ยูร  กมลเสรีรัตน์

บัว ปากช่อง หรือที่ผมเรียกด้วยความคุ้นเคยว่า “พี่บัว” มีรูปร่างเล็ก ผอมเกร็ง แต่งตัวซอมซ่อด้วยเสื้อกางเกงผ้าฝ้ายสีดำหม่น  สวมหมวกผ้าสีขาวหม่น แขนคอกข้างหนึ่ง เดินขาเก และสะพายย่ามสีดำ ๆ

ตอนที่ผมรู้จักกับบัว  ปากช่องใหม่ ๆ  ผมยังทำงานอยู่ที่กรมสามัญศึกษา(ชื่อเดิม ปัจจุบันคือสพฐ.)กระทรวงศึกษาธิการ  เที่ยงวันหนึ่งธัญญาภรณ์  ภู่ทอง บรรณาธิการแผนกหนังสือเยาวชนของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชในขณะนั้น นัดบัว  ปากช่อง กับชาลี   เอี่ยมกระสินธุ์ นักเขียนแนวป่าดงรุ่นลายครามกินข้าวที่ร้านอาหารแถวเทเวศร์ ใกล้กระทรวงฯ แล้วชวนผมด้วย

ผมอยากรู้จักนักเขียนอาวุโสทั้งสองคนที่ผมเคยได้ยินชื่อเสียงมานาน ย่านเทเวศร์ เดินจากกระทรวงฯไปใกล้ ๆ เอง  ผมจึงไปตามนัด  แล้วผมก็ได้เจอบัว   ปากช่องกับชาลี   เอี่ยมกระสินธุ์ นักเขียนอาวุโสทั้งสองคนนี้ได้รับการติดต่อให้เขียนหนังสือเล่มให้สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชด้วย ส่วนผมก็ได้รับการติดต่อก่อนหน้านี้แล้ว  ผมเขียนให้สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชหลายเล่ม ทั้งวรรณกรรมเยาวชนและสารคดี

ตอนนั้นรู้สึกจะเขียนให้แล้วเล่มหนึ่ง แผนกหนังสือเยาวชน สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชที่ก่อตั้งขึ้นประมาณปี 2536 คึกคักมาก มีนักเขียนเขียนให้หลายคน ทั้งวรรณกรรมเยาชนและสารคดีสำหรับเยาวชน ถือว่าเป็นตำนานเลยล่ะ ระบบการจ่ายค่าเรื่อง เมื่อส่งต้นฉบับแล้ว จะจ่ายค่าเรื่องล่วงหน้าให้หมื่นหนึ่ง           

บัว  ปากช่องกับพี่ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ ดื่มเบียร์แกล้มไก่ย่าง ลาบส้มตำ  ตอนนั้นผมดื่มไม่เก่ง  ดื่มได้บ้างเพียงเล็กน้อย “พี่บัว” ตัวเล็ก แต่พูดเสียงดังโขมงโฉงเฉง คุยจ้อ  ส่วน “พี่ชาลี”พูดเสียงเบา อ่อนโยนและช้า  ทั้งสองท่านมีเรื่องคุยกันไม่หยุด ซึ่งล้วนเป็นความหลัง บางครั้งก็หันมาคุยกับเราสองคน  ส่วนผมพูดน้อย เพราะยังไม่สนิท  ได้แต่ฟังผู้ใหญ่คุยกัน ตอนหนึ่งบัว ปากช่องเล่าชีวิตในอดีตครั้งเป็นพรานที่เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครสีมาให้ฟังว่า

“ในป่ามีอันตรายสารพัด  ตอนถูกหมีตบ  ถ้าหนีไม่ทันตายแน่  สู้มันสุดฤทธิ์เลย” นี่คือสาเหตุที่บัว ปากช่องเล่าถึงขาเกและแขนคอก “สู้กับเสือก็เฉียดตายอย่างหวุดหวิด  ถูกงูกัดครั้งหนึ่ง  คิดว่าคราวนี้ต้องตายแน่ ๆ โชคดีรอดชีวิตมาได้”

บัว ปากช่องบอกเล่าต่อไปว่า ตอนนี้เขาใหญ่ ไม่มีป่าเหมือนเดิมอีกแล้ว ผ่านมาหลายสิบปี ทุกอย่างเปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

“เดี๋ยวนี้มีรถวิ่งผ่าน แต่ก่อนเดินค่ำ ๆ  มืด ๆ ไม่ได้หรอก ถูกเสือกัดตาย เพิงขายของที่ริมถนนทางไปเขาใหญ่ แต่ก่อนเป็นห้างยิงสัตว์นะ  นั่งห้างตรงนั้นแหละยิงตูมเลย  เดี๋ยวนี้เจริญหมดแล้ว” สีหน้าของ “พี่บัว”เปี่ยมด้วยความสุขที่ได้เล่าถึงความหลังครั้งอดีตที่นานมาแล้ว

บัว ปากช่องยิงปืนแม่นเหมือนจับวาง  เพราะเคยเป็นทหารมาก่อน เขาจึงนำมาใช้ในอาชีพพรานได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องสั้น นวนิยายและสารคดีเกี่ยวกับป่าที่เขาเขียนแต่ละเรื่อง ไม่ใช่เข้าป่าแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้น แต่ถึงขนาดต้องบุกป่าฝ่าดง เพื่อหาข้อมูลมาเขียนโดยเฉพาะ 

นักเขียนอาวุโสผู้นี้แจ้งเกิดครั้งแรกในนิตยสารฟ้าเมืองไทยที่มี อาจินต์   ปัญจพรรค์ เป็นบรรณาธิการ ตอนนั้นนวนิยายเรื่อง “ธิดาวานร”กำลังดังมาก  คนอ่านติดกันงอมแงม  เพราะเขียนสนุก  ตื่นเต้นน่าติดตาม อีกหลายสิบปีต่อมา นวนิยายเรื่องนี้นำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 7  

นอกจากนวนิยายเรื่อง “ธิดาวานร” ที่โด่งดังแล้ว  ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีก ที่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านฟ้าเมืองไทย เท่าที่สืบค้นได้มี ดงพญาไฟ  หงส์ร่อนมังกรรำ เสือสิงห์กระทิงแรด รหัสป่าและเสือสมิง  โดยเฉพาะ “ดงพญาไฟ” จะโด่งดังที่สุด บัว  ปากช่องได้กล่าวถึงอาจินต์  ปัญจพรรค์ ด้วยความยกย่องว่า

“ครูอาจินต์บอกผมว่า ถ้าเขียนคำที่หนึ่งยังไม่ได้ลง  ก็ให้เขียนคำที่สอง คำที่สองไม่ได้ลงให้เขียนคำที่สาม จนถึงคำที่หนึ่งร้อย”

หลังจากนิตยสารฟ้าเมืองไทย บัว ปากช่องก็หันไปเเขียนเรื่องสั้นและสารคดีเกี่ยวกับป่าในนิตยสารตลาดล่างที่ขายให้ชาวบ้านเป็นหลัก ได้ค่าเรื่องพอยาไส้ไปวัน ๆ  และเป็นบรรณาธิการเล่มหรือที่เรียกให้เพราะว่าบรรณาธิการเฉพาะกิจตามโอกาส

นอกจากนี้แล้ว ก็เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระเครื่อง  เครื่องรางของขลัง  เขี้ยวงาและอาคมต่าง ๆ  ที่ “พี่บัว”เคยไปทดลองและ ‘ลองของ’มาแล้วด้วยตัวเอง  น้อยคนมากจะรู้ว่าในย่ามของ “พี่บัว” นอกจากหนังสือและของใช้บางอย่างแล้ว  ยัง มีเครื่องรางและมีดอาคมด้วย

นิตยสารที่บัว  ปากช่องเขียนเรื่องเกี่ยวกับพระเครื่องและเครื่องรางต่าง ๆ  ก็คือ  พุทธาคมและโอม ซึ่งเป็นนิตยสารในค่ายของวรยุทธ   กลกิจ  ซึ่งเป็นนักทำหนังสือมืออาชีพตัวจริง  เคยทำงานที่สำนักพิมพ์จินดาสาส์นมาก่อน  มีนิตยสารในค่ายนี้อีกหัวคือ นักตกปลา,หมายธรรมชาติและGUN ซึ่งบัว ปากช่องก็เป็นคอลัมนิสต์ด้วย

วรยุทธ   กลกิจ ให้การดูแลเป็นอย่างดี  เรียกว่าส่งต้นฉบับก็ได้เงินเลย  ถ้าจำเป็นก็ให้เบิกล่วงหน้าได้  พอได้เงินมาเลี้ยงปากท้องให้อิ่ม  นอกจากนี้ แล้วบัว ปากช่องยังเป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจให้กับหนังสือพ็อกเก็ตบุ้คในเครือพุทธาคม ซึ่งอยู่ในค่ายนี้เช่นเดียวกันได้แก่  กรมหลวงชุมพร ท่านพ่อคล้าย(เรื่องราวของพระเกจิชื่อดัง) ฯลฯ

ปกติบัว ปากช่องจะเช่าบ้านอยู่ที่นนทบุรี  เป็นบ้านไม้เก่าโทรม สมราคาค่าเช่าเดือนละไม่กี่ร้อย  พอได้ซุกหัวนอน ซ้ำอยู่ไกลและลึก  ตอนหลังไม่มีเงินค่าเช่า  ไปอาศัยอยูที่ออฟฟิศของวรยุทธ  กลกิจ  ระยะหลังหนังสือต่าง ๆ ในเครือของนักทำหนังสือคนนี้ประสบปัญหา  เพราะเศรษฐกิจตกต่ำ 

ก่อนเข้าออฟฟิศ บัว ปากช่องใส่สูท นั่งห้องแอร์ทำงาน พอเลิกงาน ออกมาจากออฟฟิศ  จะถอดสูทออก แล้วเดินไปหาที่นอนตามฟุตบาท  วรยุทธ กลกิจ ซึ่งเกื้อกูล “พี่บัว”มาตลอด ตอนหลังก็ได้จบชีวิตตัวเอง  เพราะมีปัญหาเรื่องการเงิน

นอกจากผลงานนวนิยายแล้ว ผลงานอื่น ๆ ของบัว ปากช่องเกี่ยวกับพระและเครื่องรางต่าง ๆ ได้แก่อยู่กับหลวงปู่  ปรัศนีย์ที่ไม่มีคำตอบ อัตชีวประวัติพระป่าวปัสสนากรรมฐานสายศิษย์ ชุมนุมว่านยาและไม้มงคล ฯลฯ

บัว  ปากช่องไปร่วมงานในวงวรรณกรรมบ้างตามโอกาส  ส่วนใหญ่แล้วน้อยคนจะรู้จักและไม่มีใครสนใจชายที่แต่งกายซอมซ่อ หน้าตาไม่มีสีสันและเนื้อตัวดูไม่ค่อยสะอาดนัก  ในสายตาของบางคนแล้วอาจนึกดูแคลนในใจ  สำหรับผมไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นแม้แต่น้อย  เพราะไม่ได้นับถือคนที่เปลือกห่อหุ้มอยู่  แต่ผมนับถือเขาตรงที่เป็นนักเขียนที่อาวุโสกว่า ซึ่งทำงานเขียนมายาวนานกว่า 40  ปีและนับถือในฐานะคนอาชีพเดียวกัน 

บรรณาธิการของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งได้ติดต่อขอต้นฉบับเรื่องสั้นเกี่ยวกับการผจญภัยในป่าของบัว  ปากช่องที่เคยพิมพ์กระจัดกระจายในนิตยสารต่าง ๆ  เพื่อพิมพ์รวมเล่มมาตั้งแต่ปี 2537  “พี่บัว” ดีใจมาก ต้องค้นต้นฉบับขนานใหญ่ ใช้เวลานานมาก  เพราะไม่ได้เก็บต้นฉบับไว้

ต้นฉบับเกี่ยวกับการผจญภัยในป่าที่ค้นได้มีแค่ 23  หน้า จึงให้เขียนเพิ่มอีก เพื่อให้หนากว่านี้ จะได้เต็มเล่ม พิมพ์ออกมาได้รูปเล่มสวยพอเหมาะ  บรรณาธิการผู้ไม่ประสงค์ออกนามผู้นี้เคยช่วยเหลือบัว  ปากช่องในบางโอกาส  ทว่า ยังไม่มีโอกาสได้เขียนเพิ่ม “พี่บัว”ก็ล้มป่วยเสียก่อนและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ผมเจอบัว  ปากช่องสักสองครั้ง ก่อนจะเสียชีวิต ครั้งแรกพบในงานเสวนาของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  แต่ดูร่างกายซูบลงกว่าเดิมมาก หน้าตาก็หมองคล้ำ ผมยกมือไหว้แล้ว จึงถามทุกข์สุข “พี่บัว”บอกเล่าด้วยน้ำเสียงแหบเครือว่า

“ตอนนี้ผมลำบากมากยูร  ผมเขียนอยู่หนังสือลานโพธิ์กับแฟชั่นวัยรุ่น เป็นงานชิ้นเล็ก ๆ  พอได้เลี้ยงตัว  ที่นอนส่วนใหญ่ก็เป็นฟุตบาท”

วันนั้นบัว ปากช่องเอาผลงานเก่าของตัวเองที่เคยพิมพ์ไปให้กรรมการสมาคมนักเขียนฯ คนหนึ่ง ให้ช่วยหาที่พิมพ์ให้ด้วย ช่วงนั้นผมกำลังจะเข้าห้องน้ำพอดี พอเดินออกมา เจอบัว ปากช่องยืนอยู่หน้าห้องน้ำ ดวงตาขุ่นฝ้าบนใบหน้าที่สลดหมองมองมาที่ผม แล้วพูดขึ้นด้วยสุ้มเสียงอันแหบเครือ

“ผมเสียใจมากเลยยูร  เขาช่วยได้แค่นี้เหรอ  เขาเอาผลงานของผมไปประกาศหน้าห้องว่า  ใครสนใจจะพิมพ์งานของบัว   ปากช่องให้มาติดต่อได้ที่นี่ แล้วจะมีสำนักพิมพ์ไหนมานั่งอยู่ที่นี่”

ผมฟังด้วยความเวทนาและหดหู่ใจ  จนพูดอะไรไม่ออก ตอนนั้นผมก็ไม่ค่อยรู้จักกับสำนักพิมพ์ไหนเท่าไหร่ จึงไม่มีความสามารถจะช่วยได้

ตอนที่บัว   ปากช่องเสียชีวิต เอาศพออกจากโรงพยาบาลแถวนนทบุรีไม่ได้ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล  บรรดาคนในแวดวงนักเขียนต่างลงขันช่วยกัน แล้วยังช่วยกันซื้อโลงศพด้วย

วันเผาศพมีคนไปร่วมงานน้อยมากอย่างน่าใจหาย  นักเขียนซอมซ่อ ใครจะให้ความสนใจเล่า  ชาติหน้า “พี่บัว”ไปเกิดเป็นนักเขียนต่างประเทศที่รัฐบาลเขาให้ความสำคัญและยกย่องนักเขียน จะได้อิ่มหนำสำราญและได้นอนที่นอนนุ่ม ๆ  ไม่ต้องนอนตามฟุตบาทเหมือนชาตินี้