ทองแถม นาถจำนง มีข่าวปล่อยเรื่องหญิงไทยที่มีครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิก้า แล้วคลอดลูกออกมาสมองเล็ก อยากให้ผู้เห็นข่าวพิจารณาให้รอบคอบนะครับ ข่าวว่ามีไข้หวัดซิก้ามาระบาดในเมืองไทย ไม่น่าจะเกินสองสามเดือน มีหญิงไทยที่ตั้งครรภ์ติดเชื้อบ้างเหมือนกัน แล้วก็มีข่าวว่าคลอดลูกออกมาลูกสมองเล็ก เผยแพร่ออกมาแล้ว แต่ติดตามข่าวตั้งแต่เริ่มมีข่าวว่ามีคนไข้ มันก็ยังไม่น่าจะถึงกำหนดคลอดนะครับ แต่ก็กระจายข่าวกันไปแล้ว เรื่องทำลายชาติ นี่ชอบกันนัก.......... หลายท่านที่ติดตามข่าวโรคระบาดต่างๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส คงทราบแล้วว่า ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำมาก ๆ ยังไม่ใช่เซลที่สมบูรณ์ คือสิ่งมีชีวิตที่มีเซลเดียวนั้น ก็นับว่าต่ำมากแล้ว แต่ไวรัสนี่เป็นเพียงโครงสร้างโปรตีนที่เพิ่มจำนวนได้โดยต้องเข้าไปอาศัยเกิดกระบวนการนี้ในเซลของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไวรัสใดมาอาศัยเซลของมนุษย์เป็นแหล่งขยายปริมาณแล้ว มนุษย์ก็อาจจะป่วย เพราะเชื้อไวรัสได้ทำลายเซลของมนุษย์ไปพร้อม ๆ กับการขยายเผ่าพันธุ์ของตน และที่สำคัญ ไวรัสมันปรับตัวไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดนิ่ง เพราะอะไร เดี๋ยวค่อยมาสรุปตอนท้าย ข้าพเจ้าอยากให้ท่านผู้อ่าน ย้อนไปศึกษาเรื่อง “ห้วงมหรรณพ” กันอีกหลาย ๆ รอบ ยิ่งถ้าท่านที่ยังไม่เคยอ่าน ขอแนะนำให้หามาอ่านกันเถิด อาจารย์หม่อม เขียนสรุปเรื่องราวทางชีววิทยา อธิบายโยงมาถึงธรรมะของศาสนาพุทธได้อย่างวิเศษ ท่านเริ่มต้นพูดถึงสิ่งมีชีวิตระดับ “โปรโตซัว” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เซลเดียว “ชีวิตเริ่มต้นที่ไหน เป็นมาได้อย่างไร ศาสนาทุกศาสนาก็ได้พยายามอธิบายถึงเบื้องต้นแห่งชีวิตไว้ โดยบอกถึงปฐมเหตุ แต่ศาสนาส่วนมากนั้น ดูเหมือนจะไล่กลับไปถึงพระเจ้าว่าเป็นเบื้องต้นแงชีวิตทุกศาสนาไป คงมีแต่ศาสนาพุทธที่แปลกกว่าเขาอื่น เพราะท่านบอกไว้ว่า “ปฐมํ กลลํ โหติ” - “ในเบื้องต้นนั้นมีแต่เซลล์เดียว” ความจริงในศาสนาพุทธนี้คิดดูแล้วก็เป็นมหามัศจรรย์ เพราะท่านสอนไว้ถึงสองพันห้าร้อยกว่าปี แต่วิทยาศาสตร์ทางชีววิทยาเพิ่งจะได้มารู้และยืนยันความจริงข้อนี้เมื่อไม่ช้านานมานี้เอง เรื่องชาติเรื่องภพนั้นศาสนาพุทธก็ให้เหตุต่อเนื่องอันเป็นปัจจัยการไว้เรียกว่า ปฏิจสมุปปาท แต่ถ้าจะพิจารณาเพียงรูปธรรมของชีวิตทั้งปวง ก็จะเห็นได้ว่าเริ่มจากกลละ หรือเซลล์ ๆ เดียว ตรงตามคติในศาสนาพุทธนั้นทั้งสิ้น ชีวิตบางอย่างก็คงรูปอยู่ในลักษณะเซลล์เดียว บางอย่างก็งอกเงยจนประกอบด้วยเซลล์เป็นจำนวนมากมาย แต่ทุกอย่างก็ยังเริ่มต้นด้วยเซลล์เดียวอยู่นั่นเอง หาหลีกหลักความจริงในพระพุทธศาสนาไปได้ไม่ น่าจะลองศึกษากันดูเพียงแค่นี้ก่อน สัตว์เซลล์เดียว ซึ่งดูเหมือนจะรู้จักกันมากน่อย เห็นจะได้แก่ตัวอะมีบา ตัวอะมีบาเป็นสัตว์มีชีวิตที่ง่ายที่สุด เพราะมีแต่เซลล์เดียว คือมีแต่หนังบาง ๆ หุ้มน้ำที่เรียกว่า โปรโตปลัสม (Protoplasm)หยดนิดเดียวไว้ หนังนั้นหุ้มน้ำไว้หลวม ๆ พอทีน้ำจะไหลไปทางใดทางหนึ่งภายในหนังนั้นทำให้ตัวอะมีบาเปลี่ยนรูปได้ ตัวอะมีบานี้ดำรงชีวิตอยู่และเติบโตขึ้นได้โดยปล่อยให้อาหารที่มีอยู่ในน้ำ ซึ่งตัวอะมีบาอาศัยอยู่นั้นแทรกซึมเข้าไปในกาย และพอตัวอะมีบาโตได้ขนาด ก็แยกออกเป็นสอง บังเกิดตัวอะมีบาขึ้นสองตัว ตัวอะมีบาทั้งสองตัวนี้ จะดำรงชีวิตต่อไปแบบตัวเดิม พอได้ขนาดแต่ละตัวก็แยกออกเป็นสองอีก และแยกออกเรื่อย ๆ ไปไม่มีสิ้นสุด” เหตุที่ต้องแยก ก็เพราะต้องรักษาขนาดตัวที่พอเหมาะพอสมกับชีวิตของอะมีบาไว้ “ตัวอะมีบาก็มีขนาดอันเหมาะสมที่สุดเช่นเดียวกัน เซลล์ ๆ เดียวอันเป็นตัวอะมีบานั้น มีหน้าที่สูบอาหารและลมหายใจจากภายนอกร่างกาย และถ่ายของโสโครกที่อาจเกิดเป็นพิษออกจากภายในร่างกาย หน้าที่การดำรงชีวิตของตัวอะมีบาก็มีเพียงเท่านี้ แต่การที่จะทำหน้าที่นั้นได้โดยสมบูรณ์ ตัวอะมีบาต้องมีขนาดพอดี หากโตขึ้นเรื่อย ๆ ไปก็ไม่อาจรักษาความสัมพันธ์ของร่างกายกับสิ่งแวดล้อมในโลกภายนอกไว้ได้ ฉะนั้นเมื่อตัวอะมีบาโตเต็มขนาด ก็ถึงลักษณะหนึ่งในสามแห่งไตรลักษณ์ คือถึง ทุกขตา ตั้งอยู่ไม่ได้ ตัวอะมีบาจะต้องเลือกเอาว่า จะแบ่งภาคออกเป็นสองตัวให้ได้ขนาด เพื่อคงอยู่ต่อไปหรือจะตาย ด้วยตัณหา หรือความใคร่อยู่ใคร่เป็น ตัวอะมีบาก็ต้องเลือกเอาการแบ่งภาคเป็นธรรมดา สัตว์เซลล์เดียวคือตัวอะมีบาก็แบ่งแยกตนออกบังเกิดเป็นสัตว์เซลล์เดียวสองตัว หรือตัวอะมีบาสองตัว ลักษณะทุกอย่างเหมือนกันไม่มีผิด ตัวอะมีบาสองตัวนี้ดูแล้วก็คือตัวเก่าที่แยกออก แต่จะว่าเป็นตัวใหม่สองตัวที่มีกำเนิดใหม่ก็ไม่ผิด กำเนิดเช่นนี้เมื่อพิจารณาตามกำเนิดสี่ในพระบาลี ก็เห็นจะต้องสงเคราะห์เป็นโอปปาติกะ คือเกิดขึ้นแบบเทวดาหรือสัตว์นรก มีความเป็นสัตว์เต็มตัวทีเดียว ไม่เป็นทารกมาก่อน” ข้างต้นนี้ท่านอาจารย์หม่อมท่านว่าไว้ ต่อไปนี้ผมจะขยายขี้เท่อส่วนตัวของผม ซึ่งอาจจะไม่เข้าท่า หรือกระทั่งผิดพลาดไม่มีดีเลย ท่านผู้อ่านต้องจำแนกแยกแยะให้ชัด ข้าพเจ้าอยากให้ท่านผู้อ่านสนใจเรื่องแรกคือเรื่อง “ความใคร่อยู่ใคร่เป็น” ข้าพเจ้าเห็นว่า “ความใคร่อยู่ใคร่เป็น” หรือความอยากมีชีวิตอยู่ นี่แหละเป็นตัณหาเบื้องต้นของสิ่งมีชีวิต มีตัณหานี้ ก็นับว่า “มีชีวิต” แม้จะยังไม่ถึงขั้นมี “ธาตุรู้” (วิญญาณ –ในความหมายทางพระบาลี ไม่ใช่ความหมายว่า Soul) ไวรัส แม้จะเป็นเพียงก้อนสารประกอบประเภทโปรตีนชนิดหนึ่งเท่านั้น (RNA – Ribonucleaic acid) ยังไม่มีเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane)และองค์ประกอบอื่น ๆ ของเซลล์ แต่มันมีความใคร่ในภพคือมีตัณหาความอยากอยู่อยากเป็น มันดิ้นรนเข้าไปทำกระบวนการแยกตัว (Duplicate)ตัวมันเองอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ได้ มัน“จึงอยู่ – จึงเป็น” และมีชีวิต สิ่งที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านสนใจเรื่องต่อมาคือ การสืบชีวิตต่อไปโดยไม่มีเรื่องเซ๊กซ์หรือเรื่องเพศ เช่นอะมีบาแยกตัวออกกลายเป็นสองตัวใหม่ ไวรัสก็เพิ่มจำนวนตัวเป็นสองเหมือนกัน การกำเนิดแบบนี้ เรียกว่า โอปปาติกะ