ยูร  กมลเสรีรัตน์

“...ดอกรักบานในใจใครทั้งโลก แต่ดอกโศกบานในหัวใจฉัน และอาจเป็นเช่นนี้ชั่วชีวัน เมื่อรักอันแจ่มกระจ่างเลือนร้างไกล”

บทกลอนบทนี้ชื่อ “บทสุดท้ายของนิยายรัก” ซึ่งเป็นวรรคทองของ“เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร” ที่แต่งไว้เมื่อปี 2511 คอกวีจะรู้จักดี เพราะเป็นวรรคทองที่ฮือฮาและโด่งดังมากในยุคกลอนโรแมนติก  ผมรู้จักกลอนบทนี้ตอนเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยแล้ว

เฉลิมศักดิ์  ศิลาพรแต่งกลอนตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนปทุมคงคา เขตคลองเตยกรุงเทพฯ เริ่มเขียนจริงจังเมื่อเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วรวมทีมนักกลอนธรรมศาสตร์โต้กลอนสด เมื่อขึ้นปี 4 ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์และเป็นบรรณาธิการหนังสือนิติศาสตร์ด้วย

เมื่อเรียนจบ ทั้งที่ยังไม่ได้รับปริญญา เขาก็ไปสมัครเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารฟ้าเมืองไทยที่มีอาจินต์ ปัญจพรรค์เป็นบรรณาธิการ ดังที่เขาบอกเล่าว่า...

“ผมเอาหนังสือที่ทำไปให้พี่อาจินต์ดูด้วย  พี่อาจินต์บอกว่า คุณเอากลับไปเถอะ  อย่ามาทำงานกับผมเลย  ผมก็ตกใจ  แทบตั้งสติไม่อยู่  แล้วพี่อาจินต์บอกว่า คุณกลับไปที่ธรรมศาสตร์เลย  ไปขอปริญญาโทวารศาสตร์เลย เพราะหนังสือเล่มนี้”

ในเวลานั้นเฉลิมศักดิ์  ศิลาพรคุมสติไม่อยู่ เพราะทั้งตกใจและดีใจ  ลืมไหว้ขอบคุณ  หลังจากนั้นอาจินต์  ปัญจพรรค์จึงให้รีไร้ท์งานเขียนหลายอย่าง  จนกระทั่งตกเย็น  เขาคิดอยู่ในใจว่า จะรับหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่เห็นบอกอะไรซักคำ  จน 4 โมงเย็นเศษ ๆ นพพร  บุณยฤทธิ์ นักเขียนชื่อดังในห้วงเวลานั้นเดินเข้ามา...

“คุณนพพร บุณยฤทธิ์ ชวนพี่อาจินต์ไปกินเหล้า ผมยังนั่งตรวจปรู๊ฟอยู่  พี่อาจินต์ก็หันมาบอกว่า เฮ้ย! ผมไปก่อนนะ แล้วพรุ่งนี้รู้รึยังว่าทำงานกี่โมง นี่ขนาดรับผมเข้าทำงานยัง Twist  Ending(หักมุมจบ) เหมือนเขียนเรื่องสั้นเลย”

ในความรู้สึกของนักเขียนชื่อดังผู้นี้แล้ว  แม้เขาไม่ได้ไปรับปริญญาโทที่คณะวารสารศาสตร์ แต่เขาเชื่อว่าเขาได้ปริญญาเอกที่ฟ้าเมืองไทย  หลังจากใช้เวลาทำงานถึง 19  ปี ในตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการฟ้าเมืองไทย นามปากกา เฉลิมศักดิ์  ศิลาพรอันเปรียบเสมือนพี่ชายคนโตของหยก บูรพา มีโอกาสเกิด ครั้งแรกในนิตยสารฟ้าเมืองไทย ด้วยเรื่องสั้น “เงาโดม” เมื่อปี 2513 โดยอาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นผู้แนะนำ ทั้งที่ไม่เคยเขียนเรื่องสั้นมาก่อน

“ตอนพี่อาจินต์บอกให้ผมเขียนเรื่องสั้น ผมบอกว่าผมเขียนไม่เป็น พี่อาจินต์บอก ทำไมจะเขียนไม่เป็น คุณก็เป็นกรรมการตัดสินเรื่องสั้น  ผมเขียนเรื่องแรกก็ผ่านเลย ผมก้าวเข้ามาในวงการนักเขียน ผมต้องขอขอบพระคุณพี่อาจินต์ที่ เป็นผู้ให้โอกาสกับผมอย่างแท้จริง

ช่วงทำงานที่นิตยสารฟ้าเมืองไทย เขายอมรับด้วยความภาคภูมิใจว่า ได้รับอิทธิพลในการเขียนเรื่องสั้นจากอาจินต์  ปัญจพรรค์มาก  จะเขียนเรื่องสั้นสไตล์หักมุมจบเป็นเอกลักษณ์

เรื่องสั้นชุดในชีวิตมหาวิทยาลัยได้หลั่งไหลออกมา กระทั่งมีรวมเล่มสั้นเล่มแรกคือ ที่นี่มหาวิทยาลัย เล่มนี้ขายดีมาก  ตามด้วยชุดต่อมาคือ เสื้อครุยสีดำและปริญญาสีขาว โดยเฉพาะชุด “ปริญญาสีขาว” คำพูดของตัวละครในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งเป็นประโยควรรคทองที่คนอ่านจำกันได้แม่นตรงที่ว่า “ทำไมต้องเราต้องรับใช้ปริญญา   ทำไมไม่ให้ปริญญารับใช้เรา” 

เขาผลงานเรื่องสั้นมากกว่า 500 เรื่อง พิมพ์รวมเล่มหลายสิบเล่ม นอกจากที่กล่าวมาแล้วได้แก่ ในและนอกรั้วโดม พบกันในมหาวิทยาลัย ครึ่งทางหัวใจ ลมหายใจชนบทขบวนการคนชรา เป็นอาทิ สำหรับนวนิยายในนามเฉลิมศักดิ์ รงคผลิน(ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเฉลิม รงคผลิน) ซึ่งเปลี่ยนนามสกุลในภายหลัง มีเพียงเรื่องเดียวคือ พันธะชีวิต

เรื่องสั้นของเขาโดยมากมาจากประสบการณ์ หากเมื่อเป็นนักเขียนอาชีพแล้ว เขาบอกว่าจะมัวรอประสบการณ์ไม่ได้อีกแล้ว ต้องเอามาจากที่ต่าง ๆ โดยการประยุกต์จากข่าวต่าง ๆ ข่าวอาชญากรรมบ้าง แม้กระทั่งเดอร์ตี้ โจ๊ก เพื่อนำมาสร้างเป็นเรื่องราว เขาเน้นเสียงว่า

“จินตนาการสำคัญกว่าเทคนิคเสียอีก บางทีใช้เทคนิคมาก ทำให้อ่านไม่รู้เรื่อง มันปรุงแต่งมากเกินไป ผมเป็นนักเขียนแบบสไตล์เก่าอยู่  เน้นเนื้อหามากกว่า เทคนิค อย่างงานของพี่คำพูน(คำพูน บุญทวี) นิมิตร ภูมิถาวร ไม่เห็นต้องมีเทคนิคเลย มีแต่เนื้อหาล้วน ๆ แต่เป็นประสบการณ์จริง งานของพี่อาจินต์ก็เหมือนกัน  ก็ยังโดดเด่นขึ้นมาได้”

แม้ว่าเฉลิมศักดิ์  รงคผลิน จบนิติศาสตร์ ไม่ได้จบด้านอักษรศาสตร์  ไม่เคยใช้วิชากฎหมายว่าความเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่กลับเบนเข็มชีวิตเป็นนักเขียน เพราะเขาชอบอ่านหนังสือ ทำให้ค้นพบตัวเองว่าอยากเขียนหนังสือ เขาเปิดเผยความรู้สึกด้วยความภาคภูมิใจว่า

“ผมเป็นคนเดียวในรุ่นที่เป็นนักเขียน  นอกนั้นเป็นนายตำรวจ  อัยการ เป็นอะไรสารพัด  ผมใช้วิชานิติศาสตร์มารับใช้งานเขียน  มีพล็อตเรื่องเยอะแยะที่ผมได้จากคดีความเวลาอ่านฎีกา  บางทีพล็อตเรื่องก็มาจากคดีความที่เกิดขึ้นจริง ๆ”

สำหรับนามปากกา “หยก  บูรพา”ที่คนส่วนใหญ่รู้จักอย่างแพร่หลายมากกว่าชื่อจริง  เกิดขึ้นในช่วงหลัง เมื่ออาจินต์  ปัญจพรรค์ให้เขาเขียนนวนิยายเรื่องใหม่  แต่ไม่ให้ใช้ชื่อจริง ให้ตั้งปากกาใหม่  เพื่อลงประเดิมในนิตยสารฟ้าเมืองทองรายเดือนที่จะออกใหม่ อย่าให้คนอ่านจับได้ว่าเป็นเฉลิมศักดิ์  รงคผลิน  หยก บูรพาจึงนำประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กที่ใกล้ชิดกับก๋งที่บ้านเกิดคือ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรีเมื่ออายุ 10 ขวบ มาปรุงแต่งเป็นนวนิยาย...

“ตอนแรกผมไม่ได้ใส่นามปากกา  ช่วยกันตั้งกับพี่อาจินต์  ตัวเอกเป็นเด็กชายชื่อหยก เลยได้ชื่อก่อน มาคิดว่าคนจีนอยู่ทิศตะวันออกคือ ทิศบูรพา ก็เลยตั้งนามปากกาว่า หยก บูรพา”

“อยู่กับก๋ง”ลงฟ้าเมืองทองรายเดือนได้เพียงไม่กี่ตอนเท่านั้น  มีจดหมายชมจากคนอ่านมากมาย  นวนิยายเรื่องนี้ลือลั่นทันที คนอ่านจดจำนามปากกา “หยก บูรพา”ได้ตั้งแต่นั้นมา  นวนิยายเรื่องต่อมาคือ กตัญญูพิศวาส ที่ลงในฟ้าเมืองไทย  ดังระเบิดเป็นคำรบสอง

นวนิยายทั้งสองเรื่องนี้ได้รับรางวัลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและ เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับชั้นมัธยม  นอกจากนี้เรื่อง “อยู่กับก๋ง” ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ นำแสดงโดย สรพงษ์  ชาตรีและเป็นละครช่อง 9 สิ่งที่เป็นเกียรติประวัติอีกอย่างหนึ่งก็คือ ได้รับการ แปลเป็นภาษาญี่ปุ่น      

นวนิยายอันเป็นภาคต่อ ซึ่งถือว่าเป็นภาค 2 ของ” “อยู่กับก๋ง” ก็คือ“อยู่ไกลก๋ง” ทิ้งช่วงห่างจากเรื่องแรกนานราว 30  ปี  เป็นชีวิตของหยกที่ต้องจากก๋งไปเรียนต่อม. 1 ที่กรุงเทพฯ  ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ยุคเสถียร จันทิมาธร เป็นบรรณาธิการ

“นวนิยายต้องสนุกเป็นอันดับแรก”หยก บูรพาบอกเคล็ดลับที่เหมือนไม่ลับ “อาจารย์คึกฤทธิ์  ปราโมชเคยพูดถึงหลักการเขียนหนังสือของท่านไว้ว่า  เขียนให้อ่านสนุก  เพราะว่าผมไม่ได้เขียนไว้อ่านเองหรือพิมพ์เล่มเดียวเก็บไว้นี่ครับ นวนิยายถ้าไม่สนุก เขาก็ไม่อ่านต่อ”

หลังจากนิตยสารฟ้าเมืองไทยและฟ้าเมืองทองเลิกกิจการ หยก  บูรพา ไม่ได้หายหน้าไปไหน แต่เขียนนวนิยายในนิตยสารที่เป็นกลุ่มคนอ่านชาวบ้าน  ทำให้ไม่มีใครรู้   นอกจากนี้ยังเขียนนวนิยายจากละครด้วย และย่อเรื่องจากละครลงหนังสือพิมพ์ด้วย 

นวนิยาย ในนามปากกา “หยก  บูรพา” มีนับสิบเรื่องได้แก่อยู่กับก๋ง(รางวัลดีเด่นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2519)  กตัญญูพิศวาส(รางวัลชมเชยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2520)  เจ้าแม่หมอเสน่ห์   ลูกนอกไส้  มงกุฎดอกงิ้ว มังกรเจ้าพระยา  เทพธิดาสำเพ็ง  เป็นอาทิรวมเรื่องสั้นชีวิตคนจีนในนามปากกา “หยก บูรพา”ได้แก่ บ้านพักหลังอำเภอ   ตลาดห้องแถว ตลาดชีวิตเศรษฐศาสตร์ในห้องแถว  เด็กห้องแถว มาจากโพ้นทะเล น้ำใจแม่ ก๋งกับหยก โลกของก๋ง ฯลฯสำหรับบทกวีที่พิมพ์รวมเล่มกับคนอื่นในนามเฉลิมศักดิ์ ศิลาพรได้แก่ สายรุ้ง ลอยชาย  คำหอม  ใบไม้แห่งนาคร ฯลฯ

ส่วนนามปากกาอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้วก็มี จิ๊ด ท่าพระจันทร์ ใช้เขียนเรื่องแนวหรรษา แคราชคราม  ใช้เขียนสารคดีท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์  เจตน์ นุชจรินทร์ ใช้เขียนคอลัมน์วิจารณ์หนังสือและเรื่องราวเกี่ยวกับนักเขียน พลัง สยามพล  ใช้เขียนบทความและสารคดีการเมืองและเดือนฉาย   แววมณี  ใช้เขียนเรื่องที่ให้ข้อคิด

หลังจากหมดวาระการเป็นกรรมการสมาคมนักเขียนฯ ผมกับ “พี่หยก” ซึ่งเคยเป็นกรรมการสมาคมนักเขียนฯด้วยกันสองสมัย ก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย  กระทั่งหลังงานวันเกิดของอาจินต์  ปัญจพรรค์ ในปีนั้น ซึ่งจัดที่ร้านโอลด์เล้งทุกปี  ผมโทรศัพท์ไปที่บ้าน จึงรู้ว่า “พี่หยก” ป่วยเป็นป่วยเป็นโรคเบาหวาน ขนาดที่ว่าลุกขึ้นยืน กางเกงหลุด เพราะผอมมาก แต่ก่อนเป็นคนร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์  งานวันเกิด “พี่อาจินต์”ก็ไปร่วมงาน แต่ผอมเป็นคนละคน จนใคร ๆ จำไม่ได้

อีกหลายปีต่อมาได้ข่าวว่า “พี่หยก”กลับไปอยู่ที่สระบุรี บ้านเกิดของตัวเอง ภายหลังได้ข่าวอีกครั้งว่ากลับมาอยู่กรุงเทพฯแล้ว ในยุคโซเชียล เน็ตเวิร์ค นักเขียนหลายคนต่างก็ลำบาก ไม่มีที่เขียน สำนักพิมพ์เมินนักเขียนรุ่นเก่า  ผมก็ได้แต่คิดถึงด้วยความห่วงใยในฐานะนักเขียนรุ่นน้อง

ยุคหนังสือกระดาษเฟื่องฟู  “พี่หยก”มีงานเขียนล้นมือ จนรับไม่ไหว   แต่นามปากกา “หยก บูรพา”ที่เคยดังก้อง ยังคงนั่งในหัวใจของคนอ่านรุ่นเก่าตลอดกาล

 

 

“ชีวิตกับความตายเป็นของคู่กัน  เราอยู่อย่างไร เราก็ตายอย่างนั้น  ถ้าหากเราต้องการตายดี ก็ต้องมีชีวิตที่ดีงาม”(พระไพศาล  วิสาโล)