ในลิ้นชักความทรงจำ /ยูร  กมลเสรีรัตน์

“ตอนเขาซื้อ “ลูกอีสาน” ไปสร้างหนัง ผู้กำกับบอกผมว่า ให้พี่คำพูนแสดงนะ  เป็นชีวิตของพี่คำพูน จะได้เป็นธรรมชาติ  เอ้า! แสดงก็แสดง จะให้ทำแบบไหนก็บอก  ก็ทำท่าทางตามที่ผู้กำกับบอก พูดตามบท ไม่ได้พูดอะไรมาก  ให้ธงชัย ประสงค์สันติเล่นเป็นบักคูน”

คำพูน  บุญทวี ที่ผมเรียกอย่างสนิทใจว่า “พี่คำพูน” ก็เลยสวมบทเป็นตัวเอก จะเรียกว่าพระเอกก็ย่อมได้ โก้ไปเลย ได้ค่าตัวอีกต่างหาก นอกเหนือจากค่าลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน”

ช่วงวัยหนุ่มของความเป็นนักเขียน  ชื่อเสียงของคำพูน บุญทวีหอมฟุ้งมาก ยิ่งหลังจากได้รางวัลซีไร้ท์เป็นคนแรกของประเทศไทย ซึ่งเพิ่งก่อตั้งเป็นปีแรก  ไม่มีการประกวด  เป็นการคัดสรรผลงานของนักเขียนที่เห็นว่าเหมาะสม นักเขียนซีไร้ท์ชาวอีสานคนนี้จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ

สื่อต่างๆ ขอสัมภาษณ์มากมาย  ออกทีวีทุกช่อง ส่งให้ชื่อเสียงดังก้องทั่วฟ้าเมืองไทย  เมื่อ “ลูกอีสาน” สร้างเป็นภาพยนตร์โดยบริษัท ไฟว์สตาร์ แล้วยังมีผู้กำกับระดับขึ้นแท่นคือ คุณาวุฒิ กำกับการแสดง  นำแสดงโดยพระเอกที่ชื่อคำพูน บุญทวี  

แม้จะเป็นดาราใหม่ถอดด้าม แต่ด้วยเรื่องราวของชีวิตคนอีสานอันคลาสสิก รวมทั้งได้ผู้กำกับฝีมือเยี่ยม ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง “ลูกอีสาน” ได้รับความนิยมสูง  เมื่อออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ พานักเรียน นักศึกษาไปดูรอบพิเศษกันมากมาย  ยิ่งส่งให้นวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน”ขายดิบขายดี ทำให้เชื่อเสียงของคนเขียนพุ่งทะยาน  “พี่คำพูน”ยิ้มเบิกบาน แทบไม่หุบยิ้ม

นอกจากนี้ยังเดินสายไปพูดตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เชิญ ไปจังหวัดไหน มีรึหนุ่มน้อยที่ชื่อคำพูน บุญทวี จะไม่ถูกตอม แม้ไม่หล่อเหลาเหมือนดารา  ก็พอไปวัดไปวาได้ ที่สำคัญ ความดังของตัวหนังสือคือ เสน่ห์มัดใจสาว  สมัยนั้นจึงมีสาวเยอะมาก

ชื่อเสียงพุ่งทะยานถึงเพียงนี้ นิตยสารต่าง ๆ ตอมหึ่ง ขอให้เขียน พลังในการเขียนของนักเขียนซีไร้ท์คนแรกของไทยในห้วงเวลานั้นเหลือล้นมาก  นอกจากมีนวนิยายลงในฟ้าเมืองไทยของบรรณาธิการรุ่นครู-อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่แจ้งเกิดเต็มตัวด้วยนวนิยายเรื่อง “ลูกอีสาน” แล้ว ตัวละครชาวอีสานได้โลดเต้นเป็นนวนิยายในหนังสือหลายฉบับด้วยกัน

นักเขียนชาวยโสธรผู้นี้เขียนหนังสือด้วยปากกาบนกระดาษฟุลสแก๊ป ไม่ได้เขียนใน คอมพ์อย่างนักเขียนส่วนใหญ่ในสมัยนี้ จึงต้องปั่นต้นฉบับทั้งวันทั้งคืน จนมือแทบเป็นระวิง  บางฉบับจำต้องปฏิเสธไป ทั้งที่อยากเขียนให้ แต่สุดวิสัยจริง ๆ  ที่เขียน ๆ อยู่ก็เขียนแทบไม่ทัน

แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ยักษ์ไหญ่รายวัน อย่างไทยรัฐ ยังติดต่อให้เขียน  ยุคนั้นไทยรัฐยิ่งใหญ่ขนาดโฆษณายังต้องง้อ  ไม่ใช่ใครก็เขียนลงได้  นวนิยายเรื่อง “นักเลงตราควาย”  จึงวาดลวดลายในแบบฉบับนักเลงอีสานสมัยเก่าอย่างถึงใจ  คนอ่านติดกันงอมแงม แต่อ่านไม่ทันไร อารมณ์พลันสะดุด เพราะลงแต่ละตอนสั้นจู๋  ไม่จุใจแฟนนักอ่านของคำพูน บุญทวี

“หนังสือหลายฉบับขอให้เขียน  เราไม่ได้เขียนให้เขา  เขาหาว่าเราดัง แล้วหยิ่ง  แต่มันเขียนให้ไม่ได้จริง ๆ ถ้าให้เขียนได้ ใครจะไม่อยากเขียน เขาก็โกรธ”คำพูน บุญทวีเล่าให้ฟังที่บ้านบางบัวทองเมื่อ 20  กว่าปีมาแล้ว

เลือดนักเขียนของคำพูน บุญทวีแทรกซ่านอยู่ทุกอณูของสายเลือด  สิ่งที่แสดงให้เห็นก็คือ เมื่อได้รับเชิญให้ไปรับรางวัลซีไร้ท์ที่ประเทศอินโดนีเซีย  นอกจากไปรับรางวัลและได้ไปเที่ยวแล้ว ยังเอาประสบการณ์ในการเดินทางมาเขียนเป็นสารคดีเรื่อง “ลูกอีสานขี่เรือบิน”  พิมพ์ซ้ำหลายครั้งแล้ว  ขายตั้งแต่พิมพ์ครั้งแรก ๆ ราคา 20 บาท จนกระทั่งเป็น 100 บาทไป แล้วยังไปปั่นราคาขายในตลาดถึง 350 บาท

นี่แหละมืออาชีพโดยแท้ การตั้งชื่อเรื่องมีคำว่า “ลูกอีสาน” นำหน้า ในทางธุรกิจหนังสือเรียกว่า ขายหัวหรือขายโลโก้ ก็ย่อมได้  ในทางการเขียน เป็นการขายยี่ห้อหรือโลโก้ คำว่า “ลูกอีสาน” ไม่อยากใช้คำว่า ขายชื่อ ความหมายจะส่อทางลบ

คนเราเวลาดวงพุ่งกระฉูด ไม่ว่าอาชีพไหน มันแรงมากจนฉุดไม่อยู่  ในเวลานั้นชื่อเสียงของคำพูน บุญทวี  ดังข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงยุโรปคือ ประเทศเยอรมนี  เมื่อได้รับเชิญไปร่วมสัมมนานักเขียนที่เยอรมันนี เพราะภาพยนตร์เรื่อง “ลูกอีสาน”ฉายในยุโรปหลายประเทศด้วยกันระดับนักเขียนมืออาชีพอย่างคำพูน บุญทวี  ไม่เคยกลับเมืองไทยมือเปล่าให้เสียเที่ยวหรอก  ได้นำประสบการณ์ที่พบเห็นมาเขียนสารคดีเรื่อง “สีเด๋อย่ำเยอรมัน” 

วัตถุดิบสำคัญครั้งที่พำนักอยู่เยอรมนีก็คือ สัมภาษณ์ผู้หญิงไทยที่ถูกหลอกไปขายตัวที่เยอรมนี  นำมาเขียนนวนิยายเรื่อง “นรกหนาวในเยอรมัน” เรื่องนี้จำได้แม่นว่าลงในนิตยสารทีวีพูลของต้อย  แอ็คเน่อร์ “พี่คำพูน”เล่าให้ฟังตอนไปเยี่ยมที่บ้าน เป็นจังหวะที่รับโทรศัพท์จากกองบรรณาธิการทีวีพูล ยังจำได้ด้วยว่าได้ตอนละ 5 พันเมื่อราวปี 2542 หรือปี 2543

บุคลิกของคำพูน บุญทวี เป็นคนยิ้มแย้ม ซื่อ อันเป็นคุณลักษณะของคนอีสาน สุขก็ยิ้มแก้มแทบปริ  ทุกข์ก็มีรอยยิ้มแต่งแต้ม  แล้วความทุกข์ก็มาเยือนในราว ๆ อีก 10 ปีต่อมา  เมื่อนิตยสารฟ้าเมืองไทยเลิกกิจการ ซึ่งมีงานเขียนประจำลงที่เวทีนี้เป็นรายได้หลัก ประกอบกับชื่อเสียงเริ่มแผ่วลง อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์

“ฟ้าเมืองไทยเป็นหนังสือเพียงฉบับเดียว ที่เป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำ  เลี้ยงชีพมาตลอด”คำพูน

บุญทวีเปิดเผยความรู้สึก “ไม่มีฟ้าเมืองไทย ก็ไม่มีที่ให้เขียน  จะส่งเรื่องไปลงหนังสืออะไรก็ไม่กล้าส่ง  ตอนที่เราได้รางวัลซีไรท์ใหม่ ๆ  เขาชวนเราไปเขียน  เราก็ไม่ได้เขียนให้เขา จนเขาโกรธเรา”

คำพูน บุญทวีเล่าต่อว่า เคยเขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการหนังสือสองฉบับ  ก็ไม่ตอบกลับมา  แล้วบอกว่าไม่โกรธเขาหรอก  ตอนมีชื่อเสียงไม่ได้เขียนให้เขา  จะเอาต้นฉบับไปเสนอหนังสือฉบับไหน ก็ไม่กล้าไป  ก่อนจะพูดประโยคหนึ่งที่ผมจำได้ขึ้นใจ  นำมาเตือนตัวเองเสมอ  ผมว่าเป็นปรัชญาเล็ก ๆ ง่าย ๆ แต่เปรียบได้ลึกซึ้ง นั่นก็คือ...

 “เอาเรื่องไปเสนอสำนักพิมพ์  ถ้าเขาปฏิเสธ หาประตูทางออกไม่ได้นะ”

ผมสะดุดกับประโยคนี้ทันที พลางมองหน้า “พี่คำพูน” เห็นภาพทันที  ถ้าถูกปฏิเสธ เดินคอตกออกจากประตูสำนักพิมพ์หรือนิตยสารด้วยความผิดเหวังและเจ็บปวดแน่นอน  ด้วยเหตุนี้ “พี่คำพูน”จึงทำได้เพียงเขียนจดหมายไปถึงบรรณาธิการ ซึ่งไม่ได้รับคำตอบ ดังที่กล่าวข้างต้น ไม่กล้าแม้แต่จะโทรศัพท์  คำพูน บุญทวีเล่าถึงความตกอับในครั้งนั้นให้ฟังว่า....

“ฟ้าเมืองไทยเลิกเมื่อปี 2532 ไม่มีรายได้  ก็ดิ้นรนด้วยการเขียนสารคดีและนิทานพื้นบ้านอีสานให้สำนักพิมพ์พิมพ์รวมเล่ม มีเรื่องหนึ่งที่ขายขาดให้กับสำนักพิมพ์เรื่อง “ปลาบึกบันเทิง” เป็นนิทานภาพ”

มีชื่อเสียงขนาดนี้ ถ้าเป็นนักเขียนต่างประเทศสบายไปแล้ว แต่นี่กลับต้องขายขาดให้สำนักพิมพ์ ฟังแล้ว ช่างสลดนัก คนเราในยามรุ่งโรจน์ ใคร ๆ ก็ให้ความชื่นชมและต้อนรับ ในยามตกอับก็ถูกเมินหน้าหนี แต่อุปสรรคจากการถูกปฏิเสธ  ไม่ได้ทำให้นักเขียนซีไรท์คนแรกผู้นี้ท้อแท้  ถ้าท้อก็อด ไม่เคยตากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากใครในวงการแม้แต่คนเดียว  จึงต่อสู้ด้วยตนเอง ดังที่เล่าต่อว่า...

“ต่อมาเขียนวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “สัตว์พูดได้”ไปเสนอสำนักพิมพ์เม็ดทราย เขาก็ไม่เอา เอาไปเสนอสำนักพิมพ์ต้นอ้อ ก็ไม่เอา เขามีข้ออ้างเหมือนกันว่าจะเป็นวรรณกรรมเยาวชนก็ไม่ใช่ วรรณกรรมผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง”

ถูกปฏิเสธซ้ำสอง  เป็นบางคนซวนเซ จนตั้งหลักไม่อยู่  ซ้ำสมองตื้อตัน คิดเขียนไม่ออก  แม้จะท้อแท้บ้าง อันเป็นรื่องธรรมดาของมนุษย์  แต่นักเขียนลูกอีสานคนนี้ไม่มีวันท้อถอย แม้จะถูกปฏิเสธ หาประตูทางออกไม่ได้ ที่ตนเองเคยพูดไว้ก็ตาม

“ผมเลยเอาเรื่อง “สัตว์พูดได้”ไปเสนอให้สำนักพิมพ์บูรพาสาส์น บรรณาธิการเขาอ่านแล้วชอบ เขารับพิมพ์รวมเล่มให้”

เรื่อง “สัตว์พูดได้” ที่สองสำนักพิมพ์นั้นบอกว่า  จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนก็ไม่ใช่ วรรณกรรมผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง คนจะปฏิเสธ อ้างอะไรก็ได้  คงกลัวขายไม่ได้มากกว่ามั้ง  ในเวลานี้พิมพ์ ไปแล้ว 4 ครั้ง ผลงานเรื่องนี้เอา  ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก มาเขียนเป็นเรื่องราวได้ทั้งสาระและความเพลิดเพลิน 

คำพูน บุญทวี ช่างคิด ช่างสร้างสรรค์จริง ๆ ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้รับเกียรติบัตรยกย่องจากชมรมสภาวะแวดล้อมสยามและใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบในระดับมัธยมตอนต้นอีกด้วย

(อ่านต่อตอนหน้า)