ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร กมลเสรีรัตน์

ประมาณ 60 ปีก่อน ชีวิตนักเขียนของจ.ไตรปิ่นรุ่งมาก เรียกว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงเลยล่ะ หนังสือปกอ่อนเล่มละ 1 บาทของนักเขียนผู้นี้ สร้างรายได้ให้เขาเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำตาแม่ค้า” เขาได้ค่าเรื่องวันละ 500 บาท ขณะที่ก๋วยเตี่ยวในสมัยนั้นชามละ 1 บาท ทำไมจึงได้ค่าเรื่องวันละ 500 บาท แล้วจะขยายความภายหลัง

ช่วงปี 2491ครั้งที่จ. ไตรปิ่น ชื่อ-สกุลจริงว่า จิตต์ ไตรปิ่น เป็นข้าราชการสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง สมัยที่หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เขาได้เงินเดือน ๆ ละ 84 บาท ถึงแม้จ.  ไตรปิ่นไม่ลาออก  ทำงานราชการไปเรื่อย ๆ ยังไงเสียข้าราชการชั้นเอกก็ต้องเป็นของเขา  แต่เพราะความหลงใหลในเสน่ห์น้ำหมึกนี่แหละ  ทำให้เขาไม่อาจทนอยู่ในราชการได้

“เป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางราชสีห์”

นั่นคือเหตุผลที่จ.  ไตรปิ่นตัดสินใจลาออกจากราชการ นักเขียนที่ทำงานราชการบางคนก็คงรู้สึกเช่นนี้ ชอบอิสระ อยู่ในกรอบมาก มันอึดอัด ก่อนที่เขาจะลาออก เขาได้เขียนเรื่องสั้นตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และหนังสือต่าง ๆ ในสมัยนั้นได้ปีกว่า  จนกระทั่งอายุได้ 25 ปี  เขาจึงเขียนเรื่องยาวเรื่องแรก  จ. ไตรปิ่นเป็นนักเขียนใหม่ถอดด้าม ไม่รู้จักใครในวงการหนังสือแม้แต่คนเดียว อีกอย่างสมัยนั้นตลาดหนังสือไม่ได้กว้าง โอกาสเกิดของนักเขียนใหม่แสนยากเข็ญเหลือเกินยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา

จ.  ไตรปิ่นเอาต้นฉบับไปหายาขอบ ผู้เขียน“ผู้ชนะสิบทิศ”  ที่สมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่สะพานดำ แม้นศรี ในเวลานั้นยาขอบมีอายุ 40 ปี แต่เป็นนักประพันธ์นามอุโฆษ ทั้งในบทบาทของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็ให้ความนับถือและเกรงใจ  จ.  ไตรปิ่นโชคดีมากที่ได้รู้จักกับยาขอบ  เพราะนอกจากยาขอบเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงรุ่งโรจน์แล้ว ยังเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเอื้ออารีและสุภาพอ่อนโยนกับทุกคนที่หาได้ยากยิ่ง  โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมอาชีพ ยาขอบถามเขาว่าอยากจะยึดเป็นอาชีพจริงจังเหรอ เขาตอบว่าเขียนเป็นงานอดิเรกเท่านั้น

“ดี  ถ้าคิดได้ยังงั้น”เจ้าของนวนิยายอมตะ “ผู้ชนะสิบทิศ” เอ่ยขึ้นเหมือนจะสะกิดเตือนใจเขาอยู่ในที         

หลังจากยาขอบอ่านต้นฉบับ มีความยาวราว ๆ  100 กว่าหน้าแล้ว  ก็เอาไปให้สำนักพิมพ์แถวเวิ้งนาครเขษม โดยตั้งราคาค่าเรื่องไว้ 300 บาท  แล้วให้จ.  ไตรปิ่นไปติดต่อสำนักพิมพ์ด้วยตัวเอง แล้วย้ำว่าถ้าสำนักพิมพ์ต่อรองราคา อย่าลดให้ เมื่อจ.  ไตรปิ่นไปติดต่อสำนักพิมพ์ เจ้าของสำนักพิมพ์อ้างว่านามปากกาใหม่ ขายยาก ขอลดค่าเรื่องลงเหลือ 200 บาท เขากลัวจะไม่ได้พิมพ์ จึงยอมลดให้ เมื่อเรื่องยาวเรื่องนี้วางตลาด  ถ้าเปรียบเทียบกับนักเขียนใหม่คนอื่น ๆ ในเวลานั้นแล้ว ก็ไม่ได้ถึงขั้นขายยากหรอก ถือว่าขายได้ เพียงแต่ไม่ถึงขั้นขายดีเท่านั้นเอง

ในห้วงเวลานั้นไฟหนุ่มของจ.  ไตรปิ่น บวกกับไฟในการเขียนกำลังลุกโรจน์ เขาเขียนเรื่องยาวเรื่องที่สองเสร็จภายในเวลาดือนเศษ  เขาจึงเอาต้นฉบับไปเสนอสำนักพิมพ์เดิม แต่กลับถูกปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย  ด้วยวัยหนุ่มที่กำลังเลือดร้อน เขาจึงทะเลาะกับสำนักพิมพ์  แล้วเอาไปเร่ขายให้สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ในเวิ้งนาครเขษม ก็ถูกปฏิเสธหมด  จ. ไตรปิ่นจึงไปหายาขอบอีกครั้งที่บ้านญวน สามเสน ยาขอบจึงเอาต้นฉบับไปเสนอขายให้ ก็ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธหมด ซ้ำถูกต่อว่ากลับมาอีก เมื่อยาขอบรู้ความจริง ทำให้ยาขอบโกรธมาก

“คุณทะเลาะกับสำนักพิมพ์ทั้งเวิ้ง ใครจะพิมพ์ให้คุณ”ยาขอบต่อว่าเขา

จ.ไตรปิ่นก้มหน้ายอมรับผิด จึงต้องเอาต้นฉบับไปเสนอสำนักพิมพ์ต่าง ๆ อยู่ร่วมปี ก็ไม่มีใครพิมพ์ให้ จนกระทั่งวันหนึ่ง จ. ไตรปิ่นได้รู้จักเด็กหนุ่มเจ้าร้านให้เช่าหนังสือที่บางกระบือ อายุประมาณ 20 ปี เพิ่งออกหนังสือรายเดือนชื่อ “พิเศษ” ชื่อ วิชิต   โรจนประภา ภายหลังเป็นเจ้าของนิตยสารบางกอก-ทานตะวัน  เด็กหนุ่มอีกสองคนที่ช่วยกันทำก็คือ ศรี  ชัยพฤกษ์เจ้าของนามปากกา“อรชร”ผู้เขียน ป้อมปืนตาพระยา ส่วยสะท้านแผ่นดิน ฯลฯ และมานิตย์  ศรีสาคร หรือ“สีน้ำ” ผู้คุมคอลัมน์ “คุยกับสีน้ำ”ในนิตยสารบางกอก

ในเวลานั้นวิชิต  โรจนประภาเพิ่งเอาเรื่องยาวของนักเขียนมาพิมพ์เป็นเล่ม ยังไม่ได้ทำนิตยสารบางกอก จ. ไตรปิ่นจึงเอาต้นฉบับให้พิจารณา ผ่านไป 2 เดือนเศษ ก็พิมพ์นิยายของเขาออกมาวางตลาด ได้ค่าเรื่อง 300 บาท ดวงของนักเขียนหนุ่มกำลังขึ้น นิยายเรื่องที่ 3 ที่สำนักพิมพ์หนึ่งในเวิ้งนาครเขษมที่เขาเอาไปเสนอ ก็ได้รับการจัดพิมพ์เช่นกัน

หลังจากเร่ขายต้นฉบับนิยายชุดหรือซิรี่ย์อยู่เป็นเวลานานถึง 4 ปี  จ.  ไตรปิ่นก็ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกด้วยเรื่อง “น้ำตาแม่ค้า” ในปี 2496  ต้นฉบับยาว 10-12 หน้าต่อ 1 เล่ม หนังสือปกอ่อนเล่มละ 1 บาท มีความหนา 32 หน้าหรือ 2 ยก มีทั้งหมด 116 เล่ม  วางตลาด 3 วันต่อ 1 เล่ม ดูเผิน ๆ เล่มละ 1 บาทเหมือนถูก  แต่ถ้าย้อนไปเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน ถือว่าแพงมาก กว่าจะจบ 116 ต้องควักเงินถึง 116 บาท สรุปแล้ว เขาได้ค่าเรื่องวันละ 500 บาท  ขณะที่สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท เทียบได้กับราคาทอง บาทละ 200 นิยายชุดของจ. ไตรปิ่นแต่ละปกเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยเช่น น้ำตาคนยาก น้ำใจสาวจีน ฯลฯ           

เรื่อง “น้ำตาแม่ค้า”ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จากยอดพิมพ์ 2  พันเล่ม พุ่งพรวดเป็น 1 หมื่นเล่ม

นอกจากนี้เขายังมีรายได้จากสำนักพิมพ์แถวเวิ้งนาครเขษมที่เคยปฏิเสธเขา นำต้นฉบับที่เคยไปเสนอตอนที่ยังไม่มีชื่อเสียงมาพิมพ์ สำนักพิมพ์บางแห่งให้ค่าเรื่องถึงตอนละ 1,000 บาท ต่อต้นฉบับ 5 หน้าพิมพ์ดีด ค่าเรื่องขนาดนี้ เปรียบเทียบค่าเงินกับกับค่าครองชีพในสมัยนั้นแล้ว  มากโขเหลือเกิน บางคนคงสงสัยว่านิยายของจ. ไตรปิ่น เป็นเรื่องแนวไหน ถึงได้ขายดิบขายดีถึงขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านร้านตลาด แม่ค้า หรืออาชีพอะไร แม้กระที่งนิสิต นักศึกษา ต่างก็ติดตามอ่านเรื่องยาวของเขา เรียกว่าติดกันงอมแงม  มาดูที่เขาเฉลยว่า...

“เรื่องที่ผมแต่งก็ไม่ได้วิเศษวิโส แท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องตลาดพื้น ๆ  บางท่านในยุคปัจจุบันเรียก น้ำเน่าอะไรเทือกนั้นแหละครับ แต่ผมก็ภูมิใจที่เรื่องของผมมีผู้อ่านระดับนิสิต นักศึกษา ทั้งจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ติดตามอ่านกันไม่น้อยทีเดียว”

นิยายของจ. ไตรปิ่น เป็นเรื่องแนวตลาด ประเภทโศกรันทดของชีวิตวัยรุ่น  ดังเรื่องต่อมาคือ “ลูกคนยาก”เป็นเรื่องโศกรันทดเช่นเคย ชื่อนิยายชุดแต่ละเล่มเช่น ลูกบางหลวง  มารหัวใจ ทาสรัก สุดบูชา แม่พระสุนทรีจ๋า ฯลฯ แต่ยอดขายน้อยกว่าเรื่องแรก 20  เปอร์เซ็นต์  กระนั้นก็ขายดีกว่าเรื่องอื่น ๆ ในตลาดหนังสือ ยกเว้นแต่เรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”เท่านั้น  ค่าเรื่องของเขาถูกลดลงเหลือวันละ 400 บาท  แล้วลดลงอีกเหลือวันละ 300 บาท เมื่อเล่มที่ 50-60  มียอดลดลง นิยายเรื่องนี้มีความยาว 105 เล่ม น้อยกว่าเรื่องแรกถึง 11 เล่ม นิยายชุดเรื่องนี้เคยสร้างเป็นละครช่อง 7 เมื่อปี 2517

จ.ไตรปิ่นจะไม่เขียนหนังสือที่บ้าน ชอบเปลี่ยนบรรยากาศ ตอนเช้าของทุกวันเวลา 8 โมง  ยกเว้นวันอาทิตย์  เจ้าของสำนักพิมพ์จะขับรถไปรับเขาพาไปส่งที่บาร์ในเขาดินหรือสวนลุมพินี  ก่อนลงมือเขียน เขาจะอุ่นเครื่องด้วยเบียร์ครอสเตอร์ 2  ขวด สมัยนั้นขวดละ 25 บาท เป็นเบียร์นอกจากเยอรมัน  คนมีรายได้น้อยหมดสิทธิ์ดื่ม เที่ยงหยุดเขียน กินข้าวพร้อมกับดื่มเบียร์อีก 2 ขวด หลังจากนั้นก็งีบหลับด้านหลังบาร์ที่ผู้จัดการเตรียมเก้าอี้ผ้าใบไว้ให้ พอบ่าย 2 โมงก็ปลุกให้เขาตื่นเขียนหนังสือต่อจนถึง 5 โมงเย็น เจ้าของสำนักพิมพ์ก็ขับรถมารับและเอาต้นฉบับส่งโรงพิมพ์  

เมื่อรู้สึกจำเจกับสถานที่  เขาจะเปลี่ยนบรรยากาศเป็นสถานที่ใหม่ที่ขึ้นชื่อ เช่นบางปู บางแสน หัวหิน และเชียงใหม่ แม้ภรรยาจะเตือนว่าอย่าทะนงตัวเอง ให้เก็บออมไว้บ้าง ถ้าชื่อตกเมื่อไหร่ จะไม่มีสำนักพิมพ์ใยดี  แต่เขาไม่ยอมฟังเสียง เพราะช่วงนั้นชื่อเสียงของจ.  ไตรปิ่นกำลังหอมหวล

“ตอนนั้นผมมีลูกเพียงคนเดียว อายุเพิ่ง 3 ขวบ รายได้วันละ 500 บาท มันสบายขนาดไหน  ถ้าผมรู้จักเก็บออมสักหน่อย ก็คงไม่ลำบาก แต่ผมไม่เคยคิด กิน ใช้เที่ยวเตร่ กอบโกยความสำราญ

ให้มากที่สุด ทั้งสุรา นารี  พาชี  กีฬาบัตร บางวันรายได้ 500 บาทในวันนั้นหมดเกลี้ยง”

นิยายเรื่องต่อมาคือหัวเลี้ยวสำคัญของจ.  ไตรปิ่นตอบ เจ้าของสำนักพิมพ์ถามว่าเรื่องต่อไป

จะเขียนเรื่องอะไร เขาตอบว่าเรื่องวัยรุ่นโศกรันทดเหมือนเดิม ปรากฏว่านิยายเรื่องนี้ยอดตกฮวบพร้อมกับชื่อเสียงของเขาที่ดังสุดขีดเหมือนพลุพุ่งขึ้นสูงสุด แล้วตกคืนสู่พื้นดินอย่างสิ้นท่า เพราะเรื่องยาวเรื่องนี้ต้องจบลงในเล่มที่ 10 เท่านั้น นี่คือชีวิตที่เป็นอุทาหรณ์ให้นักเขียนรุ่นหลังของ จ.  ไตรปิ่น ผู้มีชีวิตคล้าย เอฟ. สก็อต  ฟิทซ์เจอรัล ซึ่งเคยรุ่งโรจน์สุดขีด เมื่อชื่อดับก็หมดความหมาย

เช่นเดียวกับ จ.  ไตรปิ่นต้องไปเร่ขายต้นฉบับตามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ตอนนั้นเขามีลูกสองคนแล้ว  บางแห่งสมน้ำหน้าเขา บางแห่งรับพิมพ์ในราคาเรื่องละ 100 บาท  บางแห่ง 50 บาท แต่ให้เปลี่ยนนามปากกาใหม่

 ชีวิตในบั้นปลายของจ.  ไตรปิ่นเต็มไปด้วยความยากแค้น  เดือนหนึ่ง ๆ เขาเขียนเรื่องไปส่งหนังสือประเภทตลาดชาวบ้านกับหนังสือแนวปาฏิหาริย์และหนังสือพระ พอได้ยาไส้  บางฉบับรับซื้อด้วยความสงสาร แต่ไม่ตีพิมพ์ให้ บางเดือนเงินไม่พอใช้ เขาต้องอาศัยลูกเช่าบ้านให้อยู่  เรื่องยุคท้ายของเขาได้แก่ อ้ายเสือแทน วิญญาณพิศวาส ตึกอาถรรพณ์ ฯลฯ สำหรับผลงานเล่มสุดท้ายคือ “โลกของคนขายฝัน” ตีพิมพ์ในนิตยสารดิฉัน พิมพ์รวมเล่มโดยสำนักพิมพ์วิธวัส พิมพ์ครั้งที่สองในชื่อ “บผู้บรรลุ”โดยสำนักพิมพ์บางหลวง

 เมื่ออายุ 80 ปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในราวอีก 1-2  ปีต่อมา เขาได้รับบำเหน็จชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมอบรางวัลนราธิปให้ในปี 2544 ชีวิตของจ.  ไตรปิ่นถือว่าเป็นอุทาหรณ์สำหรับนักเขียนรุ่นหลังที่ควรยึดถือด้วยจิตคารวะ ดังที่เขาเคยฝากไว้

“ประสบการณ์ในชีวิตจริงของผมก็คือ ประสบการณ์แห่งความผิดพลาดในชีวิตบัดซบของนักเขียนคนหนึ่ง ซึ่งประสบความพ่ายแพ้ชีวิตมาแล้วอย่างยับเยิน มันจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติ ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง”

“ถ้าไม่ประมาท ก็จะไม่เกิดความเสื่อม”(สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)