเปิด” ห้ามเผยแพร่ทางสถานีวิทยุ ถูกกล่าวหาว่าเป็นเพลงของพวก “หัวรุนแรง” ที่หนักหน่อยก็อาจถึงขั้นกล่าวหาว่าเป็นเพลง “คอมมิวนิสต์” เอาทีเดียว! เพลง “คนกับควาย” ถือเป็นเพลงแรกๆที่สุรชัยนำมาขับขานสู่สาธารณะ ตั้งแต่ยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯโน่นแล้ว! ตำนานเกี่ยวกับเพลงนี้เล่ากันว่า ผู้แต่งคือกวีนักเขียนร่วมสมัยซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของสุรชัยในยามนั้นที่ชื่อ “สมคิด สิงสง” (โด่งดังในยุคหลัง 14 ตุลาฯ จากกรณี “หมู่บ้านซับแดง” ที่เขากับเพื่อนกวีที่ชื่อ ประเสริฐ จันดำ ไปร่วมทำงาน “พัฒนาหมู่บ้าน” กันที่นั่น จนฟังว่าถูกทางการบ้านเมืองเพ่งเล็งกล่าวหาและจับตาดูพฤติกรรม หาอ่านรายละเอียดเรื่องนี้กันเอาเองเน้อ…) เล่ากันอีกว่า สุรชัยนำเพลงนี้มาร้องเป็นครั้งแรก (ครั้งเมื่อยังเป็นวง “ท.เสน และ สัญจร”) ในงานแต่งงานของเพื่อนคนหนึ่งแห่ง “ชมรมพระจันทร์เสี้ยว” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ภายหลังกลายมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง คือ “วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์” (บิดาของพระเอกคนดัง “เคน” ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ คนนั้นนั่นแหละ) จากนั้น(ก็ฟังมาอีกนั่นแหละว่า) “วิสา คัญทัพ เป็นผู้ปรับเนื้อร้องเพลงนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และสุรชัยก็มักนำเพลงนี้มาร้องเป็นเพลงหลักในงานชุมนุมประท้วงต่างๆของนักศึกษาและกรรมกรชาวนาซึ่งเริ่มมีชุกขึ้นในช่วงนั้น เนื้อเพลง “คนกับควาย” มีดังนี้ : ๐ (ท่อนที่ 1) คนก็คนทำนาประสาคน…/ คนกับควายทำนาประสาควาย…/ คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ…/ ลึกล้ำทำนามาเนิ่นนาน…/ แข็งขันการงานมาเนิ่นนาน…/ สำราญเรื่อยมา..พอสุขใจ…/ฯ ๐ (ท่อนที่ 2) ไปเถิดไปพวกเราไปเถิดไป/ ไปเถิดไปแบกไถไปทำนา/ ยากจนหม่นหมองมานานนัก/ นานนักน้ำตามันตกใน/ ยากแค้นลำเค็ญในหัวใจ/ ร้อนรุ่มเพียงใดไม่หวั่นเกรง…ฯ ๐ (ท่อนที่ 3) เป็นบทเพลงเสียงเพลงแห่งความตาย/ ความเป็นคนสลายลงไปพลัน/ กระฎุมพีกินแรงแบ่งชนชั้น/ ชนชั้นชาวนาจึงต่ำลง/ เหยียดหยามชาวนาว่าป่าดง/ สำคัญมั่นคงคือความตาย…ฯ ๐ (ร้องซ้ำท่อนที่ 1) ๐ (ร้องซ้ำท่อนที่ 2) ๐ (ร้องซ้ำท่อนที่ 3) เล่าลือกันในหมู่แฟนเพลง “คาราวาน” ตัวจริงในทำนองว่า ทุกครั้งที่สุรชัยขับขาน “Lyric” ปฏิวัติเพลงนี้ เนื้อเพลงหลายท่อนหลายคำและ “น้ำเสียง” ในการขับขาน จะเปลี่ยนไปตาม “บรรยากาศ” ของงานๆนั้น เช่น หลายครั้งสองวรรคแรกของท่อนที่ 2 มักจะเปลี่ยนไปว่า “ไปเถิดไปพวกเราไปเถิดไป/เราแบกปืนแบกไถไปทำนา…” และวรรคสุดท้ายของท่อนที่ 3 มักจะเปลี่ยนเป็น “สำคัญมั่นคงคือมันตาย…” เป็นต้น ยังมีรายละเอียดอีกหลายเรื่องที่คงต้องพูดต้องอภิปรายกัน เกี่ยวกับ “พลัง” และความมี “สุนทรียรส” ใน “คีตกานท์ปฏิวัติ” ของสุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติท่านนี้!!ฯ