สถาพร ศรีสัจจัง 29 เมษายน 2565 ครบวันวันเกิดรอบปีที่ 74 ของ สุรชัย จันทิมาธร ที่คนทั้งสังคมไทยน่าจะรู้จักกันชื่อ “หงา คาราวาน” มากกว่าชื่อจริงของเขาเสียละกระมัง หลายใครบอกว่า ชื่อ “สุรชัย จันทิมาธร” นั้นเป็นชื่อ “นักเขียนหนุ่ม” ยุค “แสวงหา” คนสำคัญมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2510 ซึ่งเป็นช่วงยามของการก่อหวอดทางความคิดหรืออาจถึอได้ว่าเป็นช่วงยาม “สุกดิบ” ของการ “ลุกขึ้นสู้” เพื่อเคลื่อนเปลี่ยนศังคมไทยครั้งสำคัญ ที่เรียกกันในภายหลังว่าเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ อันยิ่งใหญ่” (พ.ศ.2516) นั่นแหละ! ในช่วงต้นๆของทวรรษดังกล่าว มีงานเขียน โดยเฉพาะประเภทเรื่องสั้นคุณภาพของนักเขียนหนุ่มจากเมืองรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ที่ชื่อสุรชัย จันทิมาธร ตีพิมพ์กระจัดกระจายอยู่ตามหน้านิตยสารที่มี “คอนเทนต์” หรือ “เนื้อหา” ที่เกี่ยวกับ “ศิลปะ-วรรณกรรม-วัฒนธรรม” อยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ที่ฮือฮากันในวงวรรณกรรมพอสมควรก็คือ มีเรื่องสั้นของเขา 2 เรื่อง ปรากฏตีพิมพ์พร้อมๆกันในนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ยุคที่มีบรรณาธิการชื่อ “ประมูล อุณหธูป” (อุษณา เพลงธรรม เจ้าของวรรณกรรมโดดเด่น “เรื่องของ จัน ดารา” คนนั้นนั่นแหละ!) ที่ฟังว่า ยากนักยากหนาที่เรื่องสั้นของนักเขียนรุ่นใหม่หรือของใคร จะผ่านการพิจารณาอย่างเข้มข้นจากบก.นักเขียนเรืองนามท่านนี้ ถ้าจำไม่ผิด เรื่องสั้นทั้ง 2 เรื่องของ สุรชัยฯ ครั้งนั้น เรื่องแรกมีชื่อว่า “แล้งเข็ญ” ส่วนเรื่องที่ 2 มีชื่อสุดแสนจะคลาสสิก คือ “คนและคนบ้า”! และถ้าจำไม่ผิด (อีกนั่นแหละ) ในช่วงเดือนธันวาคม 2512 สำนักพิมพ์สยาม ก็ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “มาจากที่ราบสูง” อันเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของสุรชัย จันทิมาธร ในบรรณพิภพออกวางแผงเคียงคู่ร่วมกับหนังสือของนักเขียนร่วมสมัยในช่วงยามนั้นอย่างสง่างาม บันทึกไว้ด้วยว่า ขณะนั้นผู้เขียน,คือสุรชัยฯยังเป็น “ละอ่อน” อายุเพิ่งย่าง 20 ยังเป็นนักเรียนโข่งนุ่งกางเกงขาสั้นเรียนอยู่ในชั้นปีแรกๆของโรงเรียนช่างศิลป์อยู่เลย! ถ้าจำไม่ผิด(อีกแล้ว)เขาน่าจะเรียนที่ช่างศิลป์รุ่นเดียวกับศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์อย่างน้อย 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ วิโชค มุกดามณี ผู้ล่วงลับ (เมื่อไม่นานนัก) และอาจารย์ศราวุธ ดวงจำปา อดีตคณบดีคณะจิตรกรรม ม.ศิลปากร ประติมากรฝีมือเยี่ยม ตามด้วยรวมเรื่องสั้นเล่มที่ 2 ในปีพ.ศ.2513 โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นในชื่อ “เดินไปสู่หนไหน” อันเป็นชื่อที่สะท้อนยุคสมัยแห่งการ “แสวงหาอันสับสน” ได้อย่างชัดเจนยิ่ง! หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สุรชัยฯก็สามารถพัฒนาวงดนตรี “ท.เสนและสัญจร” ที่มีเพียงเขากับ “แดง” วีรศักดิ สุนทรศรี (ผู้เพิ่งล่วงลับ) เพียงสองคนร่วมเล่นกันตามงานประท้วงต่างๆในยุคนั้น โดยผนวกรวมเข้ากับอีก 2 ศิลปินจากวงบังกลาเทศ แบนด์แห่งวิทยาลัยเทคนิคโคราช คือ มงคล อุทก(ผู้ล่วงลับ) และ ทองกราน ทานา จนกลายเป็น “คาราวาน”วงดนตรีเพื่อชีวิต “ต้นแบบ” ที่เป็นตำนานลือเลื่องมาจนถึงยึงยุคปัจจุบัน ทำให้สุรชัย จันทิมาธร ได้รับตำแหน่งฉายาเป็น “อาจารย์ใหญ่เพลงเพื่อชีวิต” อย่างที่รู้ๆกัน ในขณะทำงานในฐานะ “คีตกวี” แต่งานด้านวรรณกรรม “สายตรง” ก็ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆมาโดยตลอด กระทั่งได้รับยกย่องให้ได้รับเกียรติเป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์” ในปีพุทธศักราช 2553 และหลังจากนั้น บทกวีชิ้นแล้วชิ้นเล่าของศิลปินแห่งชาตินามสุรชัย จันทิมาธร ก็สำแดงสุนทรียะแห่งถ้อยคำให้ปรากฏแก่สายตาแก่มหาชนผ่านทางสื่อดิจิทัลอย่างไม่ขาดสาย กระทั่งถึงช่วงปีที่ 74 ณ บัดนี้เข้าแล้ว ก็ยังคงยืนหยัดยืนยันความเป็นตัวตนแบบ “เสรีชน” ของแท้ที่ “ใจกว้าง” ไม่ตัดสิน “ความเป็น” ของคนอื่นแบบมักง่ายใจแคบแน่อย่างใด และยังคงยืนยันทางแห่งตนทั้งโดย “คีตกานท์” และ โดยวรรณกรรมอย่างมั่นคงจริงใจ! โอกาส ครบรอบ 74 ปีแห่งชีวิตสร้างสรรค์ของเขา เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่เพิ่งพ้นผ่าน ขอหยิบยืม “คำโพสต์” ที่เป็นข้อเขียนของ อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มาร่วมยืนยันว่า “หงา คาราวาน” เป็น “คน” อย่างที่ อัศศิริ ยกย่องจริงๆชนิดไม่น่าจะเกินเลย! “ในบรรดาศิลปินที่ใช้คำว่า “เอกอุ” ได้ อย่างเต็มปาก สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน นับเป็นผู้หนึ่งของประเทศ สุรชัย จันทิมาธร เป็นเลิศทั้งในด้านคีตศิลป์และวรรณศิลป์… ต่อไปนี้คือท่อนหนึ่งในเพลง “หยุดก่อน” ของคาราวานอันเป็นที่รู้จักกันดี “ลูกกระสุนของใครแล่นไปฆ่า ผู้ที่ตายวายชีวามีเจ้าของ เราฆ่ากันเพื่อไทยเลือดไหลนอง ที่ศึกต้องยืดเยื้อนี้เพื่อใคร?” ส่วน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์(ไม่ต้องบอกสถานภาพว่าคือใคร)กล่าวสรุปถึง สุรชัย จันทิมาธร ในวาระนี้ไว้ว่า : “...” หงา คาราวาน” คือ “หงา สง่างาม” เพราะทำงานมาตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้ และคิดว่าต่อไปในอนาคตก็จะเป็นอมตะ…” สวัสดี!