สถาพร ศรีสัจจัง ใครที่ฟังเพลงของสุรชัย จันทิมาธร (ทั้งที่เล่นเป็นส่วนตัวและในนามวง “คาราวาน”) มาตั้งแต่ชุดแรก คือ ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางๆของ ทศวรรษ 2510 จนถึงเพลงยุคปัจจุบันของเขา อย่างนิ่งนึกพินิจพิจารณา ย่อมจะเห็นได้ชัดถึงความมีวรรณศิลป์ นั่น คือ ศิลปะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารเนื้อหาที่เต้นเร่าอยู่ใน “อารมณ์” ของการต่อสู้เพื่อเป้ามุ่งแห่งชีวิตที่ดีกว่า ทั้งในส่วนของความเป็น “ปัจเจกชน” (Individualist) และที่เป็นลักษณะ “มวลชน” (Mass) เพลงขับขานที่มี “ความกลมกลืน” (Harmony)ระหว่างเนื้อเพลงกับท่วงทำนองดนตรีอย่างเป็น “เนื้อเดียวกัน”เช่นนี้เอง ที่ก่อ “พลัง” กระทบอารมณ์ความรู้สึกของผู้รับสารอย่างลึกซึ้ง ทั้งในด้านปลุกใจ สร้างแรงบันดาลใจ และให้กำลังใจ ในลักษณะที่เรียกได้ว่า คือ “เสียงของกัลยาณมิตร” และงานเช่นนี้เอง ที่เรียกกันว่า “คีตกานท์” หรือ “Lyric” ในภาษาฝรั่งอังกฤษ! ลักษณะเด่นที่สุดใน “ภาษาเพลง” ของสุรชัย ก็คือความเรียบง่าย กระชับ และใช้คำที่ “อมความ” ชัดเจนลึกซึ้ง อาจเห็นสิ่งนี้ได้ในเพลงสำคัญๆของเขา เช่น “หมายเหตุจากหมู่บ้าน”/ “ข้าวคอยฝน”/ “คาราวาน”/ “กองเกวียนบ้านไพร”/ “ฉันเป็นดอกไม้” / “ความรัก” / “สันทรายมูล”/ “บ่เบี้ยบ้านไพร”/ “ดอกไม้ให้คุณ”/ “รักและหวัง”/ “เราและเธอ” ฯหรือแม้แต่เพลงที่ต้องการ “เล่าเรื่อง” ที่มีเนื้อหาใหญ่ๆ อย่างเพลง “กาลิเลโอ” (แต่งเพื่อร้องประกอบการแสดงละครเวทีเรื่อง “กาลิเลโอ” ที่กำกับโดย “ยุทธนา มุกดาสนิท” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สมาชิกชมรมพระจันทร์เสี้ยว จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกคนหนึ่ง ) มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อใดที่สุรชัย จันทิมาธร แต่งเพลงที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “บุคคล” โดยเฉพาะบุคคลที่ “กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ” จนเสียชีวิต จนกลายเป็นตำนานไปแล้ว หรืออาจเป็นใครก็ได้ที่เป็นนักต่อสู้ “ต้นแบบ” คนสำคัญๆในด้านใดด้านหนึ่งของสังคม คือเพลงประเภทที่ฝรั่งมังค่าเรียกว่าเป็น “Ballad” นั่นแหละ! เขามักจะทำได้ดีเป็นพิเศษ ทั้งในด้านการแต่งเนื้อร้องและการเปล่งเสียงขับขาน ! เพลงในสกุลนี้ของสุรชัยน่าจะไม่มีเพลงใดเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากไปกว่าเพลง “จิตร ภูมิศักดิ์” ที่ศิลปินแห่งชาติผู้นี้ได้สร้างคุณูปการอย่างสำคัญให้กับสังคมไทย โดยการสร้างสื่อที่เป็น “คีตกานท์” ทำให้ผู้คน โดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาว ได้เรียนรู้ถึงประวัติชีวิตของ กวี นักปราชญ์ และนักปฏิวัติร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย ว่าเป็น “ต้นแบบ”ของการเกิดมาและใช้ชีวิตอย่าง “ทรงคุณค่า” อย่างไร ! ต่อไปนี้คือเนื้อเพลง “จิตร ภูมิศักดิ์” ที่สุรชัย จันทิมาธ รจนา ขึ้นอย่างสมศักดิ์สมศรีของฝีมือระดับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์! “๐ เขาตายในชายป่า/เลือดแดงทาดินเข็ญ…ยากเย็น..ข้นแค้น…อับจน… ๐ ถึงวันพราก…เขาลงมาจากยอดเขา/ใต้เงามหานกอินทรี/ล้อมยิงโดยกระหยิ่ม/อิ่มในเหยื่อตัวนี้/โชคดี…สี่ขั้น พันดาว… ๐ เหมือนดาวร่วงหล่น/ความเป็นคนร่วงหาย/ก่อนตายจะหมายสิ่งใด/แสนคนจนยาก/สิบคนหากรวยหลาย/อับอายแก่หล้าฟ้าดิน… ๐ เขาจึงต่อสู้/อยู่ข้างคนทุกข์เข็ญ/ได้เห็น…ได้เขียน…พูดจา/คุกขังเขาได้/แต่หัวใจอย่าปรารถนา/เกิดมา…เข่นฆ่าอธรรม… ๐ แล้วอำนาจเถื่อน/มาบิดเบือนบังหน/กี่คน…กี่คน…ย่อยยับอัปรา… ๐ พฤษภาฯห้าร้อยแปด/เมฆดำปกคลุมฟ้า/ด้วยฤทธา…มหาอินทรี… ๐ ร้างเมืองไร้บ้าน/ออกทำการป่าเขา/เสี่ยงเอาชีวีมลาย… ๐ พฤษภาห้าร้อยเก้า/แดดลบเงาจางหาย/เขาตาย…อยู่ข้างทางเกวียน… ๐ ศพคนนี้นี่หรือคือจิตร ภูมิศักดิ์/ตายคาหลักเขตป่ากับนาคร…/(ซ้ำ)ศพคนนี้..นี่หรือ คือจิตร ภูมิศักดิ์/ตายคาหลัก…เขตป่ากับนาคร… ๐ เขาตายในชายป่า/เลือดแดงทาดินอีสาน/อีกนาน…อีกนาน…อีกนาน… ๐ เขาตายเหมือนไร้ค่า/แต่ต่อมาก้องนาม/ผู้คนไต่ถาม…อยากเรียน/ชื่อจิตร ภูมิศักดิ์/เป็นนักคิดนักเขียน/ดั่งเทียน…ผู้ถ่องแท้แก่คน…!!ฯ ด้วยเพลงในทำนอง “ballad” เพียงเพลงเดียว ชื่อเสียงความเป็น “จิตร ภูมิศักดิ์” ก็ขจรขจายไปในหมู่ผู้รักความเป็นธรรมในสังคม และในหมู่คนหนุ่มสาวที่ฟัง “เพลงเพื่อชีวิต” อย่างรวดเร็ว น่าจะรวดเร็วกว้างขวางกว่า “การสัมมนา” ของบรรดานักวิชาการในหัวข้อเดียวกันอย่างเปรียบเทียบมิได้! ที่สำคัญก็คือ “วีรภาพแห่งการเสียสละ” เพื่อ “คนทุกข์เข็ญ” ของ “จิตร ภูมิศักดิ์” อักษรศาสตร์บัณฑิตผู้ปราดเปรื่อง จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กวีเจ้าของนามปากกา “กวี การเมือง” นักวิชาการผู้สร้างสรรค์งานทางวิชาการอันทรงคุณค่าไว้ให้กับสังคมไทยในหลายนามปากกาอย่างหาคนเปรียบเทียบได้ยาก(ในห้วงเวลาแห่งชีวิตอันน้อยนิด)และนักปฏิวัติผู้สละชีวิตเพื่อมุ่งสร้างสรรค์สังคมดีงามให้มวลมหาประชาชนไทย ได้ประทับและสร้าง “แรงดาลใจ” ลงบนความรู้สึกของผู้คนที่รักความเป็นธรรมในชั้นหลังอย่างมิอาจประเมินนับคุณค่า! นี่คือ “คุณค่า” ของบทเพลง “คีตกานท์ปฏิวัติ” ชื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” ที่คีตกวีอย่างสุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติ รจนาขึ้นขับขานมาตั้งแต่เมื่อกว่า 4 ทศวรรษก่อน ที่จนแม้ขณะปัจจุบัน, บทคีตกานท์ “ของแท้” เพลงนี้ ก็ยังก้องกังวานอยู่ทั่วถิ่นทางไทย,โดยเฉพาะในหัวใจของมหาชนผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย!!!