เสือตัวที่ 6

การประหารชีวิตแกนนำฝ่ายต่อต้านอำนาจของผู้นำทหารในเมียนมาถึง 4 ราย คือนายจ่อ มิน ยู หรือโก-จิมมี นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อายุ 53 ปี นายเพียว เซยา ตอ วัย 41 ปี ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) นายฮลา เมียว อ่อง และนายอ่อง ธูรา ซอ ในข้อกล่าวหาว่ามีส่วนช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับกองทัพเมียนมา เกิดขึ้นเพียง 1 สัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 55 นับเป็นท่าทีของผู้นำทหารเมียนมาในฐานะผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อต้นปี 65 ที่ผ่านมา ที่กล่าวได้ว่า ไม่ตอบรับการทักท้วงใดๆ ต่อประชาคมโลกที่พยายามท้วงติงให้ผู้นำทหารเมียนมายับยั้งชั่งใจในโทษประหารดังกล่าวอย่างไม่มีเยื่อใย เป็นการส่งสัญญาณถึงการท้าทายระเบียบโลกอย่างสิ้นเชิงในทุกมิติที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

นับเป็นความท้าทายต่อประชาคมโลกอย่างน่าสงสัยว่า ผู้นำทหารเมียนมา มีอะไรดีถึงกล้าดำเนินการที่สวนกระแสของประชาคมโลกในท่าทีที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงถึงขั้นการคร่าชีวิตผู้เห็นต่างทางการเมืองได้ขนาดนี้ แม้ว่าประชาคมโลกต่างประณามการลงโทษประหาร 4 นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยเฉพาะการไม่สนใจให้ความสำคัญกับประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 55 ที่ประธานอาเซียนได้เคยท้วงติงให้ผู้นำเมียนมาคิดใหม่ในกรณีนี้ หากแต่ไม่เป็นผลแต่ประการใด ยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวและทำให้เห็นถึงการขาดเจตจำนงของเมียนมาในการสนับสนุนความพยายามของประชาคมอาเซียนที่ได้เร่งให้เกิดการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการ ที่พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้มีการดำเนินการตามฉันทามติอย่างเต็มที่ และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ยุติการกระทำใดๆ ที่จะยิ่งทำให้วิกฤตครั้งนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นการขัดขวางการเจรจาสันติภาพ รวมถึงการดำเนินการใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพ และเสถียรภาพ ตลอดจนเกียรติภูมิความเป็นประเทศอารยะ ที่ไม่เพียงแต่ในเมียนมาแต่รวมถึงภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

การดำเนินการดังกล่าวของเมียนมาอันเป็นการท้าทายต่อประชาคมโลกอย่างแข็งกร้าวหนนี้ ในเบื้องต้น ได้ถูกประณามด้วยคำตำหนิอย่างกว้างขวางรุนแรงจากทั่วทุกมุมโลก อาทิ นายอันโตนิอู กุแตเรซ เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประณามอย่างรุนแรงต่อการกระทำที่โหดร้ายของรัฐบาลเมียนมา พร้อมคัดค้านโทษประหารชีวิตในทุกกรณี และย้ำคำร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษที่ถูกควบคุมตัวไว้ทันที รวมถึงนายวินมินต์ ประธานาธิบดี และ นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐนอกจากนั้น นายเน็ดไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการตอบโต้รัฐบาลเมียนมาเพิ่มเติม ซึ่งทางเลือกทั้งหมดมีอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นมีมาตรการตอบโต้ต่ออุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติด้วย พร้อมยังเรียกร้องให้นานาชาติยุติการขายยุทโธปกรณ์ให้กับทางการเมียนมา รวมทั้งห้ามมิให้กระทำการใด ๆ ที่จะเป็นการให้ความน่าเชื่อถือต่อรัฐบาลเมียนมาและที่สำคัญคือ สหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการใดๆ ที่เป็นการตอบโต้การกระทำที่ท้าทายอำนาจของประชาคมโลกที่จำเป็นเพิ่มเติมในไม่ช้า

ในขณะที่นายแอนโทนีบลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประชาคมอาเซียน รวมถึงจีน ร่วมกันกดดันให้รัฐบาลเมียนมาคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศและพิจารณาข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมืองตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่ตกลงไว้กับอาเซียน และต้องเรียกร้องให้เมียนมายุติการใช้ความรุนแรงและปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ในขณะที่ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียน ทำได้เพียงส่งหนังสือถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเมียนมา เรียกร้องไม่ให้นำโทษประหารชีวิตมาใช้ ท่ามกลางความกังวลของประเทศเพื่อนบ้านหากแต่ก็ไม่ได้รับการสนใจใยดีจากผู้นำทหารเมียนมาไม่การลงโทษประหารแกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งการจับกุมคุมขังผู้นำฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างเช่นนางออง ซาน ซูจีก็ดำเนินต่อไปโดยนายซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ออกมาแสดงท่าทีครั้งแรกหลังประหารนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 ราย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ท่านมาว่า รัฐบาลทหารเมียนมาตระหนักดีว่าการประหารชีวิตจะทำให้เกิดคeวิพากษ์วิจารณ์ตามมา แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย และเป็นการลงโทษที่คนเหล่านี้สมควรได้รับ ซ้ำยังย้ำอีกว่า การลงโทษประหารคนเหล่านี้นั้นสมควรแล้วอีกด้วย

นับเป็นการส่งสัญญาณที่แข็งกร้าวและท้าทายทั้งมหาอำนาจต่างๆ ของโลก ประชาคมโลกโดยทั่วไป รวมทั้งเพื่อบ้านใกล้ชิดอย่างประชมคมอาเซียนอย่างชัดเจน การตัดสินใจปราบปรามคนเห็นต่างในประเทศบนความแข็งกร้าวต่อประชาคมโลก ย่อมสร้างผลกระทบให้เมียนมาถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น เป็นความท้าทายที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะต้องได้รับในขณะนี้ซึ่งเป็นความท้าทายไม่เฉพาะต่อผลกระทบจากประชาคมโลก หากแต่เป็นความท้าทายจากผลกระทบจากคนเมียนมาในประเทศเมียนมาเองโดยตรง ด้วยจะเกิดคลื่นมนุษย์อพยพออกนอกประเทศเมียนมามากขึ้น เกิดการหลั่งไหลของปัญญาชนออกนอกประเทศที่จะรุนแรงกว่า เมื่อครั้งปี 1988 เนื่องจากไม่มีพื้นที่แห่งไหนในเมียนมาที่ปลอดภัยการล้มละลาย ล่มสลายทางเศรษฐกิจที่จะรุนแรงกว่าเมื่อวิกฤติเมื่อ20 ปีที่แล้ว และการต่อต้านของคนกลุ่มต่างๆ ในทุกรูปแบบที่รุนแรงมากขึ้น นับเป็นความท้าทายที่รัฐบาลเมียนมาจะต้องเผชิญที่ยังไม่รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ จะดำเนินการเพิ่มเติมอีกในไม่ช้า