สถาพร ศรีสัจจัง สุรชัย จันทิมาธร “คืนเมือง” (หลัง “เข้าป่า” ไปร่วมงานกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อสู้กับรัฐบาล (เผด็จการ)ไทย ตั้งแต่ช่วงหลังเหตุการณ์ “6 ตุลาฯ 2519”) ใน พ.ศ. 2525 เขาเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ออกจากป่าในครั้งนั้นไว้ตอนหนึ่งว่า : “…เดินทางป่ากลับมาลงแถวบ้านผาสิงห์ จังหวัดน่าน จำนวน 10 กว่าคน จำได้ว่าห่างจากเมืองน่านประมาณ 15 กิโล ถอดอาวุธขว้างทิ้ง แยกชิ้นส่วน ฝังเสื้อผ้าเอาหินทับในโคลนห้วย เดินเท้าเข้าตลาดถึงตอนตี 4 ตี 5 ตีเนียนเป็นชาวบ้านซื้อหมูย่างข้าวเหนียวกิน โดย มีเงินที่จัดตั้งมอบให้คนละ 600 บาท เข้า 5 จะ 6 ปี ก๋วยเตี๋ยวพัฒนาราคาขึ้นเกือบ 20 บาท รู้สึกตกใจ ถึงกทม.วันสงกรานต์ปี 2525…" หลัง “ออกจากป่า” มีการจัดงาน “คอนเสิร์ท ฟอร์ ยูนิเซฟ” ขึ้นที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์( ท่าพระจันทร์) ฟังว่างานนี้เกิดจากการผลักดันอย่างสำคัญของหนังสือพิมพ์มติชนในขณะนั้น งานนี้ เป็นเหมือนงานต้อนรับ “การกลับบ้าน” ของ สุรขัย จันทิมาธร และชาววง “คาราวาน” ที่ประกอบด้วย วีรศักดิ์ สุนทรศรี/มงคล อุทก/และทองกราน ทานา (หงา-สุรชัยฯ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทีแรกจะชวน “หมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” มาร่วมด้วยแต่เขาไม่ว่าง) งานเพลงชุด “คอนเสิร์ท ฟอร์ ยูนิเซฟ” ประสบความสำ เร็จอย่างสูงยิ่ง ฟังว่ามีเพลงที่เกิดเพื่องานนี้ที่กลายเป็นเพลง “อมตะ” ในหัวใจแฟนคลับของสุรชัยฯในภายหลังหลายเพลงด้วยกัน โดยเฉพาะเพลงที่ชื่อ “คืนรัง”! หลังเพลงชุด “คอนเสิร์ท ฟอร์ ยูนิเซฟ” จุดประกายให้เกียรติภูมิของสุรชัย จันทิมาธร และ วง “คาราวาน” คืนกลับมาอย่างรวดเร็ว (หลังห่างหายไปจากสังคมไทยเพราะการ “เข้าป่า” ถึงกว่า 5 ปี) “คีตกานท์ปฏิวัติ” ชุดสำคัญ คืออัลบั้มชุด “คนตีเหล็ก” ของ “คาราวาน” ที่มีสุรชัยฯ เป็นนักร้องนำและเป็นคนเขียนเพลงหลัก ก็ออกสู่ตลาดในปีพ.ศ.2526 นั่นเอง เกจิเพลงเพื่อชีวิตหลายคนบอกว่า นี่คืออัลบั้ม “ชุดที่ดีที่สุด” ชุดหนึ่งของวง “คาราวาน” และ ในชุดนี้มี “คีตกานท์ปฏิวัติ” ชิ้นสำคัญ ที่ชาววงการวรรณศิลป์ไทยกล่าวถึงกันมาก ถึงความงดงามทางภาษา ความลุ่มลึกของเรื่องราว และ “อารมณ์เพลง” อยู่เพลงหนึ่ง เพลงที่ว่ามีชื่อ “ใกล้ตา-ไกลตีน”! ลองพิจารณาดู “แง่งาม” จาก “วจนะ” ในเนื้อเพลง “ใกล้ตา-ไกลตีน” โดยฝีมือของศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ที่ขื่อสุรชัย จันทิมาธร ดูกันสักหน่อยก่อนปะไร! “ ๐…ไกลโอ้ไกลจากโพ้นขอบฟ้า/เราจากมาด้วยการก้าวย่าง/จากกลิ่นฟางรอยยิ้มเจ้าเอย/ใครเล่าเคย…ใครเล่าเคย…/พี่น้องเอ๋ย…จะเล่าให้ฟัง… ๐ ตามทิวเขาที่ยาวเหยียดฟ้า/ตามหมู่ปลาลำธารใสสด/กลางหมู่มดที่ร้างเลิกรัง/ไปจากหลัง…ใจฝากฝัง…/ฝากเจ้าไว้…ในแผ่นดิน… ๐ ดินเคยนอนสะท้อนอุ่นอาย/มองยอดไม้เมื่อยามแรกผลิ/ผลิกิ่งดวงเป็นพวงพุ่มใบ/น้ำที่ไหลหลั่งลงจากดอย/ใจเจ้าลอยไปสู่ท้องทุ่ง/มุ่งสู่เมืองเฟื่องฟุ้งแปลกตา… ๐ เจ้าเคยยิ้มเคยแย้มเบิกบาน/สนุกสนานท่ามกลางผองเพื่อน/เคยพูดเตือนและสนทนา/เจ้าเคยฝันถึงวันที่ดี/มาบัดนี้ไม่อาจพบหน้า/ดูใกล้ตา…แต่แล้วไกลตีน… ๐ แผ่นดินที่หอม/แผ่นดินที่ตรอม…/จะกอดเจ้าไว้…ยังไออุ่นกัน/…รักเจ้าไว้…ยังไออุ่นกัน/ฝันและฝันให้ไกลที่สุด…เจ้ามนุษย์จะหวังสิ่งใด… ๐ (ซ้ำ)รักเจ้าไว้ยังไออุ่นกัน/…ฝันและฝันให้ไกลที่สุด/เจ้ามนุษย์จะหวังสิ่งใด…ฯ” เมื่อถูกถามถึงที่มาที่ไปของเพลงนี้ สุรชัย จันทิมาธร เคยบอกไว้ว่า : “… โยงความรู้สึกถึงในป่า พูดถึงเพื่อนที่ตายไป เป็นคนหนุ่มที่ต้องเสียชีวิต เป็นความรู้สึกที่ว่า เพื่อนยังคงอยู่ในใจ ในตา แต่…ในความเป็นจริง พวกเขาเหล่านั้นอยู่ไกลเหลือเกิน …ไกลตีน … ชอบจุดท้ายบท เขียนไปน้ำตาคลอ รักเพื่อนมาก ระลึกถึงเพื่อน อยากยอกเพื่อนว่า…ฝันและฝันให้ไกลที่สุด…ไม่ได้คิดถึงความเจ็บปวด-แต่คิดถึงประสบการณ์ที่ดีในป่า… …ยังหมายถึง การเดินทางอันยาวนานในป่า ที่ไปไม่ถึงสักที เหมือนกับการปฏิวัติในป่า เหมือนภูเขาที่มองดูแล้วอยู่ใกล้ตา…แต่เดินไม่ถึงสักที!” เพลง “ใกล้ตา ใกลตีน” นี้ นับเป็นหมุดหมายสำคัญยิ่งเชิงวรรณศิลป์ของสุรชัย จันทิมาธร ! เขาเขียนถึงแก่นปรัชญาชีวิตที่ยิ่งใหญ่ในความเป็นคนผู้มีจุดมุ่งทางจริยธรรมอันกล้าหาญสูงส่ง โดยการใช้คำเพียงน้อยนิด ถ้อยคำภาษาในเพลงนี้มีลักษณะเร้นแฝงความหมาย สะท้อนถ่ายการใช้ภาษาเชิงกวีนิพนธ์ในลักษณะ “สั่งคำได้เหมือนใจ” คือเป็น “คำ” ที่ออกจากใจหรือ “อารมณ์” อันลุ่มลึกของผู้เขียนโดยแท้ โดยไม่กลัวว่ากลุ่มคำที่ไม่ต่อเนื่องความดังกล่าวจะยากจนทำให้ “ผู้รับสาร” เข้าใจได้ยากหรือไม่เข้าใจ นับเป็นชิ้นงานที่อิ่มเต็มไปด้วยลักษณาการที่เรียกกันว่าเป็น “คีตวรรณศิลป์” อย่างเปี่ยมเต็มแท้จริง! “คีตกานท์ปฎิวัติ” ทั้ง 3 เพลงของสุรชัย จันทิมาธร ที่ยกมาเป็น “งานตัวอย่าง” คือ “คนกับควาย”/ “จิตร ภูมิศักดิ์” /และ “ใกล้ตา-ไกลตีน” ตอบคำถามต่อข้อสงสัยได้อย่างชัดเจนว่า ทำไมบุคคลผู้นี้จึงได้รับการขนานนามว่า “ครูใหญ่เพลงเพื่อชีวิต” และยิ่งเป็นคำตอบที่ช่วยยืนยันได้ว่า ทำไมเขาจึงได้รับยกย่องให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์”!