ยูร  กมลเสรีรัตน์

โปรยหัวเรื่องแบบนี้ ใครจะคาดคิดว่านักเขียนเรื่องบู๊ที่ดังก้องฟ้าเมืองไทยผู้นี้ คืออดีตกบฏสันติภาพเมื่อปี 2495 ถูกจับขังคุกบางขวางพร้อมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” เจ้าของนวนิยายอมตะเรื่อง “ข้างหลังภาพ”

ใช่ว่านักเขียนเรื่องบู๊จะไม่มีอุดมการณ์  นักเขียนก็คือปุถุชนคนหนึ่ง เมื่อมองเห็นความไม่ถูกต้องในสังคม คนเป็นนักเขียนที่มีจิตสำนึกสูงย่อมเพิกเฉยไม่ได้ จึงต้องแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

“ศักดิ์ สุริยา” ไม่ใช่นักเขียนเรื่อง ประเภทบู๊สะบั้นหั่นแหลก เหมือนเรื่องบู๊ทั่ว ๆ ไป หากเป็นนักเขียนที่มีกลวิธีในการประพันธ์ ทั้งชั้นเชิงในการดำเนินเรื่องและการใช้ภาษา นวนิยายบู๊ของนักเขียนผู้นี้ ถ้าเรียกให้ไพเราะสละสลวย เรียกว่า อาชญนิยาย ถ้าจะเรียกว่าเป็นเรื่องบู๊มีระดับก็น่าจะได้ เพราะเขามีรากแก้วจากโรงเรียนวิชาการประพันธ์และหนังสือพิมพ์มาก่อน

ฉัตร  บุณยศิริชัย คือชื่อจริงของ ศักดิ์  สุริยา เป็นชาวอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ หลังจากจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น ได้บวชเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม จนกระทั่งได้มหาเปรียญ 6 ประโยค  จากนั้นก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ พักอาศัยที่วัดมหาพฤฒารามและเริ่มศึกษาการเขียนจากโรงเรียนวิชาการประพันธ์และหนังสือพิมพ์ของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร  

เขาเริ่มเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2492 หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสงบ ด้วยความเลื่อมใสและนับถือเปลื้อง  วรรณศรีและอิศรา  อมันตกุลจึงขอฝากตัวเข้าทำงานหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษด้วยการเขียนบทความ  ในเวลาต่อมาได้ร่วมงานกับอุทธรณ์  พลกุล (นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยคนแรก ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เสียงอ่างทอง จนกระทั่งพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)ที่หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย

จากนั้นจึงก้าวไปรับตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงไทยของสุรีย์  ทองวาณิช โดยมีอุทธรณ์  พลกุลเป็นที่ปรึกษา แล้วผันตัวเองไปนักข่าว เพราะต้องการลงภาคสนาม โดยเป็นหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์พระนครรายวัน แล้วโยกตัวเองไปเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมืองหลวง  กระทั่งไปนั่งเก้าอี้บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปวงชนรายสัปดาห์และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เสียงไทย

จากการทำงานหนังสือพิมพ์ ทำให้ศักดิ์  สุริยา รู้จักคนในวงการหนังสือพิมพ์มากมาย หนึ่ง

ในนั้นคือนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์รุ่นครูที่เขามีความนับถือและเลื่อมใสผลงาน นั่นก็คือกุหลาบ  สายประดิษฐ์หรือ“ศรีบูรพา” ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวสันติภาพ เขาจึงเข้าร่วมขบวนการนี้ด้วย โดยขบวนการเคลื่อนไหวสันติภาพใช้ปากกาเป็นปากเสียงต่อสู้กับอำนาจของรัฐและเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชน 

ในที่สุดเขาก็ถูกจับเข้าคุกบางขวางในเหตุการณ์กบฏสันติภาพเมื่อปี 2495 พร้อมกับคนอื่น ๆ  ซึ่งมี “ศรีบูรพา”รวมอยู่ด้วย  ในระหว่างอยู่ในคุกบางขวาง เขาได้เขียนสารคดีการเมือง 2 เล่มคือ บันทึกจากบางขวางและสู่อิสรภาพ ใช้นามปากกา “จารึก  ชมพูพล”

นามปากกา “จารึก  ชมพูพล” นอกจากสารคดีการเมือง 2 เล่มดังกล่าวแล้ว เขายังเขียนเรื่องสั้นสะท้อนสังคมและการเมืองในหนังสือสยามสมัย  ปิยะมิตรฯลฯ ซึ่งยุคนั้นจะเรียกนักเขียนที่เขียนเรื่องแนวนี้ว่า “นักเขียนก้าวหน้า”

นามปากกานี้เขียนเรื่องสั้นสะท้อนสังคมชนบทได้ถึงแก่นมาก จำได้ว่าครั้งที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการโลกหนังสือ ได้นำเรื่องสั้น “ปลาซิวตัวสุดท้ายที่ทุ่งกุลาร้องไห้”ของจารึก ชมพูพล ลงในโลกหนังสือ เป็นเรื่องของเด็กสองคนที่แย่งปลาซิวกันที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จนกระทั่งชกต่อยกัน อ่านแล้วสะเทือนใจ

เมื่อศักดิ์ สุริยาพ้นโทษ เขาเข้าทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สารเสรีและควบคุมคอลัมน์ “อุทยานเยาวชน” เป็นคอลัมน์ที่ส่งเสริมนักเขียนรุ่นเยาว์  แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ก่อรัฐประหารซ้ำซ้อนอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2501 ได้สั่งปิดหนังสือพิมพ์และจับกุมนักเขียน นักหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก เขาจึงตัดสินใจอำลาวงการหนังสือพิมพ์นับตั้งแต่นั้นมา ตั้งเข็มปากกาใหม่ ด้วยการเขียนเรื่องสั้นในนามปากกา “จารึก ชมพูพล” ที่สำนักพิมพ์เพลินจิต

นวนิยายเรื่อง “คำฟ้า” ในนามปากกา อ้อย  อัจฉริยกร ประเดิมเป็นเรื่องแรกในหนังสือเพลินจิตต์รายวันประมาณปี 2504 และมีนวนิยายเรื่องอื่น ๆ ตามมาได้แก่ กาเหว่า  ทุ่งทรราช ขุนดง ไอ้แมงดา ภูดินแดง ฯลฯ  รวมทั้งมีนวนิยายในหนังสืออื่น ๆได้แก่ ผดุงศิลป์, ดาราไทย, นทีทอง,คุณหญิง,สกุลไทย เป็นอาทิ

ในเวลาต่อมา เขาได้ประเดิมนวนิยายเรื่องแรกที่นิตยสารบางกอก โดยการชักชวนของศรี  ชัยพฤกษ์ เจ้าของนามปากกา อรชร นวนิยายเรื่องนั้นก็คือเรื่อง “ชุมแพ”ในนามปากกา ศักดิ์  สุริยา ปรากฏว่าลงได้เพียงไม่กี่ตอนเท่านั้น ดังระเบิด ณรงค์  จันทร์เรือง ผู้เขียน “เทพธิดาโรงแรม”อันโด่งดังในยุคนั้น มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับศักดิ์  สุริยาเล่าว่า...

“นวนิยายเรื่องนี้ดังมากขนาดที่ว่า มีคนแอบอ้างเป็นศักดิ์  สุริยา ไปรีดไถ พ่อค้า ข้าราชการ แม้กระทั่งตำรวจที่อำเภอชุมแพ  รู้เรื่องคุมบ่อน ซ่องโสเภณี เรื่องค้าอาวุธ เรื่องตัดไม้ทุกอย่าง จะเอาไปเขียนนวนิยายแบบเรื่อง ชุมแพ  คนเขาสงสัย จึงโทรศัพท์มาถามที่นิตยสารบางกอก พอรู้ความ

จริง ความแตก คนที่แอบอ้างไหวตัวทันก็ล่องหนไปเสียก่อน”  

ส่วนนวนิยายเรื่องต่อ ๆ มาของศักดิ์ สุริยาได้แก่ ไผ่กำเพลิง  ส่วยสะท้านเมือง  แควเสือ เขา

ใหญ่ เป็นอาทิ  อีก 10 กว่าปีต่อมา นักเขียนผู้นี้ก็สร้างนามปากกาใหม่คือ ดาวไสว  ไพจิตร แจ้งเกิดและดังระเบิดอีกครั้ง ด้วยนวนิยายเรื่อง “ขัง 8”  ในนิตยสารดวงดาว  ดาวไสว  ไพจิตร สวมวิญญาณของนักโทษหญิงเรียงร้อยออกมาเป็นตัวหนังสือได้อย่างแนบเนียนและสมจริง ทำเอาคนอ่านเชื่อสนิทว่าเป็นอดีตนักโทษหญิงเขียนเอง เรื่องนี้สร้างเป็นหนังก็ดังเกรียวกราวทั่วบ้านทั่วเมือง ส่งชื่อให้ปิยะมาศ  โมณยะกุล นางเอกแสนสวย นัยน์ตาคมซึ้งโด่งดังทันที

เรื่องสั้นในนามปากกา “จารึก ชมพูพล” อีกเรื่องก็คือ “ฝากไว้ในสยาม”อ่านเจอ ในหนังสือปากไก่ ฉบับที่ชื่อ เสี้ยวศตวรรษ เนื่องในวันนักเขียน 5 พฤษภาคม 2539 ยุคประยอม  ซองทอง เป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย คนที่ 12  ในเล่มเป็นผลงานของนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 12 คนพร้อมประวัติตั้งแต่คนแรกจนถึงคนที่ 12 ฉัตร บุณยศิริชัยหรือศักดิ์  สุริยาเป็นนายกสมาคมนักเขียนฯคนที่ 7 ระหว่างปี 2525-2527 เล่าไว้ในเรื่องครั้งที่เป็นว่า...

“....บทบาทของพวกเราที่แสดงออกในทางหวงแหนเสรีภาพ รักความสงบ สันติ รวมทั้งได้ต่อสู้เพื่อสันติภาพ เรียกร้องให้มีชาวโลกหันหน้าเข้าหากัน ปรึกษาหารือกันฉันพี่น้องร่วมโลก ไม่

เป็นที่สบอารมณ์ของนักการเมืองและนักกินเมืองในยุคนั้นอย่างยิ่ง....ท้ายสุดได้มีการใช้อำนาจทมิฬกวาดล้างผู้ที่เป็นปากเสียงประชาชนเจ้าคุกเข้าตะรางในกรณีกบฏสันติภาพหรือที่เรียกว่าคดี 10 พ.ย.2495”

ด้วยเหตุนี้ศักดิ์  สุริยาจึงหันหลังให้กับอาชีพนักหนังสือพิมพ์ดังที่กล่าวข้างต้น  มุ่งสู่เส้นทางของนักเขียนอาชีพเต็มตัว ผลิตผลงานออกมามากมายในหลายนามปากกา จนกระทั่งมีชื่อเสียงกระเดื่องดัง  มีผลงานนวนิยายกว่า 100  เรื่อง เรื่องสั้นนับ 100 เรื่อง หได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ 50 เรื่อง และและเป็นละครทางวิทยุอีกกว่า 100 เรื่อง

 ทว่า เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2533 เขาก็ล้มป่วยอย่างกะทันหันและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลในเช้าวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2533

 ทิ้งผลงานนวนิยายที่เขียนไม่จบไว้ในนิตยสาร 4 เรื่องคือ ซับสีทอง  นกสีเหลือง  คืนรังและไอ้เลือดสิงห์  นับว่าเป็นผลงานที่เขาฝากไว้เป็นสมบัติแก่บรรณพิภพจนลมหายใจหยาดสุดท้าย ฉลอง  ธาราพรรค์ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องจริงแถลงไว้ในหน้าบ.ก.บอกกล่าวว่า...

“พี่ฉัตรรับปากว่าจะเขียนนวนิยายเกี่ยวกับคนรักป่า โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ดงรักเดือด เพราะเป็นบ้านแถวพนมดงรัก ภาคอีสานซึ่งถูกทำลายไป พี่ฉัตรจะใช้นามปากกา ศักดิ์  สุริยา เพราะในเรื่องจริงมีนวนิยายบู๊เรื่องซับสีทอง ของพี่ฉัตรอยู่เรื่องหนึ่งแล้ว ใช้นามปากกาว่า อ้อย  อ้จฉริยกร  แต่ดงรักเดือด ที่จะลงในฉบับที่ 627 ที่ได้เกริ่นไว้ว่าจะลงฉบับต่อไป เป็นอันว่าไม่ได้เสียแล้ว

ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของนักเขียนบู๊โลดโผนนามกระเดื่อง-ศักดิ์ สุริยา ซึ่งกล่าวไว้ในนามฉัตร บุณยศิริชัย ครั้งที่เขาถูกจับกุมในกรณีกบฏสันติภาพว่า... 

“เมืองไทยของเราอาภัพเสมอ ไม่ว่าใครจะเถลิงอำนาจ นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์มักจะกลายเป็นแพะบูชายัญเสมอ ทุกยุคทุกสมัยทีเดียว”

“การหาเพื่อนสักคนไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากคือการประคับประคองมิตรภาพนั้นให้แน่นแฟ้นตลอดไป”(แจน เยเกอร์ )