สถาพร ศรีสัจจัง

“พระสูริยงส่งแสงแดงขล๊องๆ/ดวงเท่าด๊องมันพาดเขลง..อยู่บนบนเบ้งควน…” หรือ “พระราชาชักพระขรรค์ฟันดังปลิ้ง..โถกเอากิ่งไทร../ นางว่าเอาทำไหร…ยางทั้งเพ…” หรือที่หนักหน่อย (คำผวนสไตล์ศิลปะเมืองใต้แบบ “สรรพลี้หวน”) ก็ต้องแบบนี้!… “จอมยักษาพานาง ยางมาแพล็ด/ ออระแห็ด ข้ามแดน ท้านแขนไล…”

ใครเป็นคนที่เกิดและเติบโตในชนบทภาคใต้ โดยเฉพาะในแถบพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาและบริบท อันได้แก่ บริเวณจังหวัดพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และตรัง(โดยเฉพาะส่วนที่เป็น “ตรังควน”) ย้อนหลังไปสักเมื่อ 5 ทศวรรษหรือ 50 ปีที่แล้ว เมื่อเห็นข้อความซึ่งเป็นบทกลอนที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างเปิดเรื่อง                

ย่อมจะรู้ดีว่า นั่นคือท่วงทำนองแบบหนึ่งของ “บทกลอน” ที่ “หนังตะลุง” และ “โนรา” ซึ่งนับเป็น “มหรสพ” สำคัญที่สุดของชาวใต้มาแต่โบราณ ใช้ “ร้องขับ” ประกอบศิลปะการแสดงของพวกเขา แต่ถ้าชาวบ้านธรรมดาร้องขับขึ้นมาแบบ “เล่นๆ” เพื่อการบันเทิงใจ หรือ “กล่อมใจตัวเอง” ขณะทำงาน เช่น เลี้ยงวัว/ปอกมะพร้าว/ทงเบ็ด/นอนพักผ่อนหน้าร้อนตามขนำหรือเถียงนา ฯลฯ เขาเรียกว่าการ “ขับบท”

อันเป็นภาพสะท้อนสำคัญยิ่ง ในความเป็น"คนเจ้าบทเจ้ากลอน"ของชาวปักษ์ใต้              

เรื่อง “ขับบท” นี้ ผศ.สนิท  บุญฤทธิ์ ปราชญ์ด้าน “ทักษิณคดี” แห่งสถาบันราชภัฏสงขลา เคยเขียนอรรถาธิบายเรื่องราวไว้อย่างละเอียดยิบดีเยี่ยม จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มบันทึกไว้เผยแพร่แล้ว โดยศูนย์วัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ใครสนใจรายละเอียด ก็สามารถไปหาอ่านกันได้ตามห้องสมุด(น่าจะของมหาวิทยาลัยต่างๆ )                    

แต่วันนี้มีหนังสือออกใหม่เล่มหนึ่ง ที่อยากเอามาแนะนำ มีเนื้อหาเป็น “ตัวบท” (Text) ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง!                    

นั่นคือเรื่องราวของกวีนิพนธ์การ “ขับบท” จากฝีมือ “ชั้นครู” ผ่านภาษาเขียนในรูปแบบของ “บทกวีร่วมสมัย” อันปรากฏให้เห็นอย่างสง่างาม อยู่ในหนังสือเล่มใหม่ของ “พันดา  ธรรมดา” หรือ อดีตอาจารย์ “สมเจตนา  มุนีโมนัย” แห่งโรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง กวีร่วมสมัยชาวตรัง ผู้เป็นปราชญ์ด้าน “คติชนวิทยาภาคใต้” คนสำคัญ  ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “มาแตตรัง ไม่หนังกะโนรา” อันลือลั่นโด่งดังมาแล้ว ในนามของ “สิงคลิ้ง  นาหยีค้อม”!                   

ทั้งท่านผู้นี้ยังเป็น “ครูภาษาไทย” ผู้ปราดเปรื่องในเรื่องวรรณคดีไทยยิ่งนัก มีผลงานกวีนิพนธ์บางเรื่องของเขา เคยได้รับคัดเลือกโดย “สมาคมภาษาและหนังสือ” ให้เป็น “บทกวียอดเยี่ยม” เป็นคำยืนยัน               

ฟังว่าเขาเป็น “สหายกวี” ร่วมรุ่นกับ “เทือกบรรทัด” และ “พนม  นันพฤกษ์” แห่งเมืองตรังและเป็นครูของกวี “วิสุทธิ์  ขาวนวล” ที่หนังสือกวีนิพนธ์ของเขาผ่านเข้ารอบ “ลึกๆ รางวัล ซีไรต์” มาหลายปีบางใครบอกว่า “เกินไปแล้ว!” (ไม่แน่ใจว่าที่ “เกินไปแล้ว” นะคืออะไร?)

หนังสือรวมบทกวี “ขับบท” แบบกลอน “หนังลุงโนรา” ของ “พันดา  ธรรมดา” เล่มที่ชื่อ “การเวกครวญ” เล่มนี้  แบ่งออกเป็น 4 ภาค ตามสัดส่วนของเนื้อหา ภาคแรกคือ “การเวกครวญ” เป็นเรื่องเชิง “อัตชีวประวัติ” ของกวี  ภาค 2 ชื่อ “กาเหว่าหวน” ภาค 3 คือ “วิมานสาลิกา” และ ภาค 4 “น้ำตานกเปล้า” เนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวข้องโดยตรง “เชิงลึก” กับเกร็ดวัฒนธรรมที่น่ารู้ของภาคใต้

ทำไมต้อง “การเวกครวญ”? สำหรับเรื่องนี้ กวีบอกไว้ในบทต้นของหนังสือว่า :

“แล้วยังมีปักษา การเวก/เร้นกลีบเมฆว่ายฟ้าสโมสร/เสวยวายุภักษา อนาทร/วาดลีลาปีกฟ้อนกินรี/ร่ายคาถาจี้จุดมนุษยชาติ/เพลงศิลป์ศาสตร์ฉันทลักษณ์อักษรศรี/พักสวนขวัญ “สระนางหงส์” สรงวารี/หนึ่งกวีประหนึ่งการเวกครวญฯ”

จากนั้นก็ “เข้าเรื่อง” โดยการ “ขับบท” เล่าถึงที่มาของชื่อบ้านนามเมืองสำคัญๆของเมืองตรังและที่อื่นๆ อย่าง “ผู้เชี่ยวชาญด้านคติชน” ภาคใต้ ที่น่าสนใจยิ่ง 

ตอนหนึ่ง พูดถึง “พร้าหัวโทง” อันลือลั่น (ใช่ “พร้านาป้อ” อันโด่งดังของเมืองตรังหรือเปล่า?)เมื่อครั้ง “ศึกเมืองไทร”(สงครามช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ที่บรรดาชายชาวตรังส่วนหนึ่งถูกเกณฑ์จากราชธานี ให้ไปร่วมรบกับหัวเมืองมลายูที่เป็น “กบฏ” ในยามนั้น คือ “เมืองไทรบุรี” หรือรัฐเกดะห์ของมาเลเซียในปัจจุบัน)

“กลางคลื่นกระแสกาลผ่านผกผัน/คืนวันเก่าก่อนย้อนมาใหม่/หัวโทง ครื้นคฤกศึกเมืองไทร/พลไพร่แบกเข้าบ่าไปฆ่าฟัน……พอเข้าใกล้ได้ระยะ ก้ะแทงสวบ/ฟันท่าฝานบวบ ผ่าเบ้งหัว/หวดซ้ายป่ายขวาระริกรัว/ข้าศึกกลัวกลิ้งเกลือกตาเหลือกตาย…”

อีกบทหนึ่งเล่าถึงการซ้อมข้าวสารแบบที่คนปักษ์ใต้เรียกว่า “ซอสามสาก” ในบทที่ชื่อ “ทุ่งสะเทือน” ได้อย่างเห็นภาพว่า  “…ตั้กแตนตำข้าวสาวสามสาก/แบ่งวิบากสามัคคีธรณีไหว/ได้กรอกหม้อพอกินเป็นมื้อไป/ถ้าตำมาก เก็บไว้ให้มอดลง/อรชรอ่อนองค์ทรงอ้อนแอ้น/ลำแขนแม้นเถาวัลย์พันระหง/เสียงตังตึงสากตำเพลงรำวง/หนุ่มๆหลงจังหวะจะจับจอง…”

ในบท “มิตรมงคล ผ่ากลางสุริยคราส” สะท้อนความเป็น “คนตรัง” (ตัวกวี) คราต้อนรับเพื่อนศิลปินจากเมืองสงขลา ที่นำ “ไม้เท้าหัวเลี่ยมเงิน” กับ “ปั้นเหน่งโนราลายหน้ากาล” (น่าจะเป็น “โนรารุน” หรือ “หนังรุน” ช่างศิลป์หลายหิ้ง คือเป็นทั้งหนังตะลุง-โนรา-ช่างแทงหยวก-ช่างเงิน และ “ช่างโลง”  แห่งบ้านท่าข้ามเมืองสงขลาหรือเปล่า?) ตอนหนึ่งว่า :

“…เพื่อนเมืองตรัง ไม่หนังกะโนรา/เพื่อนสงขลา ไม่โนรากะหนัง/ช่วงลมออกหยอกสาวแอกว่าวดัง/ข้าวกำลังตั้งท้องคล่องคลายใจ/หอบไม้เท้าเลี่ยมเงิน งานศิลปะ/ฝากถวายเจ้าคณะใหญ่หนใต้(ตัวกวี?)/มีดชะน็อกปลอกเงิน ดุนลายไทย/เล่มนี้ให้ผู้สั่ง..ตั้งใจมา../ส่วนปั้นเหน่งโนรา ลายหน้ากาล/คอยล้างผลาญศัตรู หมู่มิจฉา…”

แนะนำส่งท้ายว่าบทสุดยอดที่ต้องอ่านบทหนึ่งในเล่มคือบทที่ชื่อ “บุษบาในวายังกุลิต” แล้วจะเห็นและเข้าใจว่า คำ “กวีชั้นครู” นั้นคืออย่างไร!

ฯลฯ เนื่องจากหนังสือรวมบทกวี “การเวกครวญ” เล่มนี้เป็นภาพสะท้อนการ “ตกผลึก” ทั้งทางความคิด และ “ฝีมือกลอน” ของกวีขั้นครูชาวปักษ์ใต้ ท่านจึงเลือก “อัตลักษณกวี” การ “ขับบท” โดยภาษาถิ่นใต้แท้ๆแทนการเขียน “กลอนภาคกลาง” คนภาคอื่น (แม้แต่คนใต้ในเมืองหรือเด็กใต้รุ่นใหม่) คงจะยากที่เข้าใจแล “ซาบซึ้ง” อยู่บ้าง แต่ก็ไม่น่าจะยากเกินเสพ สำหรับผู้รักงานวรรณศิลป์ ถ้ามีเพื่อนเป็นชาวชนบทภาคใต้สักคนก็ถามเขา ถ้าไม่มีก็เปิดพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้จาก “กูเกิล” ช่วยเป็นล่ามให้ ก็น่าจะพอไหว

นอกนั้นก็ให้ใช้ “จินตนารมณ์เชิงกวี” ซึมซับเอา และ ถ้าหาซื้อเล่มนี้ที่ไหนไม่ได้ ก็ลองโทรสั่งซื้อโดยตรงที่ กานต์  ลิ่มสถาพร  เจ้าของสำนักพิมพ์ที่หมายเลข 08-1554-1050 เอาก็ได้!