แม้แนวโน้มจะมีข่าวดี เกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติ โดยรายงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) มีบรรษัทข้ามชาติใหญ่ระดับโลกเลือกใช้ไทยเป็นฐานลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะใน 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้า ประกอบด้วย ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ BCG และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวมกัน 2,687 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เดือนมกราคม ปี 2566 ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 52 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 22 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 30 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,129 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 298 คน

โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตในเดือนมกราคม 2566 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่  EEC จำนวน 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด โดยมีมูลค่าการลงทุน 683 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งคาดว่าตลอดปี 2566 จะมีนักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1. ญี่ปุ่น 14 ราย (ร้อยละ 27) เงินลงทุน 3,588 ล้านบาท

2. สิงคโปร์ 6 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 410 ล้านบาท

3. สหรัฐอเมริกา 6 ราย (ร้อยละ 12) เงินลงทุน 9 ล้านบาท

4. สหราชอาณาจักร 5 ราย (ร้อยละ 10) เงินลงทุน 98 ล้านบาท และ

5. จีน 3 ราย (ร้อยละ 6) เงินลงทุน 548 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนามไทยอาจจะยังเป็นรองอยู่ แต่ที่เหนืออื่นใด มากไปกว่าจำนวนและเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติก็คือ ไทยจะได้อะไรจากการเข้ามาของทุนเหล่านั้น ที่มากกว่าการพัฒนาฉาบฉวยและการจ้างงานชั่วครู่ชั่วยาม แต่จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และต่อยอดไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงยั่งยืน  โดยที่มากไปกว่าให้ทุนต่างชาติเข้ามากอบโกยทรัพยากรแล้วก็จากไป