ยูร  กมลเสรีรัตน์

การที่นักเขียนสมัยก่อนมีความสามารถรอบด้าน เป็นเพราะได้รับการบ่มเพาะการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย กว่าจะมีตัวตนในนามปากกา “ประสิทธ์ โรหิตเสถียร”และ “ดาเรศร์” เขาสนใจวรรณกรรมมาตั้งแต่เด็ก  เนื่องจากบิดาผู้ให้อุปการะ ซึ่งเป็นพี่ชายของพ่อ ที่พ่อยกให้เป็นลูกตั้งแต่เกิด เพราะไม่มีลูก เป็นคนรักการอ่าน

บิดาผู้ให้อุปการะทำงานฝ่ายการช่างโยธา  กรมรถไฟฯ  จะย้ายบ่อยมาก เพื่อไปปฏิบัติงานตามสถานีรถไฟต่าง ๆ ทั่วประเทศ  แต่ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่จังหวัดไหน บิดาซึ่งเป็นหนอนหนังสือจะให้อ่านวรรณคดีไทยให้ฟัง เพื่อปลูกฝังความรักในการอ่าน

หากอ่านผิดหรืออ่านตกตรงไหน บิดาจะทักท้วง ให้อ่านใหม่  อีกทั้งให้หัดเขียนโคลงสุภาพตั้งแต่อายุ 10 ขวบ นับตั้งแต่เรียนชั้นประถมที่จังหวัดลพบุรี จนย้ายตามบิดาไปอยู่จังหวัดต่าง ๆ กระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงย้ายไปเรียนจนจบชั้นสูงสุดคือ มัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนอยุธยานุสรณ์  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นักเขียน-นักกลอนรุ่นลายครามผู้นี้มีความซาบซึ้งในโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ค่อย ๆ ซึบซับ จนเกิดความรักในการแต่งคำประพันธ์ โดยบิดาจะเป็นผู้ตรวจฉันทลักษณ์ จนกระทั่งฝีมือแก่กล้าขึ้นตามลำดับและได้รับคำชมเชยจากบิดา  จึงส่งผลงานเข้าประกวดได้รับรางวัลต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ในตอนที่แล้ว “ลุงประสิทธิ์”เคยพูดกับผมในเรื่องการแต่งคำประพันธ์ด้วยการเปรียบเปรยว่า...

“บทกวีก็เหมือนกับการจัดดอกไม้ คนที่จัดประณีตก็มี คนที่จัดชุ่ย ๆ ก็มี มันก็เป็นดอกไม้ในแจกันเหมือนกัน หมายความว่ามันก็เป็นบทกวีเหมือนกัน แต่ถ้าอ่านเทียบกันจะรู้เลยว่ามีอารมณ์กวีหรือไม่”

มาดูวรรคทองอีกชิ้นหนึ่งจากบทกลอนที่ชื่อว่า “รัก ??” รวมอยู่ในหนังสือบทกลอน “จำเลยไม่พูด” ว่ามีความไพเราะทั้งถ้อยคำและความหมายเพียงใด

“รักควรค่าสำหรับผู้จักสงวน
รักอบอวลสำหรับผู้รู้จักถนอม
รักยืนยาวสำหรับผู้รู้จักออม
และรักพร้อมสำหรับผู้รู้จักรัก...”

นอกจากนามปากกาที่กล่าวมาแล้ว  ยังมีนามปากกา“ปีเตอร์  ซุง”  ใช้ในการกลอนตลกและเขียนข่าว จนได้รับสมญานามว่า “ปีเตอร์ ซุง คนพุงโต”

“ปีเตอร์  ซุง สมัยก่อนผมอิจฉา” เอนก  แจ่มขำ อดีตนายกสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย(ล่วงลัแล้ว) กล่าวไว้ในงานวันเกิด “ ลุงประสิทธิ์” ในปีหนึ่ง เมื่ออายุเกือบ 80 ปีเห็นจะได้ “เพราะลุงตัวโตกว่าผม ตอนเป็นนักเรียน ผมตัวเล็ก เอวยี่สิบสาม  นักกลอนสมัยนั้นมี สุจิตต์  วงษ์เทศ ขรรค์ชัย  บุนปาน ศิริพงษ์ จันทน์หอมและผม จะไปเล่นกลอนกันเป็นประจำ  เวลาลุงไม่เขียนกลอนตลก ถ้าเขียนข่าว ก็ใช้ ‘ปีเตอร์  ซุง’ มีสมญานามว่า‘ปีเตอร์ ซุง คนพุงโต’ แต่ก่อนตั้งวงรถไฟเล่นกลอนกันตลอดจนถึงอยุธยา”

ขอยกกลอนตลก แต่แฝงแง่คิดในนามปากกา “ปีเตอร์ ซุง” ซึ่งเคยตีพิมพ์ในฟ้าเมืองไทยสมัยยังหนุ่ม อาจินต์  ปัญจพรรค์ บรรณาธิการฟ้าเมืองไทยชอบบทนี้มาก

“โบราณว่าอย่าคบเด็กสร้างบ้าน  คนหัวล้านสร้างเมืองเรื่องจะยุ่ง

วันนี้เด็กกำลังจะสร้างกรุง หัวล้านมุงดูห่างห่างหาทางโกง” 

นอกจากนี้ยังมีนามปากกา ขัติ ฏาทรรพและ  ฤทธิ์ศรีดวง ใช้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์เช่น เสียงเมืองชล ดวงเศรษฐี ฯลฯ  สำหรับหนังสือพิมพ์เสียงเมืองชล เขียนคอลัมน์ “ตะบันตะวันออก”  ส่วนนามปากกาที่ใช้เขียนกลอนรัก หวาน เป็นนามปากกาผู้หญิง แต่ไม่สามารถสืบค้นได้

“ลุงประสิทธิ์”เป็นผู้ที่ใฝ่เรียนและใฝ่หาความรู้ในด้านต่าง ๆ หลายอย่าง ได้ศึกษาเพิ่ม โดย เรียนวิชาช่างเขียน ระดับนักศึกษาผู้ใหญ่ที่โรงเรียนเพาะช่าง(ปัจจุบันคือ  วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) และเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อีกทั้งเรียนการเขียนและอ่านโน้ตสากลกับครูสุรพล แสงเอก ผู้แต่งเพลง “คำมั่นสัญญา”และครูอมร แม้นเมืองแมน ผู้แต่งตำราแบบฝึกหัดกีต้าร์และเบส ถือว่าท่านทั้งสองเป็นครูเพลงระดับปรมาจารย์  นอกจากนี้ยังเรียนเครื่องสายกับบิดา จนสามารถเล่นดนตรีไทยได้หลายชนิดและสามารถร่วมบรรเลงกับวงดนตรีไทย  จึงได้ออกร่วมแสดงอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากฝีมือในเชิงกลอนแล้ว ประสิทธิ์  โรหิตเสถียรยังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีกด้วย นั่นก็คือ ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองเพลงตอนขึ้นต้นในภาพยนตร์เรื่อง “ขุนกระทิง” แต่งเพลงเรือให้ชมรมนักกลอนในยุคปลาย ก่อนจะก่อตั้งเป็นสมาคมนักกลอนฯไปแสดงเพลงเรือในที่ต่าง ๆ หลายครั้ง  แต่งเพลงพวงมาลัยให้สมาคมนักกลอนฯแสดงในงานราตรีกวีแก้ว  ประพันธ์ ทำนองเพลง “กวีแก้ว”ร่วมกับครูสุรพล แสงเอก ซึ่งจัดงานราตรีกวีแก้วเป็นครั้งแรกที่ราชนาวีสโมสร และแต่งเพลงเข้าประกวดในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รางวัลชนะเลิศ ประเภทเพลงลูกทุ่ง

คนในวงการนักกลอนเรียก “ลุงประสิทธิ์”  คนวงนอกอาจเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา  ที่จริงแล้วไม่ธรรมดา  ความเป็นมาที่เรียกว่า “ลุง”นี้ สมศักดิ์  ศรีเอี่ยมกูล อดีตนายกสมาคมนักกลอนฯ เล่าไว้ในงานวันเกิดปีเดียวกันว่า...

“สิ่งมหัศจรรย์ของท่านนายกฯประสิทธิ์  โรหิตเสถียรที่ใคร ๆ ก็อดแปลกใจไม่ได้ นั่นก็คือ นักกลอนร่วมสมัยทุกคนพากันเรียกท่านว่า‘ลุง’ เมื่อใดที่เอ่ยคำว่าลุง เรามักจะมีภาพลักษณ์แห่งความน่ารักน่าเคารพนับถือของท่านในมโนภาพทันที ที่เรียกกันว่า “ลุง”นั้นคนวงนอกอาจจะแปลกใจว่ามหัศจรรย์อย่างไร  ก็คนรุ่นเดียวกับประสิทธิ์  โรหิตเสถียร พวกเราเรียกพี่กันทั้งนั้น บางคนอายุมากกว่ายังเรียกพี่เลย” 

อย่างที่สมศักดิ์  ศรีเอี่ยมกูลพูดนั่นแหละ  “ลุงประสิทธิ์” เป็นที่รักที่รวมใจของนักกลอนร่วมยุคร่วมสมัย โดยบุคลิกไม่เคยโกรธใครหรือให้ร้ายใคร มีความโอบอ้อมอารี  มีภาพลักษณ์ที่งดงามและเป็นที่เคารพรักของทุกคนเสมอมา

“ลุงประสิทธิ์” เคยเล่าถึงที่มาคำสแลง ซึ่งปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่อง “เสาร์ 5” นับว่าเป็นเกร็ดที่ไม่มีใครรู้มาก่อน ทั้งๆ ที่เขียนนวนิยายเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2493  แต่ยังใช้คำนี้อยู่จนถึงทุกวันนี้...

“สมัยนั้นรัฐบาลห้ามใช้คำหยาบคาย อย่างด่ากันว่า ‘แม่มึงเอ๊ย’ในเรื่อง “เสาร์ 5 “ใช้ไม่ได้ ก็เลยหลีกเลี่ยงเขียนเป็น‘แม่ง’ คำว่า‘พ่อมึงเอ๊ย’ก็เขียนเป็น ‘พ่อง’ ปรากฏวาคำว่า‘แม่ง’กลายเป็นคำฮิตที่ใช้กันจนทุกวันนี้

คำว่า “แม่ง”  ถือว่าอมตะมาก นิยมใช้กัน  แต่คำว่า“พ่อง” ไม่เป็นที่นิยม  ไม่รู้เพราะอะไร  เดาเอาว่า คำว่า “แม่ง”  เวลาสบถ  แรงกว่าคำว่า “พ่อง”  สบถ “แม่ง”คำเดียวก็เหลือเฟือแล้ว

(อ่านต่อตอนหน้า)

 

 “ถ้าหากว่ารอยย่นจำเป็นต้องปรากฏอยู่บนหน้าผากของเรา  ขออย่าให้รอยย่นนั้นปรากฏอยู่บนดวงใจของเราด้วย  จิตวิญญาณไม่ควรจะแก่ล้าลง”(เจมส์ เอ การ์ฟิลด์)

* ขออภัย –บทกลอน“จำเลยไม่พูด”ที่ปิดท้ายคอลัมน์ในตอนที่แล้ว  ตกหล่นไปคำหนึ่ง  ที่ถูกต้องคือ“ไม่อึดอัดอ่อนล้าลาญอารมณ์...(ตกคำว่า“อ่อน”) จึงขออภัยผู้อ่านและทายาทของดาเรศร์มา ณ ที่นี้