ทวี สุรฤทธิกุล

“ฟาร์มกล้วย” กำลังกลายเป็น “กล้วยดิจิตอล” และพัฒนาสู่ “รัฐสภาคริปโต” ในที่สุด

การแจกกล้วยไม่ได้มีแต่ในสภาที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น แม้แต่ในสภาลากตั้งคือวุฒิสภาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดจนสภาเฉพาะกิจอย่างสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการแต่งตั้งก็เอากับเขาด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ไม่โจ๋งครึ่มที่อาจจะเป็นด้วย “กระมิดกระเมี้ยนกิน” ไม่ได้กินคำใหญ่คำโตหรือมูมมามจนฉาวโฉ่ให้สังคมได้กลิ่นได้เห็น

ใน พ.ศ. 2549 - 2551 ที่ผู้เขียนจับพลัดจับผลูได้ไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในโควตาของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำนวนเกือบ 30 คน จึงได้ไปเห็น “ฟาร์มกล้วยไฮโซ” คือวิธีทำมาหากินของ สนช.บางคนบางกลุ่ม ที่กระมิดกระเมี้ยนทำมาหากินกับการเสนอญัตติ อนุมัติกฎหมาย และการอภิปรายต่าง ๆ โดยมีวิธีการที่ดูออกจะ “นวลเนียน” สัก 2-3 ช่องทาง ที่พอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้

ช่องทางแรก “โดยคณะกรรมาธิการ” คือ สนช.แต่ละคนจะเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการสามัญได้คนละ 2 - 3 คณะ ไม่รวมคณะกรรมาธิการวิสามัญที่สามารถเอาคนนอกมาเป็นกรรมาธิการได้อีก 2 - 3 คน นอกจากนั้นในแต่ละคณะกรรมาธิการก็จะมีที่ปรึกษาและอนุกรรมาธิการได้อีกจำนวนมาก ตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญนั้นถ้าเป็นคณะกรรมาธิการเกลี่ยวกับการเงินการคลังหรือธุรกิจที่สำคัญ ก็จะมีการแต่งตั้งคนในภาคเอกชนเข้ามา ซึ่งบางทีก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน ตรงนี้ก็ว่ากันว่าเอกชนนั้น “แบกกล้วย” เข้ามาเป็นขอเป็นกรรมาธิการ รวมถึงคนที่อยากเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ แม้กระทั่งตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวอีก 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการของกรรมาธิการ ที่ สนช.แต่ละคนมีได้ 5 คน ซึ่งก็มีเงินเดือนไม่มากนัก แต่สามารถขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้ ก็มีคนเอากล้วยแลกเข้ามาเพื่อรับอภิสิทธิ์ตรงนั้นด้วย

ช่องทางต่อมา “โดยกระบวนการลอบบี้” คือในการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ บางทีก็เป็นกฎหมายที่มีผู้มีผลประโยชน์ได้เสีย ถึงขั้นที่มีข่าวว่ามีการวิ่งเต้นให้กฎหมายนั้นผ่านหรือตกไป ก็จะมีผู้คนในสภาไป “รับงาน” หรือรับจ้างลอบบี้ ได้แก่ การเจรจาต่อรองและกับผลประโยชน์บางอย่าง ที่รวมถึงกล้วยนั้นด้วย ที่ผู้เขียนได้เจอกับตัวเองก็คือ ในปี 2550 ที่ผู้เขียนได้เป็นกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยในช่วงที่มีการพิจารณาวาระที่ 2 ที่จะต้องพิจารณาเป็นรายมาตราตามรายการงบประมาณของแต่ละกระทรวงนั้น จะมีการ “เกาะกลุ่ม” กันของกรรมาธิการบางคน เพื่อไป “ทานกล้วย” เอ๊ย นัดรับประทานอาหารกับผู้บริหารของบางกระทรวง ซึ่งผู้เขียนก็เคยถูกชวนไปด้วย 2-3 ครั้ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเจ้ากระทรวงบางคน “วางฟอร์ม” ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ยอมตามผู้ที่นัดทานข้าว โดยมาทราบภายหลังว่าเขาได้ไปฟ้องนายกรัฐมนตรีด้วยว่ามีใครทำอย่างนั้นบ้าง ซึ่งพอผู้เขียนรู้ก็เลยไม่ยอมไป “เข้าก๊วน” กับคนที่ทำในลักษณะนั้นอีกเลย กระนั้นในกฎหมายอื่น ๆ บางฉบับก็มีผู้ได้รับประโยชน์อยู่พอสมควรในกระการลอบบี้นั้น

นอกจากนั้นยังมีช่องทางที่กระทำ “นอกระบบ” คือ บ้างก็เรียกร้องเอาผลประโยชน์ตรง ๆ ตั้งแต่ “ขอกันดี ๆ” จนถึง “ข่มขู่กรรโชก” ไม่แตกต่างที่ ส.ส.เขาทำกันนั้นเลย รวมถึงที่ร่วมมือกับข้าราชการให้กระทำเช่นนั้นด้วย อย่างกรณีที่ผู้เขียนเกี่ยวข้องโดยตรงก็คือ การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็น พ.ศ. 2550 จำนวน 19 ล้านฉบับ ที่ตั้งราคาจัดพิมพ์ไว้เล่มละ 12 บาท 50 สตางค์ แต่มีผู้ร้องเรียนมาว่า ค่าพิมพ์ที่จ่ายให้โรงพิมพ์ผู้รับจ้างพิมพ์ที่มีอยู่หลายโรง ได้รับต่างกัน ตั้งแต่โรงละ 10 บากว่า จนถึง 11 บาทกว่า โดยมีส่วนต่างที่หายไปประมาณ 1-2 บาทต่อเล่ม ซึ่งเงินจำนวน 20 กว่าบาทที่หายไปนั้น “เข้ากระเป๋า” ผู้รับผิดชอบบางคน ผู้เขียนในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนั้นให้เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการเข้าทำการตรวจสอบ จึงได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ สนช. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ข้ารการรัฐสภา และเอกชน มาทำการสอบสวน ใช้เวลาสอบสวนอยู่ราว 3 เดือน ก็พอทราบเค้าว่า “ใครผิด” โดยเฉพาะข้าราชการรัฐสภาบางคนได้สารภาพทั้งน้ำตาว่า “ต้องทำตามที่ท่านสั่ง” แต่เมื่อทำรายงานการตรวจสอบนี้เสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งตามกระบวนการได้มีมติส่งให้รัฐบาลรับไปดำเนินการเอาผิด แต่ก็หมดอายุรัฐบาลนั่นเสียก่อนเมื่อมีการเลือกตั้งในปลายปี 2550 นั้นเอง

ในตำรารัฐศาสตร์ที่ผู้เขียนใช้สอนนักศึกษามากว่า 30 ปี ก็มีการกล่าวถึง “วัฒนธรรมการกินกล้วย” นี้อยู่เหมือนกัน โดยบอกว่าเป็นเรื่องของ “วัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมไทย” คือ คนไทยยินยอมและเกรงกลัวผู้มีอำนาจ จึงชอบวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจเพื่อรับการช่วยเหลือพึ่งพิง แล้วพอมีอำนาจหรือมีตำแหน่งทางการเมืองก็ใช้อำนาจนั้นแสวงหาผลประโยชน์ต่าง ๆ เอามาไว้สร้างอำนาจและอิทธิพล ด้วยการให้ความช่วยเหลือและอุปถัมภ์เจือจานแก่พรรคพวกและบริวาร ซึ่งเมื่อนำไปศึกษากับปรากฏการณ์จริงก็จะเห็นว่าเป็นความจริงเช่นนั้นทั้งหมด

“วัฒนธรรมลิงกินกล้วย” นี้น่าจะอยู่คู่กับสังคมไทยและการเมืองไทยไปอีกนาน แต่อาจจะมีพัฒนาการที่ก้าวไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อย่างกรณีการรับเงิน ที่ใน พ.ศ. 2512 ที่เป็นสมัยเริ่มต้นของวัฒนธรรมการกินกล้วยอย่างเป็นระบบ ก็ใช้การ “แจกซอง”  คือเอาเงินใส่ซองให้กันซื่อ ๆ ต่อมาในสภาผู้แทนราษฎรช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา ที่เริ่มมีตู้เอทีเอ็มของธนาคารต่าง ๆ มาให้บริการ ก็มีการแจกบัตรเอทีเอ็มให้ไปกดเงินเอาเอง รวมถึงที่มีนักการเมืองเจ้าบุญทุ่มบางคนได้ชื่อว่า “ตู้เอทีเอ็มเคลื่อนที่” คือสามารถมาขอเอากับตัว “หลงจู๊” เอ๊ย นักการเมืองคนนั้นได้โดยตรง แต่พอถึงสภาในช่วง พ.ศ. 2544 จนถึง พ.ศ. 2556 ที่ตระกูลการเมืองตระกูลหนึ่งได้ครองอำนาจ ก็มีวิธีการในการแจกเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น ถึงขั้นนัดหมายกันไปรับเงินในต่างประเทศใกล้ ๆ การโอนเงินผ่านระบบธนาคารและการซื้อขายหุ้นต่าง ๆ รวมถึงการทำประกันชีวิตและธุรกรรมทางธนาคารที่หลากหลาย

ยุคนี้เป็นยุคดิจิตอล มีการ “ซื้อขายทิพย์” ผ่านระบบเงินดิจิตอล ไม่ได้ผ่านธนาคารหรือสถาบันการเงินเช่นในอดีต ซึ่งต่อไปในอนาคตก็อาจจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนเปลี่ยนต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นต่อไปอีก เราก็ไม่ทราบว่าวัฒนธรรมการกินกล้วยนี้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน แต่ที่แน่ ๆ คงจะพัฒนาตามเทคโนโลยีเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าโลกนี้จะ “อิ่มทิพย์” แบบที่ในหนังสือ “ไตรภูมิกถา” ท่านว่าจะเกิดขึ้นในยุคที่พระพุทธเจ้าชื่อ “พระศรีอาริยะเมตตรัย” มาจุติ ซึ่งก็รออีกไม่เกิน 7,435 ปี

ว่ากันว่าพอท่านมาจุติใน พ.ศ. 10,000 นั้น อย่าว่าแต่นักการเมืองเลย คนสักคน หรือลิงสักตัว ก็ไม่มีชีวิตเหลืออยู่บนโลกนี้แล้ว