ทองแถม นาถจำนง มีปาฐกถาของ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ดี ๆ อีกมากมาย ที่ข้าพเจ้ายังมิได้นำมาเสนอใหม่ เรื่องหนึ่งคือเรื่อง “ความเป็นมาของมุสลิมในประเทศไทย” แสดงที่ห้องประชุมคุรุสภา สวนกุหลาบวิทยาลัย ตามคำเชิญของพิทยสามัคคีสมาคม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2501 แต่เนื่องจากเนื้อหาค่อนข้างยาว ข้าพเจ้าขอเสนอเพียง เรื่องมุสลิมสมัยอยุธยาก่อนเท่านั้น เริ่มดังนี้ “........ในปัจจุบันนี้ เราได้ค้นพบเครื่องถ้วยชามสังคโลก อันเป็นผลิตภัณฑ์ของกรุงสุโขทัย ซึ่งสินค้าที่ส่งออกนอกเป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย ในระยะนั้นถ้วยชามสังคโลกเหล่านี้ได้ขุดพบในประเทศอิสลามต่าง ๆ หลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซียได้พบเป็นจำนวนมาก ยังอยู่ในลักษณะที่ดีที่บริบูรณ์ยิ่งกว่าที่เราพบในเมืองไทยเสียอีก เพราะในเมืองไทยที่ตกค้างอยู่ก็เป็นเฉพาะถ้วยชามที่เสียหายแตกหักร้าวที่ฝังไว้ตามเตาเผาถ้วยชาม นอกจากประเทศอินโดนีเซียแล้วยังได้พบถ้วยชามสังคโลกไกลออกไปถึงขนาดประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศอิสลาม แล้วก็ออกไปจนถึงอัฟริกาอีกหลายแห่งซึ่งได้พบถ้วยชามสังคโลกเหล่านั้น หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีการค้าขายติดต่อระหว่างประเทศไทยกับชนชาติอิสลามต่าง ๆ มาเป็นเวลาช้านานทีเดียว อาจจะก่อนสมัยสุโขทัยขึ้นไปอีกก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามนับเป็นเรื่องที่เมืองไทยเรายังไม่มีประวัติศาสตร์แน่ชัดลงมาแล้ว เรียกได้ว่าความสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ที่นับถือศาสนาอิสลามนั้นมีอยู่ตลอดมา และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีการเดินเรือติดต่อกัน คนไทยนั้นดูตามประวัติศาสตร์ไม่ปรากฏว่าเป็นชาติที่เดินเรือเก่งกล้าอะไรนัก เพราะฉะนั้นเรือสินค้าในสมัยนั้นน่าจะเป็นเรือที่มาจากต่างประเทศ คือประเทศต่าง ๆ ที่ส่งเรือสินค้าเข้ามาบรรทุกสินค้าจากประเทศไทยออกไปยังประเทศของตนอีกทีหนึ่ง และในขณะนั้นยังไม่ปรากฏว่ามีชาวยุโรปเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นผู้ที่มาค้าขายเดินเรือติดต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ นั้น จึงน่าจะสันนิษฐานว่าเป็นชนชาติอาหรับซึ่งเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามแน่นอน นอกจากการเดินเรือติดต่อแล้ว การค้าขายระหว่างประเทศในสมัยนั้น ก็จะต้องมีพ่อค้ามาตั้งสำนักหลักแหล่งอยู่ภายในประเทศ เพื่อรับซื้อสินค้าต่าง ๆ ส่งออกไป และรับสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นผมเข้าใจว่าในกรุงสุโขทัยนั้น น่าจะมีมุสลิมีนที่มาจากต่างประเทศเข้ามาตั้งสำนักหลักแหล่งเพื่อดำเนินการค้าขายอยู่แล้ว ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาความสัมพันธ์ในลักษณะนี้ก็คงมีอยู่ อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง กรมศิลปากรได้ขุดพระเจดีย์หรือพระธาตุที่วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างซึ่งสร้างขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าสามพระยา (พระบรมราชาธิราช)ก็ราว ๆ พุทธศักราช 1961-1962 นับว่าเป็นสมัยแรกเริ่มของกรุงศรีอยุธยา เครื่องสมบัติต่าง ๆ อันมีค่าที่พบอยู่นั้นปรากฏว่ามีเหรียญอยู่สองเหรียญ มีตัวหนังสืออาหรับจารึกอยู่ ปรากฏว่าเป็นเหรียญทองคำที่ทำขึ้นในประเทศแคชเมียร์ ในรัชสมัยของพระมหากษัตริย์อิสลามผู้ทรงพระนามว่าพระเจ้าไซนูอาบีดีน เหรียญทองคำสองอันนี้เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นการติดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอย่างแน่ชัด ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้เอง ที่มีหลักฐานแน่นอนว่าได้มีมุสลิมีนเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและได้ตั้งเมืองเป็นสำนักหลักแหล่งขึ้น โดยมีหลักฐานอย่างแน่นอนปรากฏตามจดหมายเหตุโบราณว่า มีคนที่คนโบราณเรียกว่า “แขกเทศ” ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่สะพานประตูจีนด้านตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาไปจนถึงหลังวัดนางมุก แล้วเลี้ยวไปท่ากายี อันเป็นท่าน้ำแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ที่พูดมานี้คือตั้งแต่สะพานประตูจีนฟากตะวันตกไปจนถึงหลังวัดนางมุก แล้วเลี้ยวไปท่ากายีนั้นเป็นบริเวณที่มุสลิมีนตั้งบ้านเรือนอยู่ในกำแพงเมือง และนอกกำแพงเมืองออกไปก็ตั้งแต่ปลายสะพานประตูจีนฟากตะวันตกไปถึงตำบลที่เรียกว่าฌะไกรน้อย ฟากตะวันตก สำหรับทำเลที่ว่าอยู่นอกกำแพงเมื่องนี้ เป็นไร่นา เข้าใจว่ามุสลิมีนจะใช้ทำการเพาะปลูกอยู่ด้วย สำหรับคนที่ได้เข้ามาอยู่ในประเทศช้านาน จนกระทั่งมีที่ดินเป็นของตัวเอง ย่อมทำไร่ไถนาด้วยตัวเอง นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศทีเดียว และสำหรับผู้ที่อยู่ในกำแพงเมืองประกอบอาชีพด้วยการค้าขายสินค้าต่าง ๆ ในบริเวณตั้งแต่ประตูจีนฟากตะวันตกมาจนถึงฌะไกรน้อยนี้เอง มีถาวรวัตถุที่ร้างไปแล้ว คือที่ ๆ ปรากฏนั้นเป็นโคกหรือเป็นเนินสูง ซึ่งเข้าใจว่าได้ถมขึ้นเพื่อให้พ้นระดับน้ำท่วมในฤดูนั้น และบนเนินสูงก็มีสิ่งก่อสร้างซึ่งร้างไปแล้วปรากฏอยู่ ปรากฏอยู่ชาวบ้านเรียกกันมาจนทุกวันนี้ว่า กะฎีทอง เข้าใจกันว่ากะฎีทองนี้เป็นซากของสุเหร่าหรือมัสยิด ที่คนที่นับถือศาสนาอิสลามในสมัยนั้นสร้างขึ้นไว้ ทีนี้คำว่า “แขกเทศ” ที่ปรากฏในจดหมายเหตุนี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าจะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีรกรากบ้านเดิมอยู่ในประเทศอาหรับบ้าง และในประเทศอิหร่านหรือเปอร์เซียนนั้นบ้าง แล้วก็มาตั้งรกรากเพื่อดำเนินการค้าขาย แล้วในที่สุดก็กลายเป็นคนไทยไปแล้วมากต่อมาก สำหรับตำบลที่ผมกล่าวมานี้ ก็เป็นคนที่มาจากเปอร์เซียหรือจากอาหรับ คนที่นับถือศาสนาอิสลามที่มาจากมลายูนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นตำบลใหญ่ หลายร้อยหลายพันหลังคาเรือนเหมือนกัน ตำบลนั้นอยู่คลองตะเคียนทางทิศใต้ ส่วนอิสลามชนอีกพวกหนึ่งซึ่งมาจากอินโดนีเซียในปัจจุบัน จากเกาะที่เรียกว่าเกาะมากาซ่า หรืออย่างในภาษาไทยเรียกกันว่ามักกะสัน นั้น ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งตะวันตก ใกล้ปากคลองตะเคียนข้างใต้ลงไป นี่ก็เป็นหลักฐานเท่าที่ทราบ แสดงว่าสมัยศรีอยธยานั้นมีมุสลิมีนตั้งบ้านเรือนอยู่ภายในพระนครและโดยรอบพระนครนั้นเป็นจำนวนมาก และก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่คนเหล่านี้ก็จะต้องมีส่วนมากมายหลายอย่างในการสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศไทยให้เกิดขึ้น”