สถาพร ศรีสัจจัง

กล่าวโดยสรุปให้รู้สึกแบบ “เห็นภาพ” และเข้าใจได้ง่ายที่สุดคำ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่คนโดยทั่วไปรู้จัก ก็คือ “ภาคส่วนทางการเมือง” ของระบบเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยม” (Liberalism) ซึ่งก็คือระบบทางเศรษฐกิจที่เชื่อว่า “ตลาดแข่งขันสมบูรณ์” จะเกิดขึ้นได้ ถ้าความต้องการซื้อสินค้า(อุปสงค์หรือ Demand) มีจุด “ดุลยภาพ” (Equilibrium) กับหรือ “ความเสรี” ในการแข่งขันที่แท้จริงของ “ปริมาณความต้องการเสนอขายสินค้า (อุปทาน หรือ Supply)”

ฟังดูแล้วน่าปวดหูยิ่งนัก ดูเหมือนจะมีเพียงคนที่เรียนทางเศรษฐศาสตร์เท่านั้นละกระมัง ที่พอจะจินตนาการเห็นภาพของสิ่งที่ “นักทฤษฎีผู้เป็นต้นคิดในระบบแบบเสรีนิยม” ได้สรุปไว้ให้

พวกเขาเชื่อเป็นประการเบื้องต้นว่า ถ้าทำให้สิ่งที่เรียกว่าตลาด “เสรี” เกิดขึ้นได้จริง “จุดดุลยภาพ” ของความต้องการเสนอขายสินค้า (เครื่องอุปโภค บริโภค และ การบริการทั้งหลาย) กับความต้องการซื้อสินค้า ก็จะเกิดขึ้นได้จริงด้วย

และจุดดุลยภาพนี้เองที่จะก่อเกิด “ความเป็นธรรม” ในเรื่อง “ความสัมพันธ์ทางการผลิต” (Relation of Production)ขึ้นในมวลหมู่มนุษยชาติ 

อดัม  สมิธ(Adam Smith)หัวโป่คนสำคัญของผู้สถาปนาระบบบคิดที่เรียกว่า ระบบ “เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม” เชื่อว่า ถ้าปล่อยให้เกิด “การแข่งขันอย่างเสรี” ในระบบการผลิตในสังคม จะก่อเกิด “ความมั่งคั่ง” ในชีวิตของสมาชิกสังคมตามมาด้วย และถ้าระบบนี้เกิดปัญหาใดๆขึ้น ก็จะมี “มือที่มองไม่เห็น” ( The hidden hands) เข้ามาคลี่คลายปัญหาให้เองตามกลไกธรรมชาติของระบบ  เพื่อนำระบบเข้าไปสู่จุดที่ระบบนี้เรียกกันว่า “จุดดุลยภาพ” ในที่สุด!

คำ “เสรี” ถือเป็นคำสำคัญมาก เพราะเป็นหัวใจหรือ “Key word” ที่สำคัญสุดในการโฆษณาชวนเชื่อของระบบทาง “การเมือง” (หรือการเข้าสู่การใช้ “อำนาจรัฐ” อย่างชอบธรรม) ที่เรียกกันว่าระบบ “Democracy” หรือ “ประชาธิปไตย” ที่จะตามมา เพื่อให้ระบบดังกล่าวเป็น “เครื่องมือทางสังคม” (Social Tool) ค้ำประกันให้ “ความเสรีทางระบบเศรษฐกิจ” สามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้จริง !

แต่ดูเหมือนตั้งแต่มีการใช้ระบบ “เศรษฐกิจ การเมือง” แบบดังกล่าวอย่างกว้างขวางยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน “ภาพฝัน” ที่เรียกว่า “ความมั่งคั่งประชาชาติ” จะไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงเลยในมวลหมู่มหาชนคนข้างมากของโลก ทั้งดูเหมือนจะยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นได้แต่อย่างใด!

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในทุกด้านของมนุษยชาติ  สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ “หายนะ” ของทรัพยากรและ สิ่งแวดล้อมของโลก อย่างที่คนซึ่งยังพอมี “สามัญสำนึกแบบมนุษย์” ย่อมสามารถรับรู้เชิงประจักษ์ทั้งต่อตาต่อใจอยู่ทั้งสิ้นในบัดนี้!

กล่าวเฉพาะสังคมไทย เรื่องใหญ่ที่สุดของระบอบเศรษฐกิจ การเมืองแบบ “เสรีนิยม” ดังกล่าว ก็คือ การก่อให้เกิด “ความเบียดเบียน” ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และ ต่อโลกต่อจักรวาล อันขัดแย้งต่อต้านอย่างรุนแรงกับ “รากทางความคิด” ที่เป็น “แก่น” รองรับสังคมไทยในห้วงเวลาที่ผ่านมา ตามคติอันเกิดจากการปลูกฝังสั่งสอนโดยคติแห่งพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนานหลายร้อยปี

จนกระทั่งผู้นำทางสังคมที่สำคัญยิ่งในสังคมไทยยุคใหม่ (Modernjzation) อย่างพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะรัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต้องนำเสนอแนวคิด “ทางกลับคือการเดินทางต่อ” นั่นคือการนำเสนอแนวคิดเรื่อง “ระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง” ขึ้นมา ให้คนไทย และ ชนชั้นนำของไทยได้ตระหนักและพิจารณาเพื่อเป็น “ทางเลือก” เดินออกจากระบบเศรษฐกิจกระแสหลักที่เรียกกันว่า “ทุนนิยมแบบบริโภคนิยมชนิดเต็มรูป” ที่มีเป้ามุ่งหลักเพียงประการเดียว คือ “เงินเป็นใหญ่กำไรสูงสุด” จนก่อเกิดปัญหาต่างที่นำหายนะมาสู่สังคมอย่างอเนกอนันต์อย่างที่เห็นๆกันอยู่เชิงประจักษ์

นั่นคือภาพสะท้อนของความไม่มี “จุดดุลยภาพ” ระหว่างแนวคิดเรื่อง “มูลค่า” (การคิดว่าทุกอย่างคือ “สินค้า”) กับ “คุณค่า” (แบบมนุษย์ที่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นไม่สามารถพัฒนาไปสู่จุด “มีเหมือน” ได้! อันได้แก่คุณค่าที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “คุณธรรม” และ “จริยธรรม” ทั้งหลายทั้งปวง)

กล่าวเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “ระบบประชาธิปไตยทางอ้อม” (Indirect Democracy) ที่ชนชั้นนำในอดีตบางกลุ่มของสังคมไทยได้สมาทานลอกเลียนรับเอาแนวคิดของชาติตะวันตกมาใช้แบบ “ถูลู่ถูกัง” มาจนถึงวันนี้อย่างที่เห็นๆกันอยู่ ผู้ที่มีวิจารณญาณอย่างสามัญก็น่าจะประมวลได้ว่ากำลังดำรวอยู่อย่าง “ฉ้อฉล” (Corrupt) เช่นใด

สิ่งที่เรียกว่า “พรรคการเมือง” หรือ “นักการเมือง” ที่กำลังใช้ “กโลบาย” วิ่งหาเสียงกันวุ่นวายเหน็ดเหนื่อสายตัวแทบขาดกันอยู่ตอนนี้ เพื่อมุ่งหวังให้ได้ “เสียงข้างมาก” (ที่จะทำให้สามารถทำชั่วหรือฉ้อฉลเช่นใดก็ได้? ตามหลักการ “ก็พวกกูได้รับเลือกมาจากประชาชนเสียงข้างมากนี่หว่า”!) ย่อมแสดงภาพให้ผู้ที่มีสติ “รู้คิดรู้พิจารณา” เชิงประจักษ์ได้ว่า อะไรบ้างที่น่าจะเกิดขึ้นตามมาในสังคมไทยอันใกล้!

เรื่องหลักการ “เสียงข้างมาก”นี้สมาชิกสภากาแฟ (ชาวบ้านสามัญชน) เขามักมีเรื่องพูดคุยวิตกวิจารณ์กันอยู่เนืองๆ จนสามารถสรุปเป็น “นิทานการเมืองเรื่องประชาธิปไตย” ได้ดังนี้ :

“ในที่ประชุมของสัตว์ปีกบางกลุมที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “สภา” (เพราะไม่ใช่แหล่งรวมของ “สัตบุรุษ”) มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นเพียง 30 ตัว 16 ตัว เป็นแมลงวันหัวเขียวที่ชอบเสพอาจมคือ ขี้ กับผึ้งที่ชอบดื่มกันน้ำหวานจากเกสรดอกไม้อีก 14 ตัว มีการถกเถียงกันเพื่อหา “มติ” ว่าการเสพอาจมกับเสพน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ อะไรเป็นที่ดีมีคุณค่ากว่ากัน ถกเถียงกันยาวนานจนถึงขั้น “ลงมติ” (โหวต) ผลปรากฏว่าฝ่ายแมลงวัน 16 ตัว ที่ยืนหยัดหลักการ “พวกกูเสียงมากกว่า” (ไม่ใช่ “พรรคกู”นะ!) ก็เป็นฝ่ายชนะ นั่นคือการได้รับมติยืนยันตามหลักการ “เสียงข้างมาก” ในระบอบ “ประชาธิปไตย” ว่า “ขี้เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่ากว่าน้ำหวานจากเกสรดอกไม้” เอวัง!!!!