สถาพร ศรีสัจจัง ขณะนั่งดูเรื่องราวข่าวร้าย (ของประชาชนชาวโลกตาดำๆ) ที่ประธานาธิบดี (อดีตผู้มีอาชีพเป็นนักแสดงตลก) แห่งประเทศยูเครน และผู้นำกลุ่มประเทศยุโรปภายใต้การนำของ “พี่เบิ้มใหญ่” แห่งซีกโลกตะวันตกคือสหรัฐอเมริกา ทั้งหลาย เรียกว่า “สงคราม” แต่ประธานาธิบดีปูติน และ ชนชั้นครองอำนาจทั้งหลายในสังคมชาวรัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” อย่างหดหู่เศร้าหมองหัวใจอยู่หน้าจอโทรทัศน์ในบ้าน ก็มีใครบางคนเดินหน้าตาตื่นเข้ามาบอกว่า พบเห็น “ปลวก” ที่ชั้นหนังสือ! โดยที่ยังไม่ได้ปิดโทรทัศน์ ด้วยความกังวลว่า “ทรัพย์สินมีค่า” (ที่ตัวเองติดว่าน่าจะมีอยู่เพียงอย่างเดียวในบ้านและในชีวิต)จะถูกบุกรุกทำลาย จึงลุกขึ้นมุ่งตรงไปยังจุดที่ได้รับแจ้งเหตุทันที! โชคดีเหลือเกิน สิ่งมีชีวิตชื่อ “ปลวก” ที่เพื่อนร่วมโลกโดยทั่วไปมักตราว่าเป็น “นักทำลาย” (ถึงขนาดต้องมีการคิดค้นสูตรผสมสารเคมีพิษขึ้นมาเพื่อฉีดพ่นปราบปราม จนทำให้บรรษัททุนข้ามชาติตะวันตกมั่งคั่งร่ำรวยไปมากมายหลายบรรษัท)เพี่งเริ่ม “สะกรัม” กองหนังสือบนชั้นวางดังกล่าว! หนังสื่อแหว่งวิ่นไปเพียง 2-3 เล่ม และแหว่งวิ่นเพียงระดับ “เล็กน้อย” ส่วนของตัวพิมพ์ที่เป็นเนื้อหาหลักยังคงใช้งานได้ดีอยู่ ด้วยความเป็นห่วง “ของรัก” จึงหยิบสำรวจดูสภาพหนังสือบนชั้นที่ถูก “ปลวก” บุกรุกทีละเล่มๆ จึงพบว่า บนชั้นหนังสือดังกล่าว เป็นชั้นที่รวบรวมผลงานมากกว่า 30 ชื่อเรื่อง ของ “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์” นาม “โกวิท อเนกชัย” (ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2550) จึงถือโอกาสหยิบบางเล่มขึ้นมาอ่านอีกครั้ง และได้พบบทกวีบางชิ้นทีท่านผู้นี้เขียนขึ้นในช่วงกลับไปสำรวจสภาพ “ภูมิสังคม” แถบพื้นที่ถิ่นเกิดบริเวณริมทะเลสาบสงขลาของท่าน งานชิ้นให้ภาพความรู้สึกกระทบใจส่วนลึกอย่างหนักหน่วงรุนแรง เห็นปรากฏการณ์แห่ง “สงคราม” ที่กำลังเกิด ดำรง และเป็นไปอยู่ในประเทศยูเครน ตามที่เพิ่งเห็นในจอทีวี อย่างแจ่มชัดขึ้นว่า มีเหตุปัจจัยมาจากอะไร และเหตุปัจจัยดังกล่าวนั้นจะก่อผลนำไปสู่อนาคตของโลกมนุษยชาติอย่างไร? ทีนี้ก็น่าจะมาถึงคำถามเบื้องต้นของเรื่องราว “โกวิท อเนกชัย” คือใคร? ในสังคมที่โดยปกติแต่ไหนแต่ไรมา คนก็อ่านหนังสือน้อยกันอยู่แล้ว (เคยมีการเปรียบเปรยกันในทำนองว่า คนในประเทศที่ชื่อ “ไทยแลนด์” นั้น อ่านหนังสือกันเพียงปีละ 3 บรรทัด) พอยิ่งสังคมโลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “ดิจิทัล” (ซึ่ง “ชาวไทย” ก็สามารถปรับตัวตาม ด้วยการ “รับ” เครื่องมือสื่อสารแบบ “ดิจิทัล” เข้ามาเป็นสรณะอย่างรวดเร็ว โดยไม่แน่ใจนักว่า จะมีเวลาได้ตั้งสติไตร่ตรองกันบ้างหรือเปล่า ว่าจะมีผลต่อชีวิตและต่อสังคมโดยรวมในอนาคตอย่างไรบ้าง)ก็ฟังว่าผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่แทบจะไม่รับสารอื่นใดทั้งหลายผ่าน “งานเขียน” ที่อยู่ในรูป “หนังสือ” อีกเลย! เป็นเหยื่อระบบทุนนิยมบริโภคแบบทันสมัยเปี้ยบไหมละ?!! ดังนั้นก่อนจะเข้าไปถึงเรื่องอื่นๆ คงต้องใช้พื้นที่ตรงนี้ เพื่อบอกเล่าเก้าสิบถึงความเป็น “โกวิท อเนกชัย” ให้พอเป็นที่รู้จักกันสักหน่อยก่อน ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีกว่าปล่อยทิ้งค้างไว้ให้ไปหาอ่านเอาเอง (เพราะในยุคที่คนไทย “ไม่มีเวลา” อย่างยุคปัจจุบัน คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้ไปหา “อ่าน” เอง) สังคมแวดวงวรรณศิลป์ในห้วงเวลาหลายทศวรรษที่เพิ่งพ้นผ่าน รู้จักนาม “โกวิท อเนกชัย” ในฐานะของ “กวี” และศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลากสาขา ในฐานะนักบรรยายธรรมผู้มีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับการปฏิบัติภาวนาเพื่อหนทางแห่งพระนฤพานตามวิถีแห่งพุทธธรรม หลายใครรู้จักท่านผ่านนามปากกา “เขมานันทะ” อีกไม่น้อยที่รุ้จักท่านในอีกนามปากกาอันอุโฆษ คือ “รุ่งอรุณ ณ สนธยา” ผู้ก่อตั้งอดีตหาดแก้วธรรมสถาน อาศรมธรรม ณ ปากอ่าวทะเลสาบสงขลา และในนามปากกาอื่นอีกมากมายหลายนาม มูลนิธิอมตะผู้พิจารณามอบรางวัล “นักเขียนอมตะ” ให้ท่านเมื่อ พ.ศ.2549 ได้สดุดีเกียรติภูมิของท่านไว้ตอนหนึ่งว่า : “อาจารย์โกวิท เอนกชัย เป็น กวี นักคิด นักเขียน จิตรกร และ ประติมากร ผู้สร้างสรรค์ผลงาน หลากรูปแบบ ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 40 ปี มีผลงานวรรณกรรมมากกว่า 60 เล่ม นำเสนอเรื่องราวของชีวิตจิตใจ ความลึกซึ้งของความเป็นมนุษย์ การเรียนรู้จิตใจตนเองและคนรอบข้าง การมองโลกมองสังคม มองการเปลี่ยนแปลงที่หมุนเคลื่อนอยู่ในวิถีวัฒนธรรม ด้วยการตั้งข้อสังเกตอย่างลุ่มลึก ล่วงพ้นไปจากพรมแดนของเชื้อชาติ ศาสนา และ วัฒนธรรม ในวิถีของนักเขียน กวี และ วิปัสสนิก ผู้ปฏิบัติธรรมในทุกขั้นตอนของชีวิต งานสร้างสรรค์ศิลปะทุกแขนงของอาจารย์ จึงเป็นหนึ่งเดียวกับวิถีแห่งการปฏิบัติภาวนาอย่างชัดแจ้ง ลักษณะเด่นของผลงาน นอกจากจะมีมิติกว้างไกลในด้านศิลปะ นิเวศวิทยา มนุษยวิทยา ให้ความรู้สึกลุ่มลึกในหนทางพุทธประเพณีของวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังได้ความเข้าใจลึกซึ้งต่อชีวิตและแก่นของชีวิตอีกด้วย…” ตอนนี้คงต้องขอบคุณ “ปลวก” ที่เป็นปฐมเหตุ ทำให้มีโอกาสได้สัมผัสงานกวีนิพนธ์อันลุ่มลึกที่บอกเล่าอธิบายถึงแก่นปรากฏการณ์ของ “คน โลก และ สงคราม” ในมุมมองท่าน “โกวิท อเนกชัย” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในนามปากกา “รุ่งอรุณ ณ สนธยา” อีกครั้ง ! และบทกวีที่ชื่อ “แด่ ดาวโลก” ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ทะเลสาบแห่งหัวใจ” ซึ่งจัดพิมพ์โดย “มูลนิธิอริยาภา” เมื่อพ.ศ.2550 นี้เอง ที่น่าจะได้หยิบยกมาสำแดงให้เห็นโดยทั่วกันว่า “กวี” ท่านคิดอย่างไรต่อ “คน” ในยุคปัจจุบัน ที่กำลังกระทำต่อ “โลก”ให้เข้าสู่ภาวะวิกฤติ จนเหมือนจะเห็นหายนะลอยอยู่ตรงหน้า โดยการห้ำหั่นทำลายกันเอง จากแรงผลักแห่งมิจฉาทิฐิที่เกิดจากอัตตาหรือความเห็นแก่ตัวตามแบบแผนวิธีคิดแห่งรัฐทุนนิยมบริโภค ของบรรดา “ท่านผู้นำ” และกลุ่มคนผู้ถูกเบื่อเมาจิตวิญาณด้วยวาทกรรม “รัฐชาติทุนนิยมสมัยใหม่” แห่ง “ประเทศพัฒนาแล้ว” ทั้งหลาย!!!