สถาพร ศรีสัจจัง

เชื่อว่ามีคนไม่น้อยสงสัย! คือ สงสัยต่อระบบเศรษฐศาสตร์การเมืองการปกครองรูปแบบหนึ่ง ที่ขานชื่อเรียกกันต่อมาเรื่อยๆแบบชินปากว่า “ระบอบประชาธิปไตย”              

ว่า แท้ที่จริงแล้วมีเนื้อหาและโครงสร้างในรายละเอียดที่แท้จริงอย่างไร?              

กระทั่งอาจจะสงสัยว่าระบบดังกล่าวนั้น เป็นระบบที่ “น่าจะดีที่สุดเท่าที่คนสามารถจะเลือกได้” ตามคำโฆษณาชวนเชื่อ  ที่เกิดจาก “อำนาจ” ของกลุ่ม “ชนชั้นผู้ทรงสิทธิ์” ในประเทศ “จักรพรรดินิยม” ทั้งหลาย “ผลิตซ้ำ” ขึ้นเพื่อส่ง “การโปรแกรมทางความคิด” ผ่าน “สื่อ” ทั้งหลายทั้งปวง ตั้งแต่สื่อสายตรงอย่างระบบการศึกษา จนถึงระบบการสื่อสารมวลชนรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ยุคอนาล็อกจนถึงยุค “ดิจิทัล” อย่างปัจจุบันนั้นเป็น “สิ่งจริง” หรือเปล่า?              

หรือสิ่งนั้นเป็นเพียง “ของปลอม” ที่ใช้ล่อหลอกชาวโลกส่วนใหญ่ให้ตกอยู่ในม่านมายาของ “ความฝันอันแสนงาม” หรือเปล่า?              

เพื่อว่าคนส่วนน้อย (ชนชั้นผู้ครองอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองในแต่ละสังคมย่อยของโลก) เหล่านั้น (ของทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา) จะได้สามารถปล้นชิงมูลค่าส่วนเกินจากผลิตผลที่เกิดจากแรงงานในรูปแบบต่างๆของคนส่วนใหญ่ไปได้อย่างสะดวกสบายแบบไม่ต้องรู้สึกละอายต่อ “มโนธรรม” ในความเป็น “มนุษย์” แต่อย่างใด!              

คำสำคัญที่เป็น “แก่น” ในการโฆษณาชวนเชื่อของสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ที่ว่าน่าจะได้แก่คำที่ก่อให้เกิดพลังศักดิ์สิทธิ์อันกระตุ้นเร้าให้ผู้คนส่วนใหญ่อยากได้รับและอยากมีอยากเป็น               

คือคำ “เสรีนิยม”, “ทรัพย์สินเอกชน”, “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” !     

หรือสี่คำนี้จะเป็น “คาถา” และ “สูตรสำเร็จในการโฆษณาชวนเชื่อที่ได้ผลตลอดกาล”?              

กระทั่งอาจทำให้คนบางคน บางพวกบางกลุ่ม ถึงขนาดยอมเสียสละและยอมตายเพื่อมัน!              

หรือแท้ที่จริงแล้ว คำเหล่านี้เป็นเพียง “วาทกรรม” ของการโฆษณาชวนเชื่อที่หลอกลวง ที่เลื่อนลอยเสื่อมถอย  ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของสัจจะความจริงแห่งความสัมพัทธ์(Relativity) แต่อย่างใด?                       

คำโฆษณาถึงภาพฝันซึ่งเลื่อนลอย ที่อ้าง “ตรรกะ” ว่าเป็นการพัฒนาส่งต่อสืบเนื่องมาอย่างยาวนานจาก “รากทางความคิดอันเป็นเลิศ” ของบรรดานักคิดที่เป็น “ปราชญ์” ของเผ่าพันธุ์แห่งชนชาติที่เรียกว่า “อัสดงคตประเทศ” ในอดีต หรือ “ชาติตะวันตก” (Western nation)ในปัจจุบัน                        

คือความคิดของนัก ปรัชญายุค “รัฐกรีก”  ที่เป็นเพียงชุมชนนครรัฐเล็กๆแห่งหนึ่ง ของโลกในยามนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบกับชุมชนนครรัฐอื่นๆในโลกรุ่นเดียวกัน                              

ไม่ว่าจะเป็นในโซนเอเชียแถบแม่น้ำคงคา ยมุนา และ ลุ่มน้ำฮวงโห หรือ แยงซีเกียง หรือตะวันออกกลางแถบลุ่มน้ำเมโสโปเตเมีย…

หรือนครรัฐสำคัญๆตามแถบลุ่มน้ำสำคัญๆในทวีปที่เรียกกันว่า “แอฟริกา” ปัจจุบัน !

“ความไม่เสถียร” ของระบบนี้ ไม่ต้องไปดูอะไรอื่นไกลเลย  เอาแค่เพียงเรื่องการจัดระบบระเบียบเพื่อการแบ่ง “ประเภท”ในสภาพที่ดำรงอยู่จริงในปัจจุบันของมัน ก็ต้องถือได้ว่า “มั่ว” จนไม่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “ศาสตร์” ที่น่าเชื่อถือ แบบ “Scientific” ของศาสตร์สมัยใหม่ตาม “วิธีวิทยา” ของชาวอัสดงคตประเทศแต่อย่างใด!

เพราะเต็มไปความไม่ลงตัวทางวิชาการ เต็มไปด้วยข้อถกเถียงโต้แย้ง ทั้งจากบรรดาสิ่งที่เรียกว่า “นักรัฐศาสตร์” เอง หรือจากพวก “นัก” อะไรต่างๆที่ข้ามพรมแดนมาเล่นเรื่องนี้

ถึงแม้มักจะลงเอยกันว่า สามารถจัดแบ่ง “ระบอบประชาธิปไตย” ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ “ประชาธิปไตยทางตรง” (Direct democracy) กับ “ประชาธิปไตยทางอ้อม” (Indirect democracy)

แต่พอถึงคราวต้องแยกย่อยให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็ทำได้ชัดเพียงการยกตัวอย่างเพื่ออรรถาธิบายในแบบแรก คือ “ประชาธิปไตยทางตรง” เท่านั้นว่าหมายถึงระบบที่ทุกคนในสังคมสามารถออกความเห็นได้ในทุกเรื่อง ใช้สิทธิได้ในทุกเรื่อง การตัดสินหรือตกลงเรื่องทางสังคม ต้องให้ทุกคนมาประชุมร่วมกันเพื่อการออกเสียงและออกความเห็น อย่างพร้อมเพรียงทุกครั้ง! 

แล้วก็ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม(ที่ดูสวยงามน่าเชื่อถือ)จากสังคมชุมชนนครรัฐยุคโบราณของชาวตะวันตกเพียงแห่งเดียวเพียงสังคมเดียว 

นั่นคือจากหลักฐานรูปแบบระบบการปกครองของสังคม “นครรัฐเอเธนส์” บนเกาะกรีซแห่งนั้น!

แต่พอถึงหัวข้อที่ 2 คือ “ประชาธิปไตยทางอ้อม” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของระบอบการปกครองของยุค “รัฐชาติ”(Nation STate) ในปัจจุบัน ก็แบ่งแยกย่อยกันอีนุงตุงนังไปเป็นยี่สิบสิบสามสิบแบบเข้าไปโน่นก็มี…

ที่จริงระบอบประชาธิปไตยทางอ้อม ก็คือระบบที่(อ้างว่า)ให้สิทธิ เสรีภาพ แก่คนส่วนใหญ่ หรือที่บางตำราเรียกว่า “มวลชน” หรือ “มหาชน” ก็แล้วแต่ เลือก “ตัวแทน” ตามสัดส่วนที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด เข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศ ทำหน้าที่ออกความเห็น และ ลงมติออกเสียงในเรื่องที่เกี่ยวกับการออกระเบียบเป็น “กฎหมาย” มาใช้บังคับผู้คนในเรื่องต่างๆของสังคม 

และบ้างก็ว่าเพื่อให้ “ตัวแทน” ที่ได้รับเลือกไปเหล่านี้ ไปก่อตั้งองค์กรที่มักเรียกว่า “รัฐสภา” เพื่อถ่วงดุลอำนาจต่างๆในโครงสร้างทางสังคม ฯลฯ

แล้วทุกอย่างก็จบลงที่ “ความพิกลพิการ” ของกระบวนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “ตัวแทน” ของประชาชนนั่นเอง เพราะในกระบวนการดังกล่าวเต็มไปด้วย “ตัวแปร” ที่ก่อให้เกิด “ข้อผิดพลาด” (Error) จาก “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ของแต่ละสังคมอยู่เสมอมา

จนอาจกล่าวสรุปลงไปได้เลยว่า ระบบ “ตัวแทน” ที่มีคุณภาพเต็ม มีคุณภาพจริง ไม่เคยเกิดเกิดขึ้นเลย ไมว่าจะในสังคมไหนของโลก ในรอบเป็นร้อยๆปี นับแต่เริ่มมีการใช้ระบอบ “ประชาธิปไตยทางอ้อม” หรือระบบการเลือกตั้งสรรหา “ตัวแทนมวลชน” เข้าไปทำหน้าที่ใน “รัฐสภา” ตามรูปแบบต่างๆที่แต่ละสังคมออกแบบเลือกมาใช้!