ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

ผมไปเยี่ยมอาจินต์ ปัญจพรรค์  ครั้งสุดท้ายที่บ้านย่านสุทธิสาร ก่อนที่จะไปอยู่แก่งเสี้ยน “พี่อาจินต์”กำลังอ่านและตรวจหนังสือสารคดีชีวิต “อาจินต์ ปัญจพรรค์”ที่แน่งน้อย ปัญจพรรค์ เป็นคนเรียบเรียงจากที่ “พี่อาจินต์”พูดอัดใส่เทป หนังสือเล่มหนาปึก จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สารคดี เห็นหน้าหนังสือหลายหน้าถูกวงด้วยปากกาบ้าง เติมใส่บ้าง  ต่อมา สำนักพิมพ์มติชนนำไปจัดพิมพ์ครั้งใหม่  “พี่อาจินต์” แก้ไขแล้ว คงสมบูรณ์กว่าเดิม

วันหนึ่งผมโทรศัพท์ไปที่บ้าน  วีรยศ  สำราญสุขทวีเวทย์ ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นคนดูแลบ้าน จึงรู้ว่าย้ายไปอยู่บ้านแก่งเสี้ยน จังหวัดกาญจนบุรีตอนปลายปี 2553  จนกระทั่งปลายเดือนตุลาคม  2554  น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ผมระเห็จไปพักที่บ้านไร่ไทรโยคของวัฒน์ วรรลยางกูร ได้ 7 วัน อยากเปลี่ยนที่พัก เพราะตอนนั้นอยู่กับความเงียบในป่าไม่ได้  มันเหงา อยากกลับกรุงเทพฯ พอโทรฯไปหาเพื่อนบ้าน บอกว่าน้ำยังไม่ลด

วัฒน์ วรรลยางกูร จึงขับรถพาไปบ้านของศิวกานท์  ปทุมสูต กวีมือรางวัลที่สุพรรณบุรี ไปนั่งดื่มไวน์กันข้างสระได้สักพัก วงเดือน ทองเจียว นักเขียนเรื่องสั้นฝีมือดี ชาว ยโสธร ได้เมียคนสุพรรณบุรี กำลังเดินมาแต่ไกล เลยไปพักที่บ้านของวงเดือน  ทองเจียว  ผมนึกได้ว่าอาจินต์  ปัญจพรรค์อยู่แก่งเสี้ยน จึงหาช่องทางติดต่อ จนกระทั่งได้เบอร์มือถือของศักดา วิมลจันทร์ ศิลปินที่ออกแบบปกหนังสือชุด เหมืองแร่ยุคก่อน ลายเส้นวิจิตรงดงามมาก 

ผมโทรฯบอกกล่าวแน่งน้อย ปัญจพรรค์ล่วงหน้า  แล้วชวนวงเดือน ทองเจียว นักเขียนเรื่องสั้นไปด้วยกัน ตอนขับรถเข้าไปถนนของหมู่บ้าน  หลงทาง ต้องได้ย้อนกลับไป  ตอนนั้นมีบ้านหร็อมแหร็ม มีแต่ความเวิ้งว้าง  รถวิ่งเข้าไปลึกพอสมควร มีบ้านตั้งอยู่ห่าง ๆ กัน ต้นไม้แผ่กิ่งใบชอุ่ม มองไปทางไหนมีแต่สีเขียวสด

บ้านตั้งอยู่บนเนินสูงมาก น่าจะเป็นบ้านหลังเดียวที่อยู่สูงที่สุด มองลงไปข้างล่าง เห็นบ้านหลังอื่น ๆ เรียงรายอยู่ห่าง ๆ กัน  “พี่แน่งน้อย”เล่าว่า ฉลอง  เจยาคม ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับ “พี่อาจินต์” อ่านฟ้าเมืองไทยตั้งบวชตอนอายุ 10 ขวบ ต่อมาส่งเรื่องมาลง ทั้งฟ้าเมืองไทยและฟ้ารายเดือน

“ตอนหลังฉลองย้ายมาอยู่แก่งเสี้ยน สร้างบ้านที่นี่  แล้วพามาเที่ยวหลายครั้ง  ตอนจะมาพี่อาจินต์ไม่อยากมา พี่มากี่ครั้ง ก็ไม่สนใจ เวลามาก็ไม่อยากลงจากรถน ะพี่อาจินต์มาแค่สองสามหน 

ตอนแรกไม่ได้อยู่ตรงนี้  เป็นของฉลอง ฉลองเขาเปลี่ยนให้ อยากให้อาจารย์อยู่ตรงนี้ วิวดีกว่า พอ

เริ่มสร้างบ้าน พี่นั่งวาดแบบ ต้องถามพี่อาจินต์ว่าบ้านไม้กว้างเท่าไหร่ ยาวเท่าไหร่ แล้วก็นั่งวาดแบบ

วัดความกว้างยาวของบ้านไม้ ห้อง เพื่อเอามาวางแบบให้พอดีกับความกว้างยาวของไม้ที่มี นั่งวาดแบบทุกวัน เดี๋ยวแก้ตรงนั้น แก้ตรงนี้ บ้านหลังเดียว แก้ทุกวัน เป็นเดือนเลย”มีเสียงหัวเราะเบา ๆ ในท้ายประโยค

ผมพูดขึ้นว่ารู้ข่าวว่าขึ้นบ้านใหม่เมื่อวันที่ 26  ตุลาคม 2554 แต่“พี่แน่งน้อย”รีบพูดแทรกขึ้นว่า

“ไม่ได้ขึ้น ๆ ไม่ได้ขึ้นบ้านใหม่ บ้านยังไม่เสร็จเลย คนจะมากัน ก็พอดีน้ำท่วม วันที่ 11 (11 ตุลาคม เป็นวันเกิดอาจินต์ ปัญจพรรค์) มีคนมาแค่ 2-3 คน ฉลองคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงจัด ก็มาไม่ได้  น้ำท่วม”

“ปัญหา รถจะมา มาไม่ได้”อาจินต์ ปัญจพรรค์พูดขึ้นเสียงดังฉะฉาน “ฉลองอยู่ดอนเมือง บ้านน้ำท่วม คนที่มาแทน ไอ้โอลด์เล้ง(เจ้าของร้านโอลด์เล้ง ย่านRCA) วรพจน์ ประพันธ์พันธ์ นั่งรถมากับวีรยศ”

วันเกิดอาจินต์ ปัญจพรรค์ ครบ 84 ปี แม้คนจะมีเพียงไม่กี่คน ต่างก็ชื่นมื่นและอบอุ่น บ้านขนาดชั้นครึ่ง ครึ่งปูน ครึ่งไม้ ยกสูงราว 2 เมตร ขนาดกะทัดรัด ตั้งเด่นอยู่บนเนินสูง  มีระเบียงรับลมได้ทุกทิศ ดกดื่นด้วยหมู่ไม้สีเขียวอร่ามตา ช่างน่าอภิรมย์ยิ่งนัก  ผมคิดว่าหลังจาก “พี่อาจินต์”วางมือจากคอลัมน์”วาบความคิด”ในมติชนสุดสัปดาห์ ถึงเวลาพักผ่อนในบั้นปลายแล้ว  แต่กลับได้รับการบอกเล่าอย่างกระฉับกระเฉงว่า

“ตอนนี้ผมเขียนอยู่ที่หนังสือ “ดนตรี เพลง” นิวัติ กองเพียร เป็นบ.ก. เป็นหนังสือของมหิดล”นิวัติ-เกจินู้ด มาขอให้ผมเขียน ผมรักเขา  ก็เลยเขียนให้  อย่างผมเขียนถึงเพลงที่ร้องว่า “เด็กเอ๋ยเด็กดี” ว่าเป็นมาอย่างไร ชื่อเพลง “หน้าที่เด็ก”พี่อุ่ม(ชอุ่ม ปัญยพรรค์) เป็นคนแต่งสมัยจอมพลป.(แปลก พิบูลสงคราม)  ครูเอื้อ สุนทรสนาน แต่งทำนอง”

สักครู่ ก็ลุกขึ้นไปหยิบสมุดมายื่นหน้าที่กางออก  เขียนเป็นบทกลอนหลายบทด้วยลายมือยุกยิกให้ผมอ่านออกเสียง  ผมเพ่งมองพลางอ่านให้ฟัง

“กลอนไม่เพราะจดเฉพาะความเป็นจริง

ไม่มีสิ่งสุนทรีย์ที่บ้านพัก

มีแต่ความรู้สึกนึกตระหนัก

และสิ่งที่เห็นประจักษ์ธรรมดา”

ผมอ่านติด ๆ ขัด ๆ หยุดเพ่งมองบ้าง แต่ก็อ่านจนจบ แล้วอ่านต่อท้ายบทกลอนที่แต่งว่า “วันที่ 12 พฤศิจายน 2554” ส่วนกลอนบทอื่น ๆ ไม่ได้อ่านต่อ แต่ผมก็ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก  ตอนนั้นใช้กล้องดิจิตอลยี่ห้องแคนนอลที่ลูกคนโตซื้อให้ แล้วถ่ายรูป “พี่อาจินต์”นั่งที่ระเบียงบ้านหลายรูป มีรูปหนึ่งมองเห็นสีเขียวดกดื่นของหมู่ไม้ทอดยาวตัดกับท้องฟ้าสวยงามมาก           

วันที่ 18 ตุลาคม 2560 ผมชวนวัธนา บุญยัง นักเขียนแนวพงไพรระดับเบสต์เซลเลอร์ไปเยี่ยมอาจินต์ ปัญจพรรค์ เขาตอบรับทันที  ก่อนนี้ผมชวนเพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง  เขาไม่แสดงความ

กระตือรือร้นเหมือน “พี่วัธนา” บอกว่าขอดูเวลาก่อน คงไม่เต็มใจ เพราะไม่ได้เกิดที่ฟ้าเมืองไทยรึเปล่า “พี่วัธนา”มีเรื่องสั้นเกี่ยวกับป่าแจ้งเกิดที่ฟ้าเมืองทอง  การที่ผมจำวันที่ไปเยี่ยม “พี่อาจินต์”ได้แม่น เพราะตอนกำลังเดินทาง คุยโทรศัพท์กับสาโรจน์ มณีรัตน์ เหยี่ยวข่าวรุ่นเก๋าของค่ายมติชนจึงรู้ว่า เป็นวันที่เผาศพสุมิตรา จันทร์เงา  นักเขียนรุ่นน้องที่สนิทสนมกัน เธอเสียชีวิตโดยผมไม่รู้ข่าวเลย

เราไปเยี่ยม“พี่อาจินต์”ครั้งนี้นี้ผิดจากปี 2554 ที่จะเป็นคนชวนคุย เรียกว่าคุยจ้อ แต่ครั้งนี้ถ้าไม่ชวนคุย ก็จะนั่งเงียบ บางช่วงนั่งตาหรี่ปรือเหมือนจะง่วงนอน  เราถามว่าจะไปพักผ่อนไหม “พี่อาจินต์”ส่ายหน้า แทนคำตอบพลางยิ้มน้อย ๆ คงเป็นไปตามวัย คนอายุตั้ง 90 ปีแล้ว “พี่แน่งน้อย”หูตายังดี ใส่แว่นอ่านหนังสือได้ แต่การเดินเหินจะใช้ไม้เท้าสี่ขา(วอล์คเกอร์)  สุขภาพถือว่าดี ตอนปี 2541เข้าโรงพยาบาล เพราะถุงลมโป่งแตก นอนโรงพยาบาลเกือบเดือนพอปี 2550 ต่อมลูกหมากโต  ต้องได้ผ่าตัด

“ผ่าตัดลำไส้อีกครั้งตอนปี 55  เพราะแต่ก่อนกินเหล้ามาก ต้องพกถุงใส่ฉี่  ยังไปหาหมอที่ศิริราชเหมือนเดิม แต่หลังผ่าตัดปี 55 ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิมแล้ว ”

กระทั่งวันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันนักเขียน อาจินต์  ปัญจพรรค์เข้าโรงพยาบาลศิริราช เพราะติดเชื้อ นอนรักษาตัว 3 เดือนกว่า แล้วย้ายไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลบางไผ่อีก 3 เดือน เรื่องนี้ผมรู้ภายหลังตอนไปงานศพ ถ้ารู้ข่าว ก็ไปเยี่ยมแล้ว 

ผมรู้ข่าวว่าอาจินต์ ปัญจพรรค์เสียชีวิต ก็ต่อเมื่อออกข่าวทีวีเรื่องพระราชทานเพลิงศพที่วัดตรีทศเทพราว ๆ ต้นเดือนมีนาคม ตอนที่ผมกลับกรุงเทพฯ เพราะก่อนหน้านี้ผมไปพักที่บ้านไร่โทรโยคของวัฒน์ วรรลยางกูร ผมจึงไปเคารพศพ แน่งน้อย  ปัญจพรรค์เล่าให้ฟังตอนวันเกิดครบ 91 ปี วันที่ 11 ตุลาฯว่า

“นิมนต์พระมาข้างเตียงคนป่วย พี่อาจินต์ก็ไม่ลืมตา จับมือให้ไหว้พระ ก็แข็ง ๆ พระท่านบอกไม่เป็นไร พระสวดมนต์ไม่ทันจบ มือก็ตกข้าง ๆ หมดแรง

ตอนที่วีรยศ  สำราญสุขทวีเวทย์  ติดต่อผมทุกทางและหลายครั้งมากจนอ่อนใจ  มือถือผมหมดอายุไข  จึงไม่รู้ข่าวคราวอะไรเลย แม้กระทั่งให้ผมเขียนไว้อาลัยในหนังสืองานศพ  ผมบอกเขาตอนเจอกันว่าเสียดายมาก แต่มันสุดวิสัย ไม่เป็นไร ดวงวิญญาณของ “พี่อาจินต์”คงรับรู้

ผมหวนนึกถึงตอนไปเยี่ยม”พี่อาจินต์”ที่แก่งเสี้ยนเมื่อปี 2560  ฤดูกาลนั้นต้นไม้เขียวครึ้ม  สดชื่นเหลือเกิน บ้านหลังกระทัดรัดตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันบริสุทธิ์  เหมาะกับบั้นปลายชีวิต ซึ่งเป็นวัยที่ควรแก่การพักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่สงบเงียบ   หลังจากตรากตรำตรำงานและย่ำรอยเท้าผ่านกาลเวลามาเป็นเวลายาวนาน 

ในวัยหนุ่มนักเขียนทุกคนต่างก็มีพลังในการสร้างสรรค์ผลงาน  แต่จะตราตรึงอยู่ในใจของคนอ่านเป็นเวลายาวนานนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้เหมือนกับนักเขียนผู้ยิ่งยงและยิ่งใหญ่-อาจินต์  ปัญจพรรค์

“เกิดมาจงเป็นคนดี เป็นพลเมือง จงเป็นพลเมืองดี เขียนหนังสือ จงเป็นนักเขียนที่ดี เขียนไปนมีคนเอ็นดู เรียกหาขานนาม หนังสือโน้นหนังสือนี้ก็มาขอให้เขียน ให้มากมั่งน้อยมั่ง เราไม่เกี่ยง ขอแต่เพียง จะเขียนของดี (อาจินต์  ปัญจพรรค์)