เสรี พงศ์พิศ FB Seri Phongphit หลังสงกรานต์สังคมอาจสะดุดกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่สูงขึ้น แต่คงเชื่อมั่นแบบปลอบใจว่า เศรษฐกิจไทยในภาคการท่องเที่ยวจะดีขึ้น เพราะคนต่างชาติและคนไทยเริ่มไปเที่ยวกัน แต่อาจเป็นการหลงดีใจเท่านั้น เพราะการท่องเที่ยวคงไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก การเดินทางไปมาหาสู่จะไม่สะดวกสบายไร้เงื่อนไขเหมือนเดิม นอกจากโควิดก็ยังมีสงคราม เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ รายได้ของประชาชนหดหาย คงใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น ถ้าไปเที่ยวก็ไปในประเทศตนเอง หรือใกล้เคียงเท่านั้น ที่สำคัญ ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาไทยเป็นสิบล้านอย่างจีน คงสรุปบทเรียนแล้วว่า ในอนาคตอาจมีโรคระบาด ภัยพิบัติ ไวรัส สงคราม ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง จึงไม่ส่งเสริมให้คนไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนเดิมอีก คงอยากให้ท่องเที่ยวในประเทศมากกว่า ถ้าเราต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวต่อไป วิกฤติคือโอกาสให้พัฒนาการท่องเที่ยวนิวนอร์มอลอย่างจริงจัง ด้วยการผนึกพลัง และแบบบูรณาการ เพื่อใช้ความได้เปรียบทางซอฟต์พาวเวอร์ของไทยซึ่งมีอยู่มากมาย ซอฟต์พาวเวอร์ใหญ่สุด คือ “คนไทย” และ “วิถีชุมชน” ที่เป็นองค์รวมของชีวิต ประเพณีวัฒนธรรม ความมีน้ำใจไมตรี เสน่ห์ที่สร้างความประทับใจผู้ไปเยือน ที่ไม่เพียงวิวทิวทัศน์หรือโบราณสถาน แต่ได้สัมผัสกับผู้คน ได้สานสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมบ้างแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไปดูของปลอมไร้วิญญาณที่จัดแสดงให้นักท่องเที่ยวที่เมืองกรุงเมืองใหญ่ ลองจัดทัวร์เล็กๆ ไปร่วมการทอดกฐิน ผ้าป่า งานบุญประเพณีตามภาคต่างๆ ที่มีมากมาย หลายจังหวัดก็เริ่มมีการจัดการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว ที่น่ากังวลคือการเน้น “ขายของ” หรือรายได้ทางเศรษฐกิจมากกว่าอย่างอื่น จนมองข้ามอารมณ์ความรู้สึกของผู้ไปเยือนที่ต้องการ “ประสบการณ์” ดีๆ ที่ไปร่วมงานบุญนั้น ถ้าจังหวัดมียุทธศาสตร์เรื่องการท่องเที่ยวนิวนอร์มอล ท่องเที่ยววิถีชุมชนแบบบูรณาการ ด้วยการผนึกพลังของทุกภาคส่วน เศรษฐกิจจังหวัดคงดีขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็น “หน้าที่” ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ททท.ทำคนเดียว ไปให้กรมการพัฒนาชุมชนเสนองบมากมายไปทำท่องเที่ยวนวัตวิถีที่ประเมินแล้วมี “ตลาดและศาลาร้าง” มากมายหลายชุมชน บ้านเราเก่งในการสร้างกำแพง ไม่สร้างสะพาน ชอบพายเรือคนละลำ ไม่อยากลงเรือลำเดียวกัน ใครคิดเก่ง ทำเก่ง หางบเก่งก็ทำไป ส่งเสริมไป ชุมชนทำไปเพราะมีงบประมาณ ประเมินทุกทีก็ล้วนแต่ดีๆ มีราคาเพื่อของบประมาณใหม่ในปีต่อไป ไม่ได้แยกแยะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นต่างชาติและคนไทย ที่มีรสนิยมต่างกัน การท่องเที่ยวชุมชนไม่ว่าหน่วยงานไหนไปส่งเสริมก็ดูจะมีรูปแบบสำเร็จรูปที่ไป “ยัดเยียด” ให้ชุมชนทำ ก่อสร้าง จัดการ จัดขบวนแห่ ขบวนฟ้อน การแสดงการละเล่นในตอนค่ำ มีตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่หลายแห่งกลายเป็นตลาดนัดที่มีสารพัดเหมือนตลาดนัดทั่วไป ถ้ามีการวิจัย การสรุปบทเรียนของกระบวนการเกิดและจัดการของการท่องเที่ยวชุมชนจริง และนำไปใช้ในการส่งเสริม เราก็น่าจะได้อะไรดีๆ มากกว่าเห็นแต่ปริมาณที่ขาดคุณภาพ เพราะมักทำง่ายๆ แบบ “เด็ดยอดภูมิปัญญา” ขายวัฒนธรรม นำออกไปจากปริบทชีวิตที่มีจิตวิญญาณและเสน่ห์ที่เป็นพลังที่ยั่งยืนกว่า การเกิดขึ้นและการดำเนินการของตลาดน้ำอัมพวา สามชุก เชียงคาน เป็นสามกรณีที่ยืนยันว่า ถ้าชุมชนเป็น “เจ้าของ” ร่วมมือทุกกระบวนการขั้นตอน มีฐานวัฒนธรรมจริง โครงการจะยั่งยืน เสียดายว่า เป็น “ตลาดน้ำ” ที่โดดเดี่ยว ไม่ได้เป็นแกนคลัสเตอร์การท่องเที่ยวท้องถิ่น ที่เสนอทางเลือกอื่น มิติอื่นที่หลากหลาย การที่รัฐไปส่งเสริม คนในท้องถิ่นมักรับลูกและพัฒนา แต่ก็ได้เห็นบทเรียนที่เป็นผลเสียมามากแล้ว อย่างการเกิดตลาดน้ำไปทั่วโดยเอกชน ที่คิดแต่เรื่อง “ธุรกิจรายได้” มากกว่าอย่างอื่น สุดท้ายก็ไปไม่รอด เหมือนกับการโปรโมตการทำเหล้าในรัฐบาลก่อนๆ ต้มเหล้ากันทั้งบ้านทั้งเมือง เจ๊งไปเกือบหมด เพราะการส่งเสริมที่เน้นแต่เรื่อง “การขาย” ไม่มีด้านความรู้ วิชาการ กฎหมาย ตลาด วัฒนธรรม กระทรวงอว.น่าจะทำโครงการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในทุกจังหวัด ให้มหาวิทยาลัยในจังหวัดนั้นๆ รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ เป็นฐานให้การพัฒนาเศรษฐกิจท่องถิ่นอย่างมั่นคง ไม่ใช่เกิดเพราะการไปส่งเสริมของหน่วยงานรัฐ เพื่อใช้งบประมาณ หมดแล้วก็ขอใหม่ ทำใหม่ การวิจัยนี้ไปพร้อมกับโครงการ Big Data ชุมชน ฐานข้อมูลการพัฒนายุทธศาสตร์ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาบนฐานทรัพยากรและทุนท้องถิ่น ไม่ใช่ทุกหมู่บ้านมีศักยภาพที่จะพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน แต่ทุกอำเภอมี จัดเป็นคลัสเตอร์การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงพื้นที่ สถานที่ องค์กรชุมชน ผู้นำ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ภายใต้แนวคิดการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แบบบูรณาการ ถ้าแต่ละจังหวัดมีคลัสเตอร์ท่องเที่ยวชุมชนทุกอำเภอ โดยกระบวนการที่ชุมชนคนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การท่องเที่ยววิถีชุมชนจะเกิดอย่างมีแบบมีแผน มีเป้าหมายชัดเจน และจะอยู่ยืนมากกว่า การท่องเที่ยวที่ผสมผสานกับการศึกษาดูงานภายในประเทศที่ควรส่งเสริมให้มากจากต่างประเทศและในประเทศ การท่องเที่ยวที่ผสมกับการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ระหว่างจังหวัด ระหว่างภาค ซึ่งมีการจัดการอบรมสัมมนาระหว่างการแสดงนิทรรศการและการขายผลิตภัณฑ์ระหว่างภาค ถ้าคนสกลนครยกคณะไปนครศรีธรรมราช นำเอาผลิตภัณฑ์หลายดาวของตนเองไปขาย ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูงานวิสาหกิจชุมชนดีเด่น วันหลังก็เชิญคณะจากนครศรีธรรมราชไปที่สกลนคร ทำเช่นนี้ทุกจังหวัด ก็จะเกิดเครือข่ายเต็มแผ่นดิน เกิดตลาดร่วม เกิดภาคีพันธมิตรธุรกิจการท่องเที่ยวชุมชน ปัญหาบ้านเรา ไม่ว่าราชการ เอกชน หรือชุมชน มักทำอะไรตามๆ กัน ไม่ให้ความสำคัญกับการวิจัย การเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรม ชอบเลียนแบบไม่เรียนรู้ ทำร้อยครั้งจึงเจ๊งร้อยครั้ง