สถาพร ศรีสัจจัง กล่าวโดยสรุป สิ่งที่เรียกว่า “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolutionary lyric)หรือ “เพลงกวีปฏิวัติ” นั้นเป็นปรากฏการณ์ร่วมทางสังคมในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะในสังคมไทย และ สังคมลาวมาอย่างยาวนาน และงานศิลปะสร้างสรรค์ในรูปแบบดังกล่าว ก็เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เนื้อหาไปตามเงื่อนเหตุทางสังคม และ “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ของแต่ละถิ่นที่เช่นกัน ในสังคมไทยเมื่ออดีต มีเพลงพื้นบ้านประเภท “กลอนหัวเดียว” ที่สะท้อนถ่ายลักษณะ “ปฏิวัติ” คือความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งในบทร้องขับของท้องถิ่นภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ตัวอย่างเช่น ในภาคกลางเรามีบทเพลงกล่อมเด็กอย่างบท “เจ้าขุนทองไปปล้น” หรือในท้องถิ่นภาคใต้ก็มีเพลงร้องเรือที่สะท้อนการต่อต้าน “นาย” หรือตัวแทนของอำนาจรัฐอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เช่นบท พระแสงสุริยฉาย หรือบท “นกเขียวเกาะเรียวไม้พุก” เป็นต้น ในสังคมชนชาติลาวก็คงเช่นกัน มีโคลงโบราณเป็นตำนานเรื่องเล่า สำหรับขับขานปลุกใจ มีกลอนลำกลอนผญา ที่สะท้อนการวิจารณ์ระบบสังคมและเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีงามกว่าสังคมเดิมเป็นจำนวนมาก “เพลงกวีปฏิวัติ” หรือ “คีตกานท์ปฏิวัติ” ร่วมสมัย (Contemporary revolution lyric) ทั้งของไทย-ลาวที่ยกมาพูดถึงเล่าสู่กันฟังนี้ เป็นเพียงส่วนของปริมาณอันน้อยนิด มีผลงานคุณภาพสูงอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถยกมาแสดงถึงด้วยข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และเวลา กล่าวเฉพาะ “คีตกานท์ปฏิวัติ” ร่วมสมัยของสังคมไทย ตัวอย่างที่ยกมาอิงอ้างถึงเพียง 3 ท่าน คือผลงานบางชิ้นของจิตร ภูมิศักดิ์ บางชิ้นของ “นายผี” หรืออัศนี พลจันทร์ และ บางชิ้นของสุรชัย จันทิมาธร ศิลปินแห่งชาติ นั้นต้องถือเป็นส่วนน้อยของงานทั้งหมดที่มีคุณภาพถึงขั้นที่พึงเรียกได้ว่าเป็น “คีตกานท์ปฏิวัติ” ได้ ทั้งในด้านเนื้อหาและรูปแบบ งานเพลงจำนวนมากของไทย ตั้งแต่รุ่น คำรณ สัมปุณานนท์ จนกระทั่งถึงรุ่นปัจจุบัน อย่าง วิสา คัญทัพ ของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ของ มงคล อุทก บางเพลงของวัฒน์ วรรลยางกูร หลายเพลงของ จิ้น กรรมาชน หลายเพลงของแสง ธรรมดา หลายเพลงของศิลา โคมฉาย หลายเพลงของวง “คุรุชน” และแม้แต่บางเพลงของ “รุ่นใหญ่” อย่าง เปลื้อง วรรณศรี และคนอื่นๆ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ควรจะได้รับการเรียนรู้และการศึกษาเพื่อดำรงคุณค่าไว้กับสังคมไทยในฐานะ “คีตกานท์ปฏิวัติ” ทั้งสิ้น กระบวนการสร้างสรรค์ “คีตกานท์ปฏิวัติ” หรือ “เพลงกวีปฏิวัติ” นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “แนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม” ที่สำคัญยิ่ง ในกระบวนการต่อสู้เพื่อสังคมที่เป็นธรรมของมวลมนุษยชาติ ตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” มาโดยตลอด จิตร ภูมิศักดิ์ “ผู้เกิดก่อนกาล” นักคิดนักวิชาการและนักปฏิวัติคนสำคัญยิ่งของสังคมไทย ผู้ซึ่งได้สร้างสรรค์ “คีตกานท์ปฏิวัติ” ไว้เป็นจำนวนมาก ได้ให้ทรรศนะถึง “ลักษณะสำคัญ” ของ “ศิลปะเพื่อชีวิต” ไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของเขาไว้ตอนหนึ่งว่า: “…ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ตือ ศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อผลสะท้อนอย่างใดอย่างหนึ่งไปยังประชาชน ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้ดู …คือศิลปะที่มีความสัมพันธ์อยู่กับชีวิตทางสังคมของประชาชน ศิลปะเพื่อชีวิต ในทัศนะของประชาชน คือศิลปะที่ส่งผลสะท้อนอันมีคุณประโยชน์ไปยังชีวิตทางสังคมของมวลประชาชน คือศิลปะที่เปิดโปงให้ประชาชนมองเห็นต้นตอความเลวร้ายของชีวิต และพร้อนกันนั้น ก็ยั่วยุให้มวลประชาชนต่อสู้และเคลื่อนไหวไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิตอันดีกว่า… …ศิลปะเพื่อขีวิตคือศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อมีบทบาทอันเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของประชาชนส่วนรวม คือศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อรับใชีชีวิตทางสังคมของมวลชน มิใช่สร้างขึ้นเพียงเพื่อให้เป็นศิลปะเฉยๆ โด่อยู่เหมือนหัวตอ อันไม่ยอมมีบทบาทใดๆในสังคม… เช่นเดียวกับที่ประธาน เหมา เจ๋อ ตุง ผู้นำการปฏิวัติที่สามารถปลดปล่อยสังคมจีนเข้าสู่ยุคใหม่ได้สำเร็จเมื่อปีค.ศ.1949 ที่กล่าวถึงเรื่อง “ศิลปะ”ไว้ตอนหนึ่งว่า : “… ศิลปกรรมใดๆที่เปิดเผยขึ้นในสังคมเพียงเพื่อการแสวงหาความสวยงามเพียงถ่ายเดียว โดยมิได้ปลุกเร้าความรู้สึกให้เกิดความรัก ความหวังดี หรือความยุติธรรมในสังคม นับว่าเป็นศิลปะที่มี คุณค่าน้อย…” “คีตกานท์ปฏิวัติ” (Revolution lyric)ของสังคมไทย-ลาว นับเป็นแบบอย่างงานสร้างสรรค์ที่เป็น “แนวรบด้านศิลปวัฒนธรรม” ที่บทบาทมาอย่างยาวนาน เป็นคุณูปการทางสังคมที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และยิ่งนับวัน งานศิลปะที่มีเป้ามุ่งเพื่อต่อสู้ยกระดับสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ที่สอดคล้องกับกฎพัฒนาการไปสู่ความมีเสรีของธรรมชาติเช่นนี้ จะยิ่งทรงคุณค่าและเป็นที่ปรารถนาลิ้มลองของสังคมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างแน่นอน!!!