สถาพร ศรีสัจจัง ในเดือนมกราคม ปีพุทธศักราช 2550 มูลนิธิอริยาภา ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมบทกวีเล่มสำคัญของ “รุ่งอรุณ ณ สนธยา” ซึ่งคอวรรณศิลป์ของแท้ย่อมทราบดีว่า นี่คืออีกหนึ่ง “นามปากกา” อันรุ่งโรจน์ของกวี และ วิปัสนิกชาวสงขลาเมืองใต้ นาม “โกวิท อเนกชัย” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และ นักเขียนรางวัล “อมตะ” ออกมาเล่มหนึ่ง ในชื่อ “ทะเลสาบแห่งหัวใจ” ย่อหน้าท้ายสุดในบท “กล่าวนำ” ของมูลนิธิอริยาภาผู้จัดพิมพ์ บอกไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า : “หัวใจ คือสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดของทุกชีวิต ถ้อยคำที่กลั่นออกมาจากหัวใจก็มหัศจรรย์ในความงดงามดุจกัน ไม่ว่าเสียงเต้นของหัวใจบอกจังหวะอันเร่งเร้า หรือแผ่วเบาเพียงใด ก็ล้วนแต่ทรงคุณค่าแก่การรับรู้…” และ “ต้องมีคุณค่าแก่การรับรู้” อย่างแน่นอน และ อย่าง “ยิ่งขึ้น” เมื่อเสียงของหัวใจดังกล่าว สำแดงให้รับรู้ด้วยจิตวิญญาณของ “ปราชญ์” และ ด้วยท่วงทำนองจังหวะของ “ภาษากวี” กวีผู้ยังชีวิตสำแดงชัดตลอดมา ถึงปรีชาญาณอันโดดเด่นแห่งพุทธิปัญญาของความเป็น “ตะวันออก” โดยเฉพาะตะวันออกในส่วนจากถิ่น “แหลมทอง” หรือ “สุวรรณภูมิ” แห่ง “สทิงพาราณสี” โบราณ หรือ “เมืองแห่งแผ่นดินบก” หรือคือเมืองสทิงพระระโนด ในปัจจุบัน! หนังสือ “ทะเลสาบแห่งหัวใจ” เป็นประหนึ่งบทบันทึกถึง “ความตื่นฟื้นแห่งจิตวิญญาณ” (Spiritual resurraction)ของกวีผู้รจนา ครั้งเมื่อได้หวนคืนกลับสู่ “ถิ่นเกิด” หรือ “มาตุภูมิ” อีกครั้ง ได้สัมผัสดิ่งนิ่งอยู่ใน “ภาพประทับ” กับเวิ้งทะเลสาบสงขลา ทะเลสาบผืนใหญ่สุดแห่งแดนดินอุษาคเนย์ อันตนเองได้รับการเพาะเลี้ยงให้ได้เรียนรู้ในการรังสรรค์โลกทัศน์ชีวทัศน์ขึ้นมาแต่เมื่อวัยเยาว์ ฯลฯ เนื้อหาของบทกวีเกือบทั้งเล่ม เหมือนจะรวมศูนย์อยู่ที่การสะท้อนถ่ายเรื่องราวต่างๆจากภาพตกกระทบที่ท่านได้พบเห็นเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์” ใหม่ของทะเลสาบสงขลาในคืนวันแห่งการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่กวีได้นิราศร้างไปเสียเนิ่นนานปี แล้วท้ายสุด ต้องกลับมาพบกับภาพ “กำสรด” ! “ภาพกำสรด” อันเป็นผลที่เกิดจาก “ความหลงผิด” หรือ “มิจฉาทิฐิ” ในเส้นทางการพัฒนาสังคมของบรรดาบุตรหลานแห่งทะเลสาบ ที่หันไปสมาทานรับเอาโลกทัศน์การให้คุณค่าแบบ “ระบบทุนบริโภค” ของโลกตะวันตก มาเป็นคุณค่าแห่งชีวิตแบบตะกละตะกลาม ชนิดที่ปราชญ์ร่วมสมัยคนสำคัญของสังคมไทยอย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” เคยเรียกว่าเป็นการรับมาแบบ “ไม่เลือกแก่นทิ้งกาก” ฯลฯ ก่อผลประจักษ์ให้เห็นอยู่ตรงหน้าคือ ความพังพินาศล่มสลายในทุกด้านของ “มหาครรโภทร” อันยิ่งใหญ่มาแต่โบราณของห้วงน้ำ “ทะเลสาบสงขลา” โดยการใช้เวลาเพียงไม่เกิน 4 ทศวรรษ! ลองมาฟังบางตัวอย่าง(เล็กๆน้อยๆ)จากเสียงกวีคือ “รุ่งอรุณ ณ สนธยา” ในเรื่องนี้กันดู เผื่อจะทำให้บางใครที่ได้ร่วมสัมผัสรู้ ได้มีจิตวิญญาณที่ตื่นฟื้นขึ้น และเสาะหาหนังสือฉบับเต็มมาอ่านเพื่อสัมผัสพลังสร้างสรรค์ทางจิตวิญญาณให้ได้อิ่มเต็ม ทั้งอาจทำให้ “บรรดาผู้มีอำนาจ” หรือบางใคร? ได้ร่วมสำเหนียกถึงความจำเป็นอย่างฉับพลัน ในการที่จะต้องลงมือ “ปฏิบัติการ” ด้านใดด้านหนึ่ง หรือหลายด้าน เพื่อก่อขึ้นเป็น “ขบวนฟื้นฟูคุณค่าของทะเลสาบสงขลา” อย่างทันการในวันนี้ได้บ้าง! จากบางส่วนของบทกวีที่ชื่อ “สถานสถิตวิญญาณ” : “วันเวลานี้ ทะเลสาบสงขลากำลังร่ำให้ สรวงสวรรค์ของนกน้ำ วิมานของหมู่ปลา แห่งห้วงน้ำวิปโยคกำลังสั่งเสียลูกหลาน… ………………… พ่อเฒ่าและแม่เฒ่าจากไปสู่ปรโลก ทอดทิ้งลูกหลานว้าเหว่ไว้ในห้วงเวลา ที่ทะเลสาบกำลังอ่อนโหย นกกระยางเฒ่าหลับตานิ่งอยู่บนกอผักตบชวา เคลิ้มฝันเห็นการดับของดวงตะวัน และการแหวกว่ายวนของฝูงปลา ในอาณาจักรมืดของบึงเน่า… …………………… รัก,โดยไม่ร่วมทั้งในสุขและทุกข์โศก จะมีความหมายอะไรกันเล่า แต่มัวโศกเศร้าสิ้นหวังทั้งไร้การเคลื่อนไหว นั้นน่าอัปยศ” บทกวีทั้งเล่มเต็มไปด้วย “เสียงกู่ปริเทวนาการแห่งอาทวา” เช่นนี้ไปหาอ่านบทเต็มกันเอาเถิด แล้วจักรู้ว่าพลังแห่งถ้อยคำที่รจนาโดย “กวีแท้” นั้นงดงามและยิ่งใหญให้กุสุมรสเยี่ยงใด! แต่เมื่อนี้ เราเพียงต้องการจะนำบางบทในหนังสือ “ทะเลสาบแห่งหัวใจ” เล่มดังกล่าว มาแสดงไว้ให้ประจักษ์ เพื่อจะอธิบายว่า กวี “คิด” และ “รู้สึก” อย่างไรต่อปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สงคราม” ระหว่างมนุษยชาติด้วยกัน ที่สำแดงให้ประจักษ์อยู่ต่อหน้าต่อตา และ “ต่อโลก” อย่างภาพลักษณ์แห่งการทำลายอันพินาศรุนแรง ที่แสดงอยู่โต้งๆในแผ่นดินที่เรียกขานกันว่า “รัฐชาติแห่งยูเครน” ในปรัตยุบัน!