สถาพร ศรีสัจจัง

ราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบที่ฝรั่งมังค่าเรียกว่า “Democracy” ซึ่งได้รับการบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทยขึ้นใช้ในภายหลังว่า “ประชาธิปไตย” มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 หรือคริสตศักราช 1932              

ถึงปีพุทธศักราช 2565 นี้ นับรวมระยะเวลาได้ 90  ปีเต็มพอดี!             

ขาดอีก 1 ทวรรษ หรืออีก 10 ปีก็จะครบร้อยปีหรือ 1 ศตวรรษพอดิบพอดี!            

การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศสยามในปี 2475 นั้น กระทำโดยการยึดอำนาจจากผู้ทรงสิทธิ์สูงสุด(หัวหน้ารัฐบาล)คือพระมหากษัตริย์ (ผู้ทรงสิทธิ์แห่งแผ่นดินทั้งมวล) ในครั้งนั้น คณะผู้ก่อการใช้เวลาระยะเวลาเพียงช่วงสั้นๆก็กระทำการได้สำเร็จอย่างง่ายดาย! 

ไม่มีการปะทะกันของกองกำลัง 2 ฝ่าย (คือฝ่ายเจ้าของอำนาจเดิมและผู้ก่อการโค่นล้ม) จนถึงขั้นเลือดตกยางออกหรือ “เลือดนองแผ่นดิน” แม้สักเพียงน้อยแต่อย่างใด!            

มีนักวิชาการจากหลายสำนัก และหลายศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า นี่เป็นเพราะการมีเงื่อนไขทาง “อัตวิสัย” ที่มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งของสังคมสยาม (ไทยในเวลาต่อมา) ที่ไม่ค่อยจะมีปรากฏให้เห็นในสังคมอื่นมากนัก              

โดยเฉพาะในกรณีที่มีการเปลี่ยนระบอบการปกครอง ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนกลุ่มผู้กุมอำนาจนำทาง “เศรษฐกิจ-การเมือง”ของสังคมนั้นๆ ที่เป็นแบบที่อาจเรียกได้ว่า “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” เช่นนี้              

แม้แต่บรรดาประเทศ “อารยะ” ที่เรา “ลอกเลียน” เอาระบอบการปกครองและการพัฒนาสังคม การเมืองของพวกเขามาใช้ แบบ “ตามก้น” (จิตร ภูมิศักดิ์เรียกการรับเอาอิทธิพลทางวัฒนธรรมเขามาใช้แบบนี้ว่า “ไม่เลือกแก่นทิ้งกาก”) อยู่จนปัจจุบันก็เถอะ !          

การปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นต้องสังเวยชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากอย่างที่ใครก็รู้ๆกัน                  

สหรัฐอเมริกาก็ใช่เบา ยิ่งตอนจะปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมเรื่องระบบทาส ถึงขนาดต้องเกิดสงครามกลางเมือง ฆ่าฟันกันเองจนต้องล้มตายกันเป็นเบือ  รัสเซีย เยอรมนี จีน ฯลฯ และอีกหลายประเทศในละตินอเมริกาและอาฟริกาก็เป็นเช่นนั้น!       

คำถามหลักของข้อเขียนครั้งนี้ก็คือ “90 ปีหลังเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข)” สยามประเทศกลายสภาพเป็นอย่างไรบ้าง? พัฒนาก้าวไกลไปทุกด้าน  ราษฎรเต็มเปี่ยมไปด้วยสิทธิเสรีภาพ  มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางเศรษกิจ การเมือง แบบไม่มีที่ติ (หรืออาจมีที่ติบ้าง แต่ก็เต็มไปด้วยความหวังอันเรืองโรจน์ที่จะเท่าเทียม!)ฯลฯ

หรือทุกอย่างทุกประการล้วนเป็นไปอย่างตรงกันข้าม ?

กล่าวคือ เมื่อประมวลเป็นองค์รวมแล้ว คำตอบที่ได้รับก็คือ บ้านเมืองที่มีรากมีฐานมายาวนานนับเป็นหลายศตวรรษแห่งนี้น่าจะกำลังล่มสลาย!                 

ราษฎรส่วนข้างมากของประเทศถูกกระทำให้ต้องตกอยู่ในหล่มทุกข์ที่หนาหนักขึ้นในทุกด้าน  มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมในทุกมิติจนยากจะจาระนัย คนรวยยิ่งกระจุกคนจนยิ่งกระจาย   ทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐานทั้ง ดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ แร่ธาตุ พินาศสูญสิ้น  วัฒนธรรม คุณธรรมและจริยธรรม เสื่อมทรุด จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “สังคมรากขาด” (เคยมีรากแต่ถูกทำให้ขาด) สังคมเต็มไปด้วยความฉ้อฉล มีการคอร์รัปชันทุกหย่อมหญ้า เต็มไปด้วยอาชญากรรมและยาเสพติด นักการเมืองถูกเรียกขานเป็น “พสกโจรใส่สูท” กลายเป็นสังคมที่บูชาเทิดทูนคุณค่าเงินตราเหนือกว่าคุณค่าอื่นใด โลกทัศน์และระบบคุณค่า “แบบพุทธ” ที่เคยเป็นพลังควบคุมสังคมมาอย่างยาวนานถึงกาลวิบัติล่มสลาย ฯลฯ                

สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบการปกครอง” ในรอบ 90 ปีแห่งความเป็น “ประชาธิปไตย” (ที่ “คณะราษฎร”เรียก) ละเป็นอย่างไรบ้าง?                

25 ปีแรก (2475-2500) อยู่ในลักษณะ “อำนาจรัฐผลัดกันชม” กล่าวคือ ชนชั้นปกครองหลัก ล้วนมาจากกลุ่มที่เรียกว่า “คณะราษฎร” ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการยึดอำนาจรัฐมาจากพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น                 

นามผู้นำทางการเมืองการปกครองในช่วงนี้ (ทั้งที่เป็นหุ่นเชิดตามพิธีกรรมและตัวจริง) มีหลากชื่อหลายรายนามด้วยกัน

ที่สำคัญๆ เช่น : พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน  หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีในระบอบนี้เป็นคนแรกของประเทศไทย  พระยาพหลพลพยุหเสนา(ยุทธ  พหลโยธิน) หลวงพิบูลสงคราม (แปลก  ขีตตะสังคะ) และหลวงประดิษฐมนูธรรม(ปรีดี  พนมยงค์) เป็นต้น  

แต่คนเด่นคนสำคัญจริงๆ ของการเมืองไทยช่วงนี้ก็คือจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม(แปลก) และ ดร.ปรีดี  พนมยงค์(หลวงประดิษฐ์ฯ)นั่นเอง

จอมพลป.พิบูลสงครามนั้น “เป็นๆออกๆ” คือเป็นอยู่หลายครั้ง และถ้านับรวมอายุการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ก็น่าจะยาวนานกว่านายกฯคนใดๆ

ในยุค “รัฐนิยม” หรือยุค “มาลานำไทย” หรือยุค “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” นี่เอง ที่มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ประเทศไทย” (Thailand) อย่างที่เห็นๆกันอยู่ในปัจจุบัน!!