ยูร  กมลเสรีรัตน์

ครั้งหนึ่งที่ผมไปเยี่ยมอาจินต์ ปัญจพรรค์ ชวนผมเข้าไปชมข้างในบ้าน ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวขนาดกะทัดรัด  ด้านซ้ายเป็นตู้กระจกเก็บนิตยสารฟ้าเมืองไทยเรียงกันเป็นตับอัดแน่นเต็มตู้ ตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์เมื่อ 6 เมษายน 2512 จนถึงฉบับสุดท้ายเมื่อปีพ.ศ.2532 ครั้งที่เป็นบรรณาธิการและเจ้าของในนามโรงพิมพ์อักษรไทย

ผมอยากจะหยิบออกมาดู แต่เกรงใจ ไม่กล้าเอ่ยปาก เพราะกระดาษคงจะเก่ากรอบ อาจหลุดขาดได้ง่าย เป็นหนังสือหายากแล้ว  ส่วนด้านขวายกพื้นขึ้นสูงเล็กน้อย เป็นห้องเล็ก ๆ มีหนังสือเรียงรายในตู้กระจก ใกล้ ๆ กันเป็นหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง 

“เรื่อง “นางฟ้าตกวิมาน” มีสำนักพิมพ์ขอไปหลายปีแล้ว หาต้นฉบับยังไม่เจอ จะค้นในฟ้าเมืองไทย ก็ยากน่าดู  นวนิยายเรื่องนี้ฉากสวยมาก นางเอกขี่ม้าที่ไร่ปากช่อง ถ้าเป็นละคร น่าจะสนุก พระเอกชื่อทักษิณ มาเจอนางเอกกำลังขี่ม้า”

ผมติดตามอ่านฟ้าเมืองไทยมาตลอด ตอนยังรุ่น ๆ ไม่มีเงินซื้ออาศัยอ่านจากญาติที่ซื้อบ้าง หาอ่านในห้องสมุดบ้าง โดยเฉพาะบทบรรณาธิการอันคมเฉียบ ที่แฝงความหมายระหว่างบรรทัด ผมจำได้ว่านวนิยายเรื่องที่กล่าวถึงได้ นวนิยายที่อาจินต์ ปัญจพรรค์เขียนจะอยู่หน้าแรก ๆ

“นวนิยายเรื่องนี้ตอนลงฟ้าเมืองไทยชื่อ “ดาววิดีโอ”ใช่ไหมครับ”ผมเอ่ยขึ้น

อาจินต์ ปัญจพรรค์มองหน้าผมพลางยิ้ม

“ใช่ คุณจำแม่นนี่  ผมจะเอาไปพิมพ์รวมเล่ม เลยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “นางฟ้าตกวิมาน” มีคนมาขอ ชื่อไอ้เข้ จะเอาไปให้ดอกหญ้าพิมพ์ แล้วมันก็หายไปเลย หาตัวไม่เจอ ต้นฉบับก็ไม่ได้คืน”

ผมรับปากว่าจะสืบเสาะถามคนในวงการหนังสือให้ ผมโทรศัพท์ไปถามหลายคน  ต้นฉบับ”นางฟ้าตกวิมาน”ที่หายไปเป็นเวลาหลายปี  ใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ก็ได้กลับคืนมา ใส่ไว้ในแฟ้มพลาสติกในสภาพเรียบร้อย  คนที่ส่งข่าวบอกผมคือ จิตติ หนูสุข อดีตบรรณาธิการดอกหญ้าและดับเบิ้ลนายน์

ผมจึงโทรศัพท์บอกข่าวดีให้กับอาจินต์ ปัญจพรรค์  แล้วเอาต้นฉบับไปให้ “พี่อาจินต์”ขอบคุณผมที่เป็นธุระให้ ในเวลาไม่นาน “นางฟ้าตกวิมาน”ก็จัดพิมพ์ออกมาในรูปเล่ม 16 หน้ายกพิเศษ โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า2000 ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ดอกหญ้ายุคใหม่

“ผมเขียนนวนิยายน้อย ไม่กี่เรื่อง ผมไม่ใช่มือนวนิยายเหมือนนักเขียนหญิง ผมมือเรื่องสั้น”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ไม่ใช่แค่มือเรื่องสั้น แต่มือฉมังทางเรื่องสั้นเลยล่ะบางเรื่องมีตัวละครแค่

ตัวเดียว แต่อ่านแล้วจับใจ ส่วนนวนิยาย เท่าที่ไล่ดูมีประมาณ 12 เรื่อง แม้จะเขียนนวนิยายน้อย แต่ชั้นเชิงในการดำเนินเรื่องและการใช้ถ้อยภาษา รวมทั้งลีลาในการเขียนชวนอ่าน นวนิยายที่เด่นที่สุดที่รู้กันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งนำไปใช้เป็นหนังสือประกอบการเรียนในโรงเรียนนายอำเภอนั่นก็คือเรื่อง “เจ้าพ่อ-เจ้าเมือง” พิมพ์ซ้ำน่าจะเกือบ 10 ครั้งแล้ว ที่น่าทึ่งก็คือ เขียนลงฟ้าเมืองไทย  ทั้งที่แบกรับหน้าที่บรรณาธิการอันหนักอึ้ง

นอกจากนี้ก็มีนวนิยายเรื่อง “เจ้าแม่” ลงพิมพ์ในนิตยสารกุลสตรีกว่า  30 ปีมาแล้ว  เป็นเรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2  อันเป็นภาคต่อของนวนิยายเรื่อง “เจ้าพ่อ”  ครั้งที่ญี่ปุ่นบุกกรุงเทพฯ ตัวละครที่ชื่อ แม่ผาดกลับมาโลดเต้นอีกครั้งอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ด้วยความเป็นคนใจนักเลง ยิ่งกว่าชายอกสามศอก ใครคือเจ้าแม่ตัวจริง ระหว่างแม่ผาดกับหลานสาว

เรื่อง “สนใจได้ยินไหม” นวนิยายทันสมัยลงพิมพ์ในกุลสตรีเป็นเรื่องต่อมา หลายคนไม่รู้จักนวนิยายเรื่องนี้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ถูดถึงนวนิยายเรื่องนี้ว่า ต้องการสื่อความเป็นไปของยุคสมัยให้กับวัยรุ่น เป็นเสมือนตำราสอนวัยรุ่น บทที่ 4 จะเป็นการสอนการประพันธ์ให้กับนักเขียนใหม่

นวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่คนอ่านไม่ค่อยรู้จัก อาจจะเป็นเหตุผลเดียวกันเหมือนนวนิยายบางเรื่องที่ตีพิมพ์ในนิตยสารของคนอ่านอีกกลุ่มหนึ่งและพิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ที่อยู่นอกแวดวงวรรณกรรมคือเรื่อง “นางเอกหลังบ้าน”จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชเมื่อปีพ.ศ.2538  

“เรื่อง “นางเอกหลังบ้าน”คุณศรี(ศรี ชัยพฤกษ์ หรืออรชร ผู้เขียน ร้อยป่า,ป้อมปืนตาพระยา     ฯลฯ ที่ปรึกษานิตยสารบางกอก,บางกอกสแควร์-ล่วงลับแล้ว) เขามาขอให้ผมเขียนลงบางกอกสแควร์ คุณศรีเป็นผู้ใหญ่กว่าผม  มาขอเรื่องผม ผมถือว่าให้เกียรติมาก ผมก็เลยเขียนเรื่อง “นางเอกหลังบ้าน”ให้  คนอ่านชอบกัน เป็นเรื่องของเด็กสาวจบประถมหก  เป็นสาวใช้เขา แต่เป็นเด็กใฝ่เรียน มุมานะเรียนกศน.ไปด้วย ทำงานไปด้วย ”

ภายหลังนวนิยายเรื่อง“นางเอกหลังบ้าน”ได้สร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 7 อาจินต์ ปัญพรรค์บอกเล่าให้ฟังจบแล้ว ก็ให้ข้อแนะนำกับผมว่า...

“เป็นนักเขียนต้องเสาะหาอ่านผลงานดี ๆ ให้มาก โดยเฉพาะผลงานของนักเขียนต่างประเทศและนักเขียนรางวัลโนเบล อย่างเรื่องสั้นของเออร์เนสต์ เฮ็มมิงเวย์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวของ กาเบรียล การ์เซีย มาเควซ โดยเฉพาะ “ศิลปะคืออะไร”ของเลียฟ  ตอลสตอย ที่สิทธิชัย แสงกระจ่างแปล เป็นหนังสือที่ควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง จะได้รู้ว่างานเขียนที่ดีเป็นอย่างไร”

เย็นวันหนึ่ง ราวปีพ.ศ.2541 อาจินต์ ปัญจพรรค์โทรศัพท์ไปหาผม ผมกำลังอาบน้ำให้พ่ออยู่ แล้วผมจึงโทรฯกลับไป  มีเสียงทุ้มดังมาตามสายว่า

“ผมเพิ่งรู้ว่า “แม่บรรเทา”เป็นนามปากกาของคุณ เขียนคอลัมน์ “คือความเคลื่อนไหว”

ขอบใจมากที่เขียนเชียร์ “นางฟ้าตกวิมาน” คุณเลี้ยงพ่อแม่ เหมือนเทวดาในบ้าน ไม่มีวันตกต่ำหรอก”

ผมกล่าวขอบคุณเบา ๆ ด้วยความซาบซึ้งใจ  วันที่ผมไม่มีวันลืมที่ผมขอบันทึกไว้ก็คือวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 เมื่อ “พี่อาจินต์”โทรศัพท์หาผมที่บ้าน แต่ตอนนั้นผมแยกตัวไปเช่าห้องอยู่ที่สลัมไม่ไกลจากบ้าน เพื่อจะไปดูแลพ่อแม่ได้  เสียงเพจเจอร์ก็ดังขึ้น ผมจึงไปโทรศัพท์ที่ตู้สาธารณะโทรฯไปบ้าน เด็กรับใช้ที่พี่สาวคนโตจ้างมาดูแลพ่อแม่ บอกสั้น ๆ ว่า คุณอาจินต์โทรฯหา เมื่อผมโทรฯไปหา “พี่อาจินต์”เสียงดังทุ้มก็ดังมาตามสาย

 “เหนื่อยไหม อย่าท้อนะ ดูแลพ่อแม่ยิ่งกว่าซื้อโลงทองให้ท่าน เทพเจ้าเห็นเอง ใครรู้ก็สรรเสริญ วันนี้จน แต่วันหน้าคุณจะต้องดีขึ้นเรื่อย ๆ”

ในเวลานั้นจิตใจกำลังเหนื่อยล้า ในห้วงเวลานั้นอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ  เหมือนคนกำลังจะจมน้ำ คำปลอบประโลมให้กำลังใจที่ได้รับจากผู้ใหญ่ด้วยความห่วงใย  ทำให้ผมรู้สึกตื้นตันใจ จนต้องสะอื้นออกมาเบา ๆ อย่างระงับไว้ ไม่อยู่แม้ขณะนี้ที่กำลังเขียน  เห็นใบหน้าของ “พี่อาจินต์”ผุดขึ้นมาพร้อมกับน้ำเสียงคุ้นหู นักเขียนยิ่งใหญ่ของเมืองไทยโทรศัพท์ให้กำลังใจนักเขียนเล็ก ๆ มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก

ช่วงที่ผมเขียนคอลัมน์ “ในลิ้นชักความทรงจำ”ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ได้ไม่กี่เดือน “พี่อาจินต์” ถามผมว่าได้ตอนเท่าไหร่ ผมตอบว่าพันห้า “พี่อาจินต์”พยักหน้าด้วยสีหน้ายินดี

“เอาล่ะ ใช้ได้ ไม่น้อยหรอก เป็นนักเขียนต้องทำงานดี ๆ ให้เขา ไม่ใช่เอาแต่เงิน เขียนทุกอย่างต้องให้เกียรติบ.ก. เพราะเอาเงินเขา ต้องคิดให้มากกับผลงาน การเป็นนักประพันธ์ นอนให้เต็มตา กินให้เต็มอิ่ม แล้วประโยควรรคทองจะออกมา คนอดนอน เขียนไม่เป็นตัว  แล้วในเรื่องการเขียน อย่างมัวคิดสร้างสำนวน สำนวนคือสร้อยเพลง เอาความจริงในชีวิตมาเขียนให้คนอื่นอ่าน คนอื่นไม่รู้ความจริงในชีวิตเราเท่าเราเขียน”

ชีวิตประจำวันของอาจินต์ ปัญจพรรค์ตอนที่พักอยู่ที่บ้านย่านสุทธิสาร ที่แจกแจงให้ผมฟังอย่างละเอียดยิบก็คือ......

“ตื่นตีห้า กินกาแฟ อ่านหนังสือพิมพ์รายวันห้า เล่ม รายสัปดาห์สามเล่ม แล้วตัดเรื่องดี ๆ เก็บไว้หรือทำกากบาทข้อความสำคัญ  จากนั้นออกไปเดินสี่พันก้าว  หาข้าวแกงกิน แล้วไปนั่งอ่าน

หนังสือที่ศาลาริมบึง ไปแวะเซเว่นซื้อทอฟฟี่แจกเด็ก ๆ  เดินกลับถึงบ้านสามโมงเช้า ถึงบ้านอ่านหนังสือต่อ ฟังจส.100 อยากรู้ความเป็นไปบนท้องถนน บ่ายนอนพักผ่อน  แล้วดูทีวี เคเบิ้ล อ่านหนังสือ ยังไม่เขียนคอลัมน์ ดูดวัตถุดิบไว้ก่อน

สองทุ่มดูเคเบิ้ล ชอบสุทธิชัย หยุ่น สภาพ คลี่ขจาย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง  สี่ทุ่มนอน เปิดวิทยุใส่ถ่านฟัง AM เป็นวิทยุชาวบ้าน FMฟังตอนกลางวัน ถ้าตอนกลางคืนฟัง FM รายการเดียวคือเพื่อน

รัตติกาล สมัยอยู่ทีวีนอนตีสี่  เที่ยวจนไนท์คลับปิดหมด บางวันนัดพบกับเพื่อนที่ร้านข้าวต้ม ถนนเสือป่า จนพระบิณฑบาต วัยเปลี่ยนไป จากตีสี่เป็นสี่ทุ่ม แก่แล้ว ก็นอนหัวค่ำ”

คำบอกเล่าของผู้ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างโชกโชนและสามารถจัดสรรชีวิตในบั้นปลายได้อย่างมีความสุข น่าจะเป็นข้อคิดและเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตของใครหลายคน

(อ่านต่อตอนหน้า)