ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

นามปากกา “จินตวีร์  วิวัธน์” เกิดขึ้นครั้งแรกในนิตยสารต่วย’ตูนพิเศษของวาทิน ปิ่นเฉลียว นิคเนม “พี่ต่วย” เจ้าของนิตยสารต่วย’ตูน ครั้งที่เธอรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับสารคดีและเรื่องเล่าแนวลึกลับอิงวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ เธอทำหน้าที่ทั้งบรรณาธิการและนักเขียนโดยใช้นามปากกา “จินตวีร์ วิวัธน์”และอีกหลายนามปากกาเช่นไอคิว 45 ไดโนเสาร์(แก่) ฯลฯ แต่ไม่ได้เขียนนวนิยาย แนวของนิตยสารต่วย’ตูนพิเศษไม่มีนวนิยาย

นวนิยายลึกลับ เหนือธรรมชาติเรื่องแรกเรื่อง“อมฤตาลัย”ในนามปากกา “จินตีวร์  วิวัธน์” ปรากฏครั้งแรกในนิตยสารจักรวาล เมื่อปี 2517 ของฉัตรชัย  วิเศษสุวรรณภูมิหรือ“พนมเทียน” ผู้สร้างนวนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” อันลือลั่นและยาวที่สุดในโลก

นวนิยายเรื่อง “อมฤตาลัย”ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างท่วมท้น นอกจากความสนุกสนานแล้ว  ความแปลกใหม่ของนวนิยายก็คือ มีการนำเสนอข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีผสมผสานเข้าไปในเรื่อง บ่งบอกให้รู้ว่าผู้เขียนมีการค้นคว้าหาข้อมูลมาเป็นอย่างดี  ดังที่เจนภพ  จบกระบวนวรรณ นักเขียน คอลัมนิสต์และผู้เชี่ยวชาญเพลงลูกทุ่งกล่าวไว้ในตอนหนึ่งของคำนำนวนิยายเรื่อง “แทบหัตถ์เทวี”ของจินตวีร์ วิวัธน์ว่า...

“เป็นนักเขียนคนเดียวที่ค้นคว้าข้อมูลมาเขียนนวนิยายประเภทนี้ไว้มากกว่าคนอื่น ๆ และได้จับเรื่องโบราณคดีกึ่งไสยศาสตร์มาตลอดเนิ่นนานกว่าใคร”

จินตวีร์ วิวัธน์มีชื่อเสียงโด่งดังมากเมื่อกว่า 30 ปีก่อน นิตยสารหลายฉบับต่างก็ติดต่อให้เธอเขียนนวนิยายแนวลึกลับ เหนือธรรมชาติลงในนิตยสารของตนได้แก่ สกุลไทย บางกอก ทานตะวัน แปลก  ฯลฯ เพราะมีเพียงเธอเพียงคนเดียวเท่านั้นที่เขียนนวนิยายแนวนี้ จนโดดเด่นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งผู้สร้างละครโทรทัศน์ต่างก็ติดต่อขอผลงานของเธอไปสร้างละครหลายเรื่องด้วยกันได้แก่ คฤหาสน์ดำ สาปอสูร ศีรษะมาร สุสานภูเตศวร อาศรมสาง เป็นอาทิ

จินตวีร์ วิวัธน์ เป็นนักเขียนนวนิยายลึกลับ เหนือธรรมชาติที่มีความอุตสาหะในการค้นคว้าหาข้อมูลในสาขาต่าง ๆ มาประกอบการเขียน เพื่อให้เรื่องราวดูหนักแน่นและน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ ตำนานและโบราณคดี อย่างเรื่อง“อมฤตาลัย”ที่นำข้อมูลมาจาก

ประวัติศาสตร์และโบราณคดีขอมในรัชสมัยพระชัยวรมันที่ 2 ถึงรัชสมัยพระเจ้ายโสวรมันที่ 1 เรื่อง “มายาพิศวาส” ได้ข้อมูลมาจากตำนานเทพปกรณัมกรีก เกี่ยวกับนางอสูรกอร์กอนสามพี่น้อง ที่มีเส้นผมเป็นงู  เรื่องนี้สร้างเป็นละครโทรทัศน์หลายครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น“สาปอสูร”

“ตอนยังเด็ก พี่ต่วยชอบอ่านเรื่องประเพณีลึกลับหรือวิทยาศาสตร์มหัศจรรย์เป็นที่สุด”จินตวีร์ วิวัธน์ พูดถึงพี่ชายที่ชื่อวาทิน ปิ่นเฉลียว“ ซื้อมาทีไรก็ต้องแอบซ่อนเอาไว้อย่างดี เพราะน้องเป็นคนกลัวผี หยิบไปอ่านแล้วจะทำให้กลัวมากขึ้น แต่น้องก็พยายามขโมยอ่านมันทุกเรื่อง จนมาถึงระยะหลังก็หาอ่านตามตลาดทุกเล่มที่มี จนไม่รู้ว่าจะหาที่ไหนอีก”

เธอเล่าถึงที่มาของความชอบในการอ่านหนังสือแนวลึกลับตั้งแต่ยังเด็ก เพราะบิดาคือ วิวัธน์   ปิ่นเฉลียว มีอาชีพช่างไฟฟ้า ชอบอ่านหนังสือแนวลึกลับ ถึงกับสั่งซื้อจากต่างประเทศและมักจะนำมาเล่าให้ลูก ๆ ฟังอยู่เสมอ

จินตวีร์  วิวัธน์ เป็นนามปากกาของจินตนา ภักดีชายแดน ชื่อ-สกุลเดิมคือจินตนา  ปิ่นเฉลียว มีพี่น้องสามคนคือ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว ตำรวจนักเขียน ผู้เขียนเรื่องสั้น เงาอุบาทว์ ตุ๊กแกผี ฯลฯ และวาทิน ปิ่นเฉลียว อดีตนักเขียนการ์ตูนแนวฮิวเมอร์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เธอเกิดที่จังหวัดลำปาง เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนโพธิทัต ถนนรองเมือง  กรุงเทพฯ แล้วเข้าเรียนต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจนจบมัธยม 8 สอบได้ที่ 3 ของประเทศ  จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากจบการศึกษา ได้เข้าทำงานที่การพลังงานแห่งชาติ

หากก่อนที่นักเขียนหญิงผู้นี้จะเขียนนวนิยายแนวลึกลับ เหนือธรรมชาติ ตอนยังเด็กเธอหัดเขียนกลอนมาก่อน เมื่อเอาไปให้พี่ชายคือวาทิน  ปิ่นเฉลียวอ่าน พี่ชายหัวเราะใหญ่ เพราะเป็นการเขียนตามประสาเด็ก แต่เธอมีมานะฝึกฝนการเขียนกลอนเรื่อยมา กระทั่งชั้นมัธยม 3 ผลงานก็ได้ตีพิมพ์ในวารสารชัยพฤกษ์และดรุณสาร โดยใช้ชื่อจริงเป็นนามปากกาคือ “จินตนา ปิ่นเฉลียว”ในเวลาต่อมาเธอได้รางวัลที่ 2  จากการประกวดกลอนบทสักวาในวารสารชัยพฤกษ์ เธอเล่าสาเหตุที่ชอบเขียนกลอนว่า...

“พ่อชอบอ่านรามเกียรติ์ เป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน  ชอบเขียนกลอน ชอบอ่านให้ลูกฟังตอนที่ตัวเองชอบหรือตอนที่ไพเราะ ทำให้ลูกทุกคนมีหัวทางนี้”

จินตนา ปิ่นเฉลียว มีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อปี 2504 ขณะเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่เธอชนะเลิศแข่งขันกลอนชาวบ้านทางโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม นอกจากนี้เธอยังบทบาทต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แก่ ประธานชุมนุมวรรณศิลป์  สโมสรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานโต้วาทีและสาราณียกร 

สำหรับผลงานร้อยแก้วนั้น เธอเริ่มต้นด้วยการเขียนเรื่องสั้น ๆ ลงคอลัมน์เด็กใน

หนังสือพิมพ์สารเสรีโดยใช้นามแฝง เรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ“บานเย็น”ตีพิมพ์ในหนังสือไทยใหม่เมื่อปี 2501  ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เรื่องสั้นลึกลับ เหนือธรรมชาติเรื่องแรก “ยังไม่สิ้นเสียงมนต์”ได้รับรางวัลโบว์สีฟ้า รางวัลที่ 3 จากหนังสือสยามสมัยเมื่อปี 2505 ซึ่งเป็นรางงวัลที่มีเสียงมากในสมัยนั้น

จินตนา  ปิ่นเฉลียวหยุดเขียนกลอนเมื่อปี 2518 ทำให้ชื่อของเธอไปจากวงการกลอน

มีเพียงผลงานอันทรงค่าฝากไว้คือ นิราศพระอาราม อยุธยาวสาน(สองเล่มนี้ได้รับรางวัลจอห์น  เอฟ. เคนเนดี้ สาขาวรรณกรรมเมื่อปี 2515และ ปี 2516) เพลงมนุษย์(รางวัลชมเชย ประเภทกวีนิพนธ์จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2523) และศรีจุฬาลักษณ์(รางวัลดีเด่นประเภทกวีนิพนธ์จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2524)         

นวนิยายลึกลับ เหนือธรรมชาติหลายเรื่องของจินตวีร์ วิวัธน์เป็นนิยายวิทยาศาสตร์และนวนิยายเรื่อง “มิติเร้น” ได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน 88 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ผลงานในนามปากกา “จินตวีร์ วิวัธน์” มีมากกว่า 60 เรื่อง  นวนิยายได้แก่ มาแต่หิมพานต์  สาปนรสิงห์ ภูตพระจันทร์  คัมภีร์ภูต วังไวกูณฑ์  จุมพิตเพชฌฆาต ศตวรรษสวาท  อาศรมสาง พรายพระกาฬ อุโมงค์มาร มนุษย์สังเคราะห์ ใต้เงาปิรามิด โลก:2599 เป็นอาทิ รวมเรื่องสั้นมีเพียงเล่มเดียวคือ ขวัญหนี

 สารคดีได้แก่ ผ่าโลกเร้นลับ ผู้มาจากอวกาศ  ไอยคุปต์สีเลือด  เปิดสุสานตุตันคาเมน เกาะผี เป็นอาทิ  นามปากกาที่ใช้เขียนนวนิยายลึกลับ เหนือธรรมชาติมี 3 นามปากกาคือ“จินตวีร์  วิวัธน์”เป็นนามปากกาเอก  “หทัย  ธรณี” ใช้เขียนเรื่อง “มิติหลง”เพียงครั้งเดียวในนิตยสารสกุลไทย

“ก่ำฟ้า  เฟือนจันทร์” ใช้เขียนนวนิยายในนิตยสารบางกอกคือ พิภพสนธยา  บาดาลนครบุปผาเพลิงและภวังค์  ส่วนนามปากกา“สการะวาตี” ใช้เขียนนวนิยายรักโรแมนติกลงพิมพ์ในนิตยสารบางกอกคือ เจ้าชายในฝันและรักระทึก นอกนั้นเป็นนามปากกาที่ใช้เขียนสารคดีเกือบ 10 นามปากกาได้แก่ ไอคิว 45 ไดโนเสาร์(เด็ก) ไดโนเสาร์(แก่) พร  พิษณุเทพ รอย  ราชญี  เป็นอาทิ

จินตวีร์  วิวัธน์ลาออกจากราชการยึดอาชีพนักเขียนเมื่อปี 2525 หลังจากสามีเสียชีวิต เธอต้องทุ่มเทให้กับอาชีพเขียนหนังสืออย่างหนักเพื่อเลี้ยงลูกทั้งสองคน ในเวลาต่อมาเธอก็ถูกมะเร็งร้ายคุกคาม  แต่ยังคงเขียนหนังสือเหมือนเดิม ทำให้อาการทรุดหนักลง จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

แต่ก่อนจะเสียชีวิตเธอเขียนนวนิยายค้างไว้ 3 เรื่องคือ เหยื่อยมบาล ในนิตยสารสกุลไทย จักราพยาบาท ในนิตยสารกานดาและสุสานเสน่หา ในนิตยสารขวัญเรือน

จินตวีร์ วิวัธน์เขียนนวนิยายเรื่อง “เหยื่อยมบาล”ลงนิตยสารสกุลไทยประมาณปลายปี 2530 แต่นวนิยายเรื่องนี้ลงได้ไม่กี่ตอน เธอก็เสียชีวิตด้วยวัย 46 ปี จึงเป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายในสกุลไทยที่เขียนไม่จบ ดังถ้อยคำไว้อาลัยในนิตยสารสกุลไทยเมื่อปี 2531โดย‘พจนพร’หรือสุภัทร   สวัสดิรักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสกุลไทยที่ล่วงลับไปแล้ว

“....บัดนี้ ‘เหยื่อยมบาล’ได้กลายเป็นนวนิยายอมตะที่จบไม่ได้ไปเสียแล้ว‘พจนพร’ขอแจ้งข่าวนี้แก่ผู้อ่าน เพื่อจะได้ร่วมกันส่งกระแสจิตถึงคุณจินตวีร์  วิวัธน์ค่ะ  หากมีญาณวิถีใดที่ดวงวิญญาณของเธอจะได้รับทราบ ก็ขอให้ได้รับความอาลัยรักและระลึกถึงอย่างสุดซึ้งจากมิตรสหายและผู้อ่านของเธอไว้ด้วย...”           

ขอแสดงความอาลัยและระลึกถึงเธอ-จินตวีร์ วิวัธน์ ราชินีเรื่องลึกลับ เหนือธรรมชาติของไทย ณ ที่นี้

 

 

“เกิดเมื่อไหร่  ก็ตายเมื่อนั้น”(พุทธทาสภิกขุ)