ยูร กมลเสรีรัตน์

[email protected]

ถ้าเอ่ยชื่อนวนิยายเรื่อง “ทัดดาว บุษยา” นักอ่านน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก แม้แต่ชาวบ้านก็รู้จัก เพราะเป็นละครโทรทัศน์ดังช่อง 3 ด้วย หากผลงานเรื่องแรกของชอุ่ม ปัญจพรรค์คือเรื่อง “ดอกฟ้าร่วง”

นิยายของชอุ่ม ปัญจพรรค์โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ลงหนังสือ เธอจะเขียนเป็นบทละครวิทยุก่อน เพื่อนำไปเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ(กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน)ที่เธอทำงาน ซึ่งละครวิทยุแต่ละเรื่องของเธอดังมาก จนคนติดกันงอมแงม “ป้าชอุ่ม”ขยายความให้ฟังว่า....

“เรื่องของป้าส่วนใหญ่จะเขียนเป็นบทละครวิทยุก่อน  พอเป็นละครวิทยุจบแล้วจึงนำมาเขียนเป็นนวนิยายภายหลัง  เรื่อง “ดอกฟ้าร่วง” เป็นเรื่องแรกที่เป็นบทละครวิทยุ  ดังมาก  เรื่องดัง ๆ  หลายเรื่องจะเป็นละครวิทยุก่อน อย่าง ทัดดาว  บุษยา” อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนชุดเหมือนแร่ อันเกรียวกราวและศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นน้องชายของชอุ่ม ปัญจพรรค์เคยพูดถึงพี่สาวให้ฟังผมด้วยความชื่นชมว่า

“สมัยนั้นพี่สาวผมเป็นนักประพันธ์ใหญ่ ดังมาก  ได้ลงหนังสือหลายเล่ม  เขามาซื้อเรื่องเรื่องของพี่อุ่มไปทำเป็นละครวิทยุเยอะเหลือเกิน แกทำไม่ไหว ก็ให้ผมเขียนบทละครวิทยุช่วย  ผมสตาร์ทเขียนบทละครวิทยุเรื่องเรื่อง“ดอกฟ้าร่วง” นี่แหละ  ยาวประมาณคร่าว ๆ ว่า 6 หน้ากระดาษพิมพ์  เขาจ่ายให้ 40 บาทต่อตอน”

นั่นเมื่อสมัย  60-70  ปีก่อน สมัยนั้นชอุ่ม ปัญจพรรค์เป็นนักเขียนหญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ผมรู้จักชื่อนักเขียนผู้นี้ตอนชั้นมัธยมจากพี่สาวคนโตว่านวนิยายเรื่อง “สร้อยฟ้าขายตัว”กับ “เมียสั่งทางพ.ก.ง.”ที่เธอเขียนดังมาก  ยุคนั้นผมยังเด็กมาก ไม่ได้อ่านนวนิยายของเธอหรอก  รุ่นพี่สาวของผมยังทันยุคของชอุ่ม   ปัญจพรรค์ การที่ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ รักการเขียน ก็เหมือนกับนักเขียนคนอื่นคือ ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก เธอย้อนรำลึกวัยเยาว์ให้ฟังว่า...

“เป็นคนชอบอ่านหนังสืออ่านเล่นแต่เล็ก แปดขวบก็ไปเช่านิยายมาอ่านแล้ว เล่มละสตางค์หรือสองสตางค์นี่แหละ หนังสือไทยเขษมก็อ่านจนติด อ่านมากจนมันอั้นไว้เต็มที่ จนระเบิด ก็เลยอยากเขียนบ้าง  อยากเขียนอย่างที่ตัวเองอยากอ่าน”

เธอเล่าต่อว่า เธอต้องการเขียนเรื่องอ่านเล่นให้ตอนจบมีสุขอย่างที่ตัวเองอยากอ่าน ไม่ชอบจบแบบทุกข์โศก ถ้าเรื่องไหนตอนจบเศร้า เธอจะเขียนตอนจบใหม่...

“ เรื่อง “คู่กรรม” ของทมยันตี ตอนจบให้โกโบริตาย ไม่ชอบ ก็เอามาเขียนใหม่ไว้อ่านเอง ไม่ให้โกโบริตาย ทุกเรื่องฝันเอาหมด ไม่มีเค้าจริงหรอก  อย่างนั่งรถรางกลับบ้าน เห็นผู้ชายตัวสูง ๆ ยืนสูบไปน์อยู่แค่นั้นแหละ  กลับบ้านก็เอามาแต่งได้เรื่องหนึ่งแล้ว ให้เขาเป็นพระเอก” นวนิยายทุกเรื่องของนักเขียนพาฝันผู้นี้  เธอบอกว่าเป็นจินตนาการล้วน ๆ  ไม่มีเค้ามาจากชีวิตจริงแม้แต่น้อยเหมือนนักเขียนคนอื่น

ขอย้อนไปในอดีตครั้งวัยเยาว์ของของชอุ่ม ปัญจพรรค์สักเล็กน้อย เธอเกิดที่ตำบลโคกขาม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี หลังจากจบการศึกษาขั้นต้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเบญจมราชาลัยจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6  แล้วไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษารุ่นแรก เลขประจำตัว 1หลังจากเรียนจบ จึงเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ขณะที่เรียนอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนเรื่องสั้นไว้อ่านเอง ด้วยความสุข เธอบอกเล่าถึงความรู้สึกนี้ให้ฟังว่า...

“เขียนเรื่องสั้นให้เพื่อน ๆ อ่านเยอะมาก  เพื่อน ๆ  บอกว่าเขียนดี  แต่ไม่กล้าส่งไปที่ไหน  ตัวเองเป็นเด็กบ้านนอกมาเรียนที่กรุงเทพฯ  ตอนนั้นขี้ขลาดจะตาย”

จนกระทั่งเรียนจบ ไปทำงานเป็นเสมียนที่กรมโฆษณาการ  ช่วงนี้เองที่ได้รู้จักจำนง   รังสิกุล ซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้าแผนกเผยแพร่ จนกระทั่ง... “วันหนึ่ง  คุณจำนง เดินมาที่โต๊ะเห็นเรื่องสั้นในแฟ้มที่เขียนไว้  เลยเอาไปอ่านแล้วส่งเรื่อง “ฉันกับกามเทพ” ไปที่สตรีสารให้อาจารย์นิลวรรณ   ปิ่นทอง(บรรณาธิการสตรีสาร) ก็ได้ลงเป็นเรื่องแรก ได้ค่าเรื่องมายี่สิบบาท ดีใจมาก เพราะแค่เรื่องได้ลงก็ดีใจแล้ว”

นักเขียนสมัยก่อน ขอแค่ผลงานของตัวเองได้ลง ไม่ได้ค่าเรื่อง ก็ดีใจมากแล้ว ซ้ำยังซื้อหนังสือที่มีเรื่องของตัวเองแจกคนอื่นด้วยความภูมิใจ  ปัจจุบันโลกวรรณกรรมหมุนกลับ ในยุคโซเชียล เน็ตเวิร์ค ผลงานได้ลงในเว็บไซต์  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นหรือนวนิยาย ไม่ได้ลงในนิตยสาร เพราะไม่มีนิตยสารให้ลงอีกแล้วและไม่ได้ค่าเรื่อง ก็ต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้น ส่วนเรื่องดีใจและภูมิใจแค่ไหน คงเป็นความรู้สึกส่วนบุคคล เพราะมันแตกต่างจากยุคก่อนและยุคหนังสือเฟื่องฟู

หลังจากนั้นเรื่องสั้นเรื่องต่อ ๆ มาของชอุ่ม ปัญจพรรค์ก็ทยอยลงในสตรีสารเรื่อยมา จนกระทั่งบรรณาธิการสตรีสารเปิดโอกาสให้เธอเขียนนวนิยาย  นวนิยายเรื่องแรกเรื่อง“สร้อยฟ้าขายตัว”ประเดิมในสตรีสารเมื่ออายุ 20 กว่าปี  ได้รับความนิยมจากผู้อ่านสูงมาก ชื่อเสียงของชอุ่ม  ปัญจพรรค์ดังกระหึ่มขึ้นมาทันที

นักเขียนในโลกสีชมพูผู้นี้เคยได้ค่าเรื่องนวนิยายสูงสุดถึงตอนละ 80 บาท  นั่นเป็น 60-70  ปีก่อน ถือว่ารายได้ดีมาก ซึ่งสมัยนั้นนวนิยายพาฝันได้รับความนิยมสุดขีด “ป้าชอุ่ม”บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาด้วยโวหารที่ไพเราะชวนฟังว่า...

“เขียนเรื่องหนักไม่เป็น  ไม่เคยเขียน เขียนเป็นแต่เรื่องโรมานซ์  ตอนนี้อายุ 82 แล้ว ก็ยังเขียนเรื่องโรมานซ์ได้ เพราะหัวใจยังเยาว์”

ด้วยเหตุนี้นวนิยายของชอุ่ม ปัญจพรรค์จึงได้รับความนิยมมาก เรียกได้ว่าหนังสือเกือบทุกฉบับที่มีอยู่ในตอนนั้นต้องมีนวนิยายของชอุ่ม   ปัญจพรรค์ ความนิยมในชื่อเสียงของนักเขียนหญิงผู้นี้อีกอย่างก็คือ...

“เขาให้ป้าเป็นนางแบบขึ้นปกสตรีสารและศรีสัปดาห์ ป้าเองก็ยังแปลกใจตัวเอง เพราะป้ารู้ตัวเองว่าไม่ใช่คนสวย”

ชอุ่ม ปัญจพรรค์พูดถึงการเขียนนวนิยายสมัยก่อนให้ฟังว่า จะเขียนตามใจผู้เขียนเหมือนสมัยนี้ไม่ได้ นวนิยายทุกเรื่องต้องอยู่ในกรอบของวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เพราะสมัยก่อนเคร่งเรื่องวัฒนธรรมมาก ซึ่งเรื่องที่เล่าให้ฟังช่างเหลือเชื่อ แต่มันเป็นความจริงของยุคสมัย...

“ตอนเรียนที่จุฬาฯ ผู้หญิงกับผู้ชายเดินสวนกัน ต้องวางเฉย  ถ้าหยุดคุยกัน  อาจารย์เห็นจะถูกเรียกไปพบ  เขียนนวนิยายทุกเรื่องก็ต้องไม่ให้ผิดวัฒนธรรมด้วย  จับมือถือแขนกันก็ไม่มี  ถ้ายังไม่แต่งงาน  ยกเว้นตัวผู้ร้าย ขนาดนอนเตียงเดียวกัน ยังต้องเอาหมอนข้างคั่น  ทั้งคืนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย”

ชอุ่ม  ปัญจพรรค์เขียนนวนิยายไว้ประมาณ 40  เรื่องได้แก่ ทัดดาว บุษยา สร้อยฟ้าขายตัว เมียสั่งทางพ.ก.ง. โศรดาพลัดถิ่น  เมียนอกกฎหมาย  ทรายหลงศร  สู่ปฐพี  มารพิสมัย  มัสลินยอดรัก  เกสรบัวหลวง  เมียบำเรอ  เมียมืด  เมียขายฝาก  ตะวันรอน  บ้านนอกเข้ากรุง  บ้านบุษยา  ดอกแก้วไพรำ  หลานสาวนายพล  สาวใช้คนสวย  ป่านสวาท  หัวใจหิน  กลีบกุหลาบ  เป็นต้น

 นวนิยายแทบทุกเรื่องล้วนได้รับความนิยม ดังมากน้อยต่างกันไป ส่วนเรื่อง “หัวใจหิน”กับ “กลีบกุหลาบ”  ไม่ได้พิมพ์รวมเล่ม “ป้าชอุ่ม”บอกว่าเรื่องแรกยาวมาก ยาวถึง 90  ตอน แต่เป็นเรื่องที่ชอบมาก ส่วนรวมเรื่องสั้นมี 2 เล่มคือ ช่อฟ้ากับมณีหยาดฟ้า

นวนิยายที่ ชอุ่ม   ปัญจพรรค์ชอบมากที่สุดคือเรื่อง “ทรายหลงศร” เหตุที่ชอบมากเป็นพิเศษ เธอบอกด้วยความภาคภูมิใจว่า... “นวนิยายของป้าเป็นแบบพ่อแง่แม่งอนทุกเรื่อง แต่เรื่องนี้มันหวาน กุ๊กกิ๊กกว่าทุกเรื่อง  ถูกใจคนเขียน” สำหรับครูทางการประพันธ์ที่ชอุ่ม ปัญจพรรค์ให้ความเคารพและถือว่าเป็นปูชนียบุคคล รวมทั้งครูผู้ให้โอกาสก็คือ...               

“อรวรรณกับน้อยชลานุเคราะห์ ถือว่าเป็นครูทางการประพันธ์  ท่านเป็นนักเขียน ที่เป็นแบบอย่างที่ดี  ทำให้ได้เป็นนักเขียน ส่วนผู้ที่ให้โอกาสคือ อาจารย์คุณนิลวรรณ ปิ่นทองกับคุณจำนง  รังสิกุล ยังคิดถึงและเคารพเสมอ”

นอกจากความสามารถในการเขียนหนังสือแล้ว ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ยังมีความสามารถในการแต่งเพลงไว้มากมายเกือบ 300 เพลง จึงได้รับยกย่องว่าเป็น “คีตกวี” ได้แก่ ข้องจิต รักเอาบุญ สำคัญที่ใจ หนึ่งในดวงใจ รักเพียงใจ  ฝากลมจูบ หน้าที่เด็ก ฯลฯ สำหรับเพลง “ปิ่นหทัย”เป็นเพลงประจำโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

เกียรติคุณที่ชอุ่ม ปัญจพรรค์ได้รับเป็นบำเหน็จชีวิตของการเป็นนักเขียนก็คือ ได้รับรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งรางวัลนี้ขึ้นเป็นปีที่ 2 เพื่อเป็นการยกย่องและเชิดชู เมื่อปี 2546

ราชินีเรื่องโรมานซ์ในอดีต-ชอุ่ม ปัญจพรรค์ จากไปเมื่อปี 2556 ด้วยโรคชราด้วยวัย 91 ปี 9 เดือน ฝากผลงานนวนิยายเรื่องสุดท้าย“คุณนายภูธร”ลงพิมพ์ในนิตยสารกุลสตรีเมื่อกลางปี 2545  ซึ่งเป็นเรื่องสมจริงเรื่องแรก เป็นชีวิตของแม่ที่ได้พบกับพ่อจนได้แต่งงานกัน ไม่ใช่เรื่องพาฝันเหมือนที่ผ่านมา

 

สิ่งที่ทำให้อิ่มอกอิ่มใจที่สุดในชีวิตเรา ก็คือ "การให้ทาน"คนเราทุกวันนี้ดิ้นรนไขว่คว้าหาสิ่งที่ไม่มีเเละสุดท้ายทุกคนก็จะได้ในสิ่งเดียวกัน คือไม่ได้อะไร"(พุทธทาสภิกขุ)